นายฉลอง เทอดวีระพงศ์, นายภูมิศิษฏ์ คงมี และ นางนาที รัชกิจประการ 3 อดีต สส.ภูมิใจไทย เป็นนักการเมืองกลุ่มล่าสุด ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งจำคุก 9 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ทำให้พ้นจากตำแหน่ง สส. และถูกตัดสิทธิทางการเมือง กรณีเสียบบัตร สส.แทนกันในการประชุมสภา
อ่าน : จำคุก 9 เดือน-ตัดสิทธิ “ฉลอง-นาที-ภูมิศิษฏ์” ลูกพรรค ภท.เซ่นเสียบบัตร
ท่ามกลางความกังขาและข้อครหาว่า นักการเมืองคือชนชั้นอภิสิทธิ์ ทำอะไรก็ไม่ผิด แต่ในข้อเท็จจริง เมื่อสืบค้นข้อมูลย้อนหลัง พบว่ามีนักการเมืองอีกจำนวนไม่น้อย ที่ทำผิดกฎหมายและถูกศาลฯ ตัดสินจำคุกจริง รับโทษจริงอยู่ในเรือนจำ หลายคนพ้นมลทินไปแล้ว และหลายคนยังรับกรรมอยู่ในเรือนจำ
บุญทรง เตริยาภิรมย์ – จำนำข้าวจีทูจี
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พานิชย์ ขณะนั้น มีความผิดในคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบจีทูจี ต่อมา เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2560 ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกนายบุญทรง 42 ปี กรณีมีส่วนรู้เห็นในการทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วฯ ซึ่งมีอัตราโทษรุนแรง
จากนั้น จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามกฎหมายใหม่ เพื่อขอลดโทษเนื่องจากมีพยานหลักฐานเพิ่มเติม แต่อัยการโจทย์ได้กลับขออุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยเพื่อต่อสู้ด้วย ในที่สุดศาลได้พิพากษาแก้โทษจำคุกนายบุญทรง โดยเพิ่มอีกกระทงหนึ่งเป็นเวลา 6 ปี จากโทษเดิม 42 ปี เป็น 48 ปี
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2564 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธ.ค.2564 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ ที่มีความประพฤติดีให้ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป
โดยนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อายุ 61 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม จากคดีโครงการจำนำข้าวในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลพิพากษาปี 2560 กำหนดโทษไว้ 48 ปี ได้รับพระราชทานอภัยโทษปี 2564 รอบแรก เหลือวันต้องโทษจำคุก 16 ปี และได้รับพระราชทานอภัยโทษปีเดียวกันนี้ ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 10 ปี จะพ้นโทษ 21 เม.ย.2571
อ่าน : ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก “บุญทรง”ขายข้าวจีทูจี 42 ปี
ภูมิ สาระผล – จำนำข้าวจีทูจี
นายภูมิ สาระผล รมช.พานิชย์ ในขณะนั้น มีความผิดในคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบจีทูจี เช่นเดียวกัน ต่อมา เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2560 ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกนายบุญทรง 36 ปี กรณีมีส่วนรู้เห็นในการทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วฯ ซึ่งมีอัตราโทษรุนแรง ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ณ วันที่ 7 ธ.ค.2564
โดยนายภูมิ สาระผล อายุ 65 ปี เป็นนักโทษ ชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษา ปี 2560 กำหนดโทษ 36 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ปี 2564ในรอบแรก เหลือวันต้องโทษจำคุก 12 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ปี 2564 ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 8 ปี จะพ้นโทษ 25 ส.ค.2568
วัฒนา เมืองสุข – ทุจริตบ้านเอื้ออาทร
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาจำคุก 50 ปี นายวัฒนา เมืองสุข ชดใช้เพิ่ม 89 ล้านบาท ในคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร ในสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร
โดยศาลชี้ว่า นายวัฒนา ให้ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร แสดงออกว่าเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ และมีการเรียกเงินจำนวนมากจากผู้ประกอบการหลายรายที่เกี่ยวกันกับโครงการบ้านเอื้ออาทรซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของนายวัฒนาแล้ว จึงถือว่ามีส่วนในการร่วมกระทำรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการ
คดีนี้ยืดเยื้อนานกว่า 15 ปี กว่าที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะได้คุมตัว อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วัย 65 ปี เข้าสู่เรือนจำ เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2563
อ่าน : ศาลฎีกาฯ พิพากษายืนจำคุก “วัฒนา” 50 ปี คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร
ทั้งหมดเป็นอดีตนักการเมืองที่ยังถูกจองจำในเรือนจำ บางรายเหลือโทษไม่ถึง 10 ปี ขณะที่บางรายยังต้องรอเข้าข่ายได้ลดวันต้องโทษ และ รอวโรกาสที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษในอนาคต
ส่วนนักการเมืองที่ก่อนหน้านี้เคยเข้าไปรับโทษในเรือนจำ และพ้นโทษออกมาแล้ว เช่น เบญจา หลุยเจริญ, ยงยุทธ วิชัยดิษฐ และ ปลอดประสพ สุรัสวดี
เบญจา หลุยเจริญ – ช่วย “โอ๊ค-เอม” ซื้อหุ้นชินคอร์ปไม่เสียภาษี
28 ก.ค.2559 ศาลอาญาตัดสินโทษจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา นางเบญจา หลุยเจริญ อดีต รมช.คลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีมีคำวินิจฉัย นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร ซื้อหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ในราคาพาร์ 1 บาท จากบริษัท Ample Rich Investment Limited ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่ 49.25 บาท ไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
อ่าน : ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ
ต่อมา 26 ธ.ค.2562 ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดอ่านฏีกา คดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง โดยที่ศาลฏีกาเห็นว่า การกระทำของนางเบญจา หลุยเจริญ และพวก แอบแฝงเจตนาที่จะช่วยให้ นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ไม่ต้องแจ้งรายได้ที่เป็นส่วนต่างการซื้อขายหุ้นที่ราคาต่ำกว่าทุน ซึ่งแนวการตอบข้อหารือนั้นไม่ตรงกับข้อหารือที่กรมสรรพากรเคยวินิจฉัยไว้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่จำเลยขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอลงอาญา เห็นว่าควรลดโทษให้ 1 ใน 3 พิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลย 2 ปี ทำให้ นางเบญจา หลุยเจริญ ถูกส่งตัวเข้าทัณฑสถานหญิง เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2562
ยงยุทธ วิชัยดิษฐ – ที่ดินอัลไพน์
17 ก.พ.2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติชอบกลาง โดยศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลย (นายยุงยุทธ วิชัยดิษฐ) ฎีกาในคดีนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้น ได้พิพากษาลงโทษจำคุก นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกาแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงเตรียมนำตัว นายยงยุทธ จำเลยไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาที่ผลถึงที่สุด ตามศาลอุทธรณ์ที่มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2562
อ่าน : จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” คดีที่ดินอัลไพน์
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อายุ 78 ปี อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรมว.มหาดไทย มีความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบหรือทุจริต หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ปลอดประสพ สุรัสวดี – โยกย้ายไม่เป็นธรรม
5 มี.ค.2563 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก นายปลอดประสพ สุรัสวดี 1 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ
ศาลฎีกา เห็นว่า การกระทำของนายปลอดประสพ (จำเลย) ขณะดำรงตำแหน่ง ปลัด ทส. ให้นายดำรงค์ และ ออกคำสั่งใหม่ ให้นายวิฑูรย์ (โจทก์) ย้ายไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญนั้น เป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนระดับ 8 เป็นการย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ต่ำกว่าระดับเดิม และเป็นการโยกย้ายโดยเร่งด่วน ไม่ได้หารือต่อคณะกรรมการ ที่จำเลยอ้างว่ามีปัญหาเรื่องตำแหน่งใหม่ของโจทก์
อ่าน : ด่วน! จำคุก “ปลอดประสพ” 1 ปี 8 เดือนไม่รอลงอาญา
การออกคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งโจทก์ และการย้ายนายดำรงค์มาในตำแหน่งทับซ้อนกับโจทก์ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ได้รับความเสียหายและทางเจริญก้าวหน้าในอาชีพของโจทก์ ซึ่งการแต่งตั้งโยกย้ายระบบราชการนอกจากความเหมาะสมแล้วจะต้องคำนึงถึงคุณธรรมและธรรมาภิบาล แต่เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ของจำเลยแล้ว เป็นการกระทำที่ทำลายระบบคุณธรรมและธรรมาภิบาลในระบบราชการ จึงไม่ควรรอการลงโทษ และที่ศาลอุทธรณ์ฯ กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 1.4 ล้านบาท นั้นเหมาะสมแล้ว