หน้าแรก Voice TV แพทย์ใหญ่ รพ.ตร. ยันรักษา 'ทักษิณ' ตามสิทธิ อยู่ห้องพัดลม ไม่ต้องใส่กุญแจมือเข้าเกณฑ์ยกเว้น

แพทย์ใหญ่ รพ.ตร. ยันรักษา 'ทักษิณ' ตามสิทธิ อยู่ห้องพัดลม ไม่ต้องใส่กุญแจมือเข้าเกณฑ์ยกเว้น

91
0
แพทย์ใหญ่-รพตร.-ยันรักษา-'ทักษิณ'-ตามสิทธิ-อยู่ห้องพัดลม-ไม่ต้องใส่กุญแจมือเข้าเกณฑ์ยกเว้น

แพทย์ใหญ่ รพ.ตร. ยันรักษา ‘ทักษิณ’ ตามสิทธิไม่มีอภิสิทธิ์กว่าใคร อยู่ห้องพัดลม แต่ไม่ต้องใส่กุญแจมือเข้าเกณฑ์ยกเว้นตามกฎหมาย ล่าสุดสื่อสารได้แต่ความดันสูง สั่งงดเยี่ยมทุกกรณี ด้าน ‘รองปลัด ยธ.’ เผย หาก ‘ทักษิณ’ พ้นวิกฤติโรครุมเร้า แพทย์ รพ.ตำรวจ พร้อมส่งตัวกลับเรือนจำฯ

วันที่ 23 ส.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจกล่าวถึงกรณีที่กรมราชทัณฑ์ได้เคลื่อนย้ายตัว ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ารักษาตัวด่วนกลางดึกที่โรงพยาบาลตำรวจว่า กรณีดังกล่าวตำรวจไม่ได้รับการประสานล่วงหน้า เมื่อวานนี้ตัวของอดีตนายกรัฐมนตรีต้องรับการรักษาตัวที่ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่ด้วยเกิดอาการแน่นหน้าอกกระทันหัน ค่าออกซิเจนต่ำ และค่าความดันโลหิตสูงมาก ทีมแพทย์ราชทัณฑ์พยายามรักษาระดับความดันที่สูงแล้วแต่ทำได้ไม่มากจึงลงความเห็นให้ส่งตัวด่วนมาที่โรงพยาบาลตำรวจในช่วงกลางดึกที่ผ่านมา 

พล.ต.ท.โสภณรัชต์ กล่าวต่อว่า ความจริงทีมแพทย์ราชทัณฑ์มีความสามารถแต่ด้วยอาการป่วยของทักษิณต้องการแพทย์เฉพาะทางดูแลประกอบกับเครื่องมือที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์มีจำกัด จึงต้องตัดสินใจย้ายตัว โดยก่อนหน้านี้กรมราชทัณฑ์ กับ โรงพยาบาลตำรวจมีการทำข้อบันทึกร่วมกันมากกว่า 30 ปีในการส่งตัวผู้ป่วยที่มีอาการหนักมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ

ทักษิณ ถูกนำตัวมาที่โรงพยาบาลตำรวจด้วยรถราชทัณฑ์ เนื่องจากมีความดันโลหิตสูงถึง 170 มิลลิเมตรปรอท และนำตัวไปชั้นที่ 14 ทันทีซึ่งเดิมชั้นดังกล่าวใช้เป็นพื้นที่กักตัวผู้ป่วยโควิด 19 ปัจจุบันเครื่องปรับอากาศใช้งานไม่ได้ ต้องใช้พัดลม 2 ตัวระบายอากาศแทน และ ห้องพักของทักษิณไม่ได้อยู่ฝั่งที่มองเห็นทัศนียภาพภายนอก เนื่องจากฝั่งดังกล่าวติดกระจก อากาศร้อน

แพทย์ได้ทำการรักษาด้วยการให้น้ำเกลือ พร้อมระดมทีมแพทย์ตั้งเป็นคณะรักษารวม 6 ท่าน มีหมอเชี่ยวชาญด้านหัวใจ ปอด และ โควิด19 อยู่ในทีมดังกล่าว ซึ่งนายทักษิณไม่ได้ใส่เครื่องพันธนาการ เนื่องจากตามกฎหมายผู้ป่วยต้องโทษที่มีอายุน้อยกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 70 ปีขึ้นไปไม่ต้องใส่เครื่องพันธนาการ เพราะจะทำให้การรักษาเกิดความยุ่งยาก

พล.ต.ท.โสภณรัชต์ กล่าวต่อว่า ทีมแพทย์กำลังอยู่ในขั้นตอนนำประวัติการรักษาของทักษิณที่ต่างประเทศมาศึกษา แต่รายละเอียดส่วนนี้แพทย์ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่บอกได้ว่าอาการป่วยถูกรักษามาอย่างต่อเนื่อง

ยืนยันว่าการรักษาผู้ป่วยสูงอายุไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติตามกระแสสังคม เพราะก่อนหน้านี้มีการส่งผู้ป่วยอายุมากมารักษาเช่นกัน

ทั้งนี้การดูแลความปลอดภัยระหว่างรักษามีเจ้าที่กรมราชทัณฑ์คอยดูแล 3คน แต่ในพื้นที่ของโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ของสถานีตำรวจนครบาล(สน.)ปทุมวัน ดูแลความปลอดภัยส่วนจะรักษาอาการนานเท่าใด ยังไม่สามารถตอบได้ทีมแพทย์จะเป็นผู้ประเมินต่อไป

พล.ต.ท.โสภณรัชต์ กล่าวว่า อาการล่าสุด ทักษิณ เมื่อช่วงเช้าจากการสอบถามทีมแพทย์ที่รักษา ทักษิณมีอาการดีขึ้นเล็กน้อยกว่าเมื่อคืนที่ผ่านมา แต่ยังใส่สายออกซิเจน ความดันยังสูงอยู่ สามารถสื่อสารได้แต่ยังมีอาการเหนื่อยหอบ แพทย์ต้องเฝ้าระวังโดยสั่งงดเยี่ยมทุกกรณี ส่วนกรณีถ้าญาติต้องการย้ายตัวไปโรงพยาบาลเอกชน จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจกรมราชทัณฑ์

หากพ้นวิกฤติโรครุมเร้าพร้อมส่งตัวกลับเรือนจำฯ

สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ว่า เนื่องด้วยอดีตนายกรัฐมนตรียังคงอยู่ในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ เมื่อถูกย้ายตัวเพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วย เราจึงยังต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยร่วมกับทาง รพ.ตำรวจ อย่างไรก็ตาม ทักษิณ จะยังคงรักษาตัวอยู่ที่นี่ ยืนยันว่าไม่มีการย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งอื่น และจะรักษาตัวให้พ้นวิกฤติจนกว่าแพทย์ รพ.ตำรวจ จะมีความเห็นอนุญาตให้กลับไปรักษาตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ส่วนกรอบระยะเวลาการรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ จะเป็นอำนาจของแพทย์ที่จะประเมินและมีความเห็น ส่วนถ้าหากญาติ ครอบครัวของนายทักษิณ หรือองค์กรต่างๆจะเข้าเยี่ยม โดยในห้วงการกักโรคโควิด-19 จำนวน 10 วันแรกจะยังไม่ให้มีการเยี่ยม แต่คาดว่าทาง รพ.ตำรวจอาจจะมีการยืดหยุ่นให้ 5 วันแรกเกิดการเข้าเยี่ยมได้ ถ้าไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่จะเป็นการเยี่ยมตามระเบียบของราชทัณฑ์ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีรายชื่อตามที่อดีตนายกรัฐมนตรีอนุญาตระบุให้เข้าเยี่ยม อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุการณ์ฉุกเฉินเมื่อคืนกลางดึก ทำให้ตนยังไม่ได้รับรายงานว่าอดีตนายกรัฐมนตรีมีการระบุให้บุคคลใดสามารถเข้าเยี่ยมได้บ้าง 

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เผยอีกว่า สำหรับเอกสารการรักษาตัวของอดีตนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ทางราชทัณฑ์อยู่ระหว่างการรอเอกสารเพิ่มเติมจากทางครอบครัวทักษิณ แต่เราได้รับมาแล้วบางส่วนจากวานนี้ (22 ส.ค.) ทั้งนี้ ประเด็นการขอพระราชทานอภัยโทษ อดีตนายกรัฐมนตรีสามารถดำเนินการได้สองช่องทาง คือ 1.ครอบครัวรับหน้าที่ดำเนินการ เตรียมเอกสาร คำร้องพรรณนาสำหรับการขออภัยโทษ และ 2.เจ้าตัวเป็นผู้เขียนคำร้องพรรณนาสำหรับการขอพระราชทานอภัยโทษด้วยตัวเอง แต่ในตอนนี้ตนยังไม่ได้รับรายงานว่านายทักษิณได้แจ้งความประสงค์จะเขียนเอกสารสำหรับเข้าสู่ขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษแต่อย่างใด.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่