เหตุการณ์การเมืองสำคัญ 3 เหตุประชันกันตลอดทั้งวันนี้ ( 22 ส.ค) ตั้งแต่เช้าตรู่ ทักษิณ ชินวัตร ในวัย 74 ปี บินตรงสิงคโปร์ กลับไทย รับหมายศาลจนไปจบเบื้องต้นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ต่อด้วยการโหวตนายกฯคนที่ 30 จบลงด้วย 482 คะแนน ไม่เห็นชอบ 165 คะแนน งดออกเสียง 81 คน ไม่ลงคะแนน 19 คน ส่งผล “เศรษฐา ทวีสิน”วัน 61 ปี ผ่านขวากหนาม มุ่งหน้าสู่ทำเนียบได้ฉลุย
และจบบริบูรณ์อีกเหตุการณ์ หลังศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ในคดีทุจริตก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง ที่ ปปช.เป็นโจทก์ สั่งไม่ฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯวัย 74 ปี กับพวก 6
หากพลิกหน้าประวัติศาสตร์การเมือง จะเห็นได้ว่า 3 เหตุการณ์ แม้ไม่เกี่ยวเนื่อง แต่ก็เกี่ยวพันกัน โดยเฉพาะคู่ปรับ “ทักษิณ-สุเทพ” ตัวแทนสงครามของสีเสื้อแดง-เหลืองในวันโรยชราวัย ที่วันนี้ต่างฝ่ายต่างวิน-วิน ด้วยกันทั้งคู่
“สุเทพ เทือกสุบรรณ” กับเส้นทางการเมือง
ย้อนอดีต สุเทพฯ ถือว่าเป็น นักการเมืองคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ มีเส้นทางทางการเมืองไม่ธรรมดา เขาเคยดำรงตำแหน่ง รองนายกฯ ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานีและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โดยลาออกจากพรรคในเดือน พ.ย.2556 เพื่อไปเป็นเลขาธิการ กปปส. ซึ่งดำเนินการประท้วงรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายสุเทพ เริ่มทำงานเกี่ยวกับมวลชนและการเมือง ตั้งแต่ปี 2518 ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นกำนันสุเทพ ที่ท่าศาลา ใน ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นกำนันที่เรียนจบถึง ป.โท ในวัยเพียง 26 ปี
สุเทพ เข้าสู่วงการเมืองระดับประเทศ ในปี 2522 ก็ได้รับการเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยแรก ที่ จ.สุราษฎร์ธานี จากนั้นก็เป็น ส.ส. มาโดยตลอดกว่า 10 ปี
นอกจากนี้ สุเทพได้ก้าวสู่ตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ครั้งแรก ในตำแหน่ง “รัฐมนตรีช่วยเกษตรและสหกรณ์”
ในสมัยที่ดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ สมัยที่ 2 เกิดกรณีปัญหา “ส.ป.ก.4-01” ที่พบมีครอบครัวที่มั่งมีใน จ.ภูเก็ต ได้รับแจกเอกสารสิทธิด้วย จนต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก
ผู้จัดการรัฐบาลอภิสิทธิ์
ในการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 2551 ซึ่งสุเทพ ในฐานะเลขาธิการพรรคค่ายสีฟ้า เป็นผู้ที่มีบทบาทในการประสานงานจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนั้น จนได้รับขนานนามว่า “ผู้จัดการรัฐบาล” และได้รับตำแหน่งรองนายกฯ ด้านความมั่นคง ก่อนจะมีคดี “สลายการชุมนุม” กับนายอภิสิทธิ์ ตามมา
ต่อมา ส.ค.2560 ศาลฎีกาได้มีคำสั่งยกฟ้องสุเทพ ในคดีดังกล่าวคดีจึงสิ้นสุดลงว่า สุเทพไม่ต้องรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุม
แกนนำกลุ่ม กปปส.
ปี 2556 จากเลขาธิการพรรคฯ กลับมาสู่บทบาท “กำนันสุเทพ” โดยเป็นแกนนำกลุ่ม กปปส. ขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยหยิบประเด็น “นิรโทษกรรมสุดซอย” และนโยบาย จำนำข้าว” มาโจมตี พร้อมประกาศจะไม่เล่นการเมืองอีก
ในปี 2557 นายสุเทพ ตัดสินใจลาบวชฟ้าแลบ ที่วัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี และวางจะไปจำวัดอยู่ที่วัดสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี การบวชครั้งนี้กินเวลาหลายเดือน และออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “จะไม่เล่นการเมือง” อีก
กระทั่งเลือกตั้ง 2561 นายสุเทพ ก็มีบทบาท เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชาชาติไทย แต่ไม่ประกาศลง ส.ส.
จากนั้น บทบาทของ “สุเทพ” ก็ห่างหายไปจากวงการเมือง กระทั่ง ปี 2564 ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษา คดีที่ นายสุเทพ กับพวกรวม 39 คน ฐานร่วมกันเป็นกบฏ และข้อหาอื่นๆ กรณีชุมนุมขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ให้ออกจากตำแหน่ง
อ่านข่าว : ศาลตัดสินจำคุก “สุเทพ” 3 รัฐมนตรี ชุมนุมขับไล่ยิ่งลักษณ์
คดีนี้ ศาลได้อ่านคำพิพากษาว่า มีความผิดฐานยุยงปลุกปั่น โดยให้จำคุก 25 จำเลย 1-9 ปี ซึ่งนายสุเทพ ศาลสั่งให้จำคุก 5 ปี และคดียังไม่สิ้นสุด
มาถึงวันนี้ 22 ส.ค.2566 ที่ต้องติดตาม ลุ้นคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ “คดีฮั้วประมูลสร้างโรงพักฯ 396 แห่ง”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ศาลฎีกา” เลี่ยงเผชิญหน้า 2 คดี “ทักษิณ-สุเทพ”เข้าออกคนละทาง