หน้าแรก Thai PBS รัฐบาล “เศรษฐา 1” ไม่มี “ฮันนีมูนพีเรียด”

รัฐบาล “เศรษฐา 1” ไม่มี “ฮันนีมูนพีเรียด”

93
0
รัฐบาล-“เศรษฐา-1”-ไม่มี-“ฮันนีมูนพีเรียด”

ครั้งนี้ยิ่งเร่งปิดเกมเร็ว ทันทีที่ประธานรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แจ้งวันประชุมโหวตเลือกนายกฯ เป็น 22 ส.ค.2566 ก่อนได้รับสัญญาณชัดเจนเรื่องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย จะกลับประเทศไทยวันเดียวกัน หลังจากเลื่อนมาหลายรอบ ด้วยเหตุผล ยังไม่ลงตัวเรื่องเจรจาและปิดดีลตั้งรัฐบาล

การดึง 2 พรรค 2 ลุง มีส่วนช่วยให้การประสานกับสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และเบ็ดเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่มีเช็คเสียงคอนเฟิร์มครั้งสุดท้ายป้องกันข้อผิดพลาด โดยเฉพาะเรื่องนัดแล้วไม่มา คืนวันที่ 21 ส.ค.

เช้าวันอังคารที่ 22 ส.ค. จึงได้เห็นนายทักษิณใส่สูทผูกเน็กไท นั่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวลงสนามบินดอนเมือง ไม่ต่างจากแขกคนสำคัญ แม้ความจริงจะเป็นผู้ต้องหากลับมารับโทษ โดยมีมวลชนคนเสื้อแดงไปรอรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

มีช็อตพิเศษออกมายืนโบกไม้โบกมือ ให้ผู้คนได้เห็นและถ่ายภาพ รวมทั้งมีไลฟ์สดตั้งแต่เครื่องบินลงจอด กระทั่งส่งถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผ่านสถานีโทรทัศน์แทบทุกช่อง

ไม่ต่างจากบรรยากาศตอนเช้าที่รัฐสภา วันที่ 22 ส.ค.เป็นไปอย่างปลอดโปร่งแจ่มใส แกนนำที่เป็นส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ที่เดินทางไปร่วมประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ไม่มีใครคนไหนมีสีหน้าเคร่งเครียดบึ้งบูดให้เห็นเลย

แม้แต่ระดับคนติดตาม ยังกระซิบกระซาบบอกใครต่อใครว่า ทุกอย่างจบไม่มีปัญหา นายเศรษฐา ทวีสิน ผ่านการโหวตฉลุย แม้แต่ด่าน สว.ที่ยังคงมีบางส่วน ยังแสดงท่าทีขึงขัง ส่งเสียงดังว่า นายเศรษฐาจะโหวตไม่ผ่าน แต่ถึงเวลาจริง กลับมี สว.เพียง 2-3 คนที่ตั้งคำถามถึงประวัติความเป็นมา รวมถึงข้อกล่าวหาของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

หลังจากนั้น ทั้ง สส.และ สว.ส่วนใหญ่ จะออกไปในทางเรียกร้องทุกคนทุกฝ่ายเดินหน้าสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง ส่อเค้าตั้งแต่ตอนนั้นว่านายเศรษฐา จะได้รับโหวตสนับสนุน และได้เป็นจริงตามนั้น โดยเฉพาะในสาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่โหวตหนุนอย่างชัดเจน

จะมีบ้างในสาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่แตกแถว และอีกส่วนหนึ่งงดออกเสียง เช่น กลุ่มผู้นำเหล่าทัพที่ต้องแสดงจุดยืนความเป็นกลางให้ปรากฏ และ สว.อีกส่วนหนึ่งได้ประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะปิดสวิตช์ตัวเอง ไม่ว่าจะส่งใครมาก็ไม่โหวตให้

ขณะที่เสียงของ สส.ที่น่าสนใจคือ สส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่แตกออกเป็น 3 แนวทาง ทั้งงดออกเสียงโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์, กลุ่มไม่เห็นชอบโดยนายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน

ขณะที่ 2 แกนนำสำคัญของกลุ่มที่ถูกจับตาว่า จะเป็นผู้บริหารพรรคชุดใหม่ นายเดชอิศม์ ขาวทอง และนายชัยชนะ เดชเดโช ในการเรียกชื่อครั้งแรก แต่เจ้าตัวไม่ได้ออกเสียงขานรับ และกลับไปขอออกเสียงเห็นชอบด้วย เมื่อมีการขานชื่อลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดครบทั้งสิ้นแล้ว ตรงกับกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่าพร้อมให้การสนับสนุน

เสียงโหวตที่เห็นชอบ 482 เสียง เฉพาะจาก สว.มี 152 เสียง เกินกว่ากึ่งหนึ่ง ส่งผลให้นายเศรษฐาเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศทันที โดยมี 2 พรรคจาก 2 ลุงเข้าร่วมรัฐบาลด้วย

เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ต้องสูญเสียพันธมิตรสำคัญอย่าง นปช.กลุ่ม ผศ.ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ที่ประกาศก่อนหน้านี้ จะโบกมือลาหากพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรค 2 ลุง ตามด้วยนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ที่ไขก๊อกจากผอ.ครอบครัวเพื่อไทย

ยังไม่นับมวลชนเสื้อแดงอีกหลายจังหวัดที่เผาเสื้อแดงทิ้ง ประกาศทางใครทางมัน ขณะที่นักวิชาการหลายคน ระบุชัดว่า พรรคเพื่อไทยกำลังล้มละลายทางความน่าเชื่อถือ

พรรคเพื่อไทยจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องเดินหน้าเร่งตั้งครม.ให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อทูลเกล้าฯ จากนั้นต้องเร่งสร้างผลงานแข่งกับเวลา

เพราะไม่มีช่วงเวลาสำหรับ “ฮันนี่มูน พีเรียด” หลงเหลืออยู่อีกแล้ว

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่