หน้าแรก Thai PBS ราชกิจจาฯ เผยแพร่กฎกระทรวง อนุญาต เขตเมืองการบินตะวันออก สถานบริการเปิดได้ 24 ชม .

ราชกิจจาฯ เผยแพร่กฎกระทรวง อนุญาต เขตเมืองการบินตะวันออก สถานบริการเปิดได้ 24 ชม .

90
0
ราชกิจจาฯ-เผยแพร่กฎกระทรวง-อนุญาต-เขตเมืองการบินตะวันออก-สถานบริการเปิดได้-24-ชม.

เมื่อวานนนี้ (26 ส.ค.66) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวง กำหนดวันเวลาเปิด ปิด ของสถานบริการ (ฉบับที่ 2) กฎกระทรวง พ.ศ.2566 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 และมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 6/1 แห่งกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ.2547 “ข้อ 6/1 สถานบริการตามมาตรา 3 (1) ถึง (5) ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาต ให้ตั้งสถานบริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา และตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายกรพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง กำหนด เขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 ให้เปิดทำการได้ ตลอด 24 ชั่วโมง” ให้ไว้ ณ วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2566 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

*เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 บัญญัติให้การกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และโดยที่ได้มี การกำหนดเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจพิศษภาคตะวันออก เรื่องกำหนดเขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 สมควรกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบิน ภาคตะวันออกให้เปิดทำการได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินกิจกรรมของเมืองการบิน
จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้  

ครม.เห็นชอบเมืองการบินภาคตะวันออก 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 ส.ค.66 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบมาตรการสิทธิประโยชน์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ : เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ ซึ่งเรื่องนี้สืบเนื่องจากมติ ครม. เมื่อ 1 มี.ค.65 ที่เห็นชอบโครงการเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ : เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) พื้นที่รวม 6,500 ไร่ เป็นโครงการตัวอย่างนำร่องด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและไม่ใช่ภาษี และกำหนดให้พื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออก (Airport City) จำนวน 1,032 ไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ EECa เป็นเขตประกอบการค้าเสรี (EECa Free Trade Zone) โดยให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเสมือนพื้นที่นอกประเทศ ซึ่งไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมายหลายประการ

พร้อมจัดให้มีกิจกรรมและสันทนาการรองรับการใช้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เช่น โรงแรม 5 ดาวขึ้นไป ห้างสรรพสินค้าและ Duty Free ร้านอาหารระดับ Michelin Star งานแสดงสินค้าพื้นที่จัดการประชุม บริการความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับสู่การเป็นสนามบินระดับโลกและเป็นศูนย์กลางการบินและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยกรมศุลกากร และได้รับการสนับสนุนมาตรการสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆ ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และกำหนดสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นและเหมาะสม

มาตรการสิทธิประโยชน์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ : เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ที่ ครม.เห็นชอบในวันนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ

1.กลุ่มผู้ประกอบกิจการในพื้นที่เมืองการบิน รูปแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ คือ (1) ดำเนินกิจกรรมสันทนาการตลอด 24 ชั่วโมง (2) จำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง (3) ตั้งด่านนำเข้าและส่งออกสุราและยาสูบ (4) กำหนดเขตปลอดอากรและจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน (5) การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุดไม่เกิน 15 ปี และยกเว้นให้ไม่ต้องนำเงินปันผลจากการประกอบกิจการไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

2.กลุ่มคนทำงาน รูปแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ คือ (1) การผ่อนปรนข้อจำกัดด้านกฎหมายแรงงาน โดยให้คนต่างด้าวสามารถทำงานบางประเภทได้ (2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนสิทธิประโยชน์ที่อยู่ระหว่างการหารือ คือ การปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

3.กลุ่มคนเดินทางและนักท่องเที่ยว รูปแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ คือ การยกเว้นภาษีอากรและภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในพื้นที่เมืองการบินในช่วง 10 ปีแรก ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ยังอยู่ระหว่างการหารือ ได้แก่ (1) การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าในพื้นที่ EECa Free Trade Zone รวมไม่เกิน 20,000 บาท/คน/ปี เฉพาะช่วง 10 ปีแรก และ (2) ขยายการยกเว้นภาษีอากรและภาษีสรรพสามิตสำหรับของติดตัวผู้เดินทางระหว่างประเทศขาเข้าให้ครอบคลุมสินค้าที่ซื้อในพื้นที่ EECa Free Trade Zone รวมไม่เกิน 200,000 บาท/คน/ปี เฉพาะช่วง 10 ปีแรก

นอกจากนี้ ที่ประชุมให้ สกพอ.นำความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาเพิ่มเติม อาทิ 1) ควรกำหนดการซื้อหรือปริมาณการนำเข้าสุราและยาสูบที่เหมาะสม เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาการลักลอบนำสินค้าออกมาจำหน่ายนอกพื้นที่เมืองการบิน 2) มาตรการด้านเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยในสนามบินที่จะนำมาใช้ ควรต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้า เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย PDPA 3) การกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบกิจการใน EECa ไม่ให้ซ้ำซ้อนกับที่ BOI ให้การส่งเสริม 4) ควรพิจารณาความจำเป็นในการผ่อนผันข้อจำกัดทางกฎหมายให้คนต่างด้าวสามารถทำงานที่ไทยไม่ได้ขาดแคนหรือขาดทักษะ เช่น งานแกะสลักไม้ งานตัดผม งานเสริมสวย และงานขายของหน้าร้าน

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่