หน้าแรก Voice TV ‘สติธร’ อ่านโผ ครม. เศรษฐา 1 ตอบโจทย์ด่วน 'เศรษฐกิจ' พรรคร่วมอำนาจต่อรองจะลดในอนาคต

‘สติธร’ อ่านโผ ครม. เศรษฐา 1 ตอบโจทย์ด่วน 'เศรษฐกิจ' พรรคร่วมอำนาจต่อรองจะลดในอนาคต

46
0
‘สติธร’-อ่านโผ-ครม.-เศรษฐา-1 ตอบโจทย์ด่วน-'เศรษฐกิจ'-พรรคร่วมอำนาจต่อรองจะลดในอนาคต

สติธร ธนานิธิโชติ อ่านโผ ครม. ชี้พรรคร่วมมีอำนาจต่อรองสูงจากกติกาที่บิดเบี้ยว ย้ำเพื่อไทยจำเป็นต้องแลก แต่เป็นการแลกที่ไม่เสียหาย เก็บกระทรวงเศรษฐกิจที่จำเป็นไว้ขับเคลื่อนนโยบายเฉพาะหน้าได้ ระยะยาวหลัง สว. หมดวาระ อำนาจการต่อรองของพรรคร่วมจะต่ำลง อะไรเพื่อไทยเคยเสียไปอาจจะดึงกลับ มองยกมหาดไทยภูมิใจไทย แลกคมนาคม สาธารณสุข ได้มากกว่าเสีย

ต่อการจัดวางตำแหน่งคณะรัฐมนตรีที่มีการนำเสนอผ่านสื่อออกมาในวันนี้ สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เห็นว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำใจ เพราะรัฐบาลนี้คือ รัฐบาลผสม และเป็นรัฐบาลข้ามขั้ว และในจำนวน ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด 314 เสียง พรรคเพื่อไทยมีที่นั่งเพียง 141 เสียงเท่านั้น อย่างไรก็จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาเสียงจากพรรคร่วม ซึ่งไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับสมัยรัฐบาลไทยรักไทย หรือรัฐบาลพลังประชาชนได้ เพราะเวลานั้นชนะการเลือกตั้งมาได้เกือบ และเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตามการจัดโผที่ออกมา หลังจากที่มีการต่อรองกัน ยังถือว่าพอรับได้ ไม่ได้เสียหายมาก  

ในส่วนของการจัดวางโควต้ารัฐมนตรี เห็นว่า การจัดวางตำแหน่งของพรรคเพื่อไทยค่อนข้างตอบโจทย์การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาของพรรคเพื่อไทยคือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่วันนี้ด้วยขนาดของพรรค ด้วยสัดส่วนของเก้าอี้รัฐมนตรีที่ได้มา เวลาพูดเรื่องการทำให้เศรษฐกิจดี คงต้องแบ่งออกเป็นหลายระยะ ซึ่งตามโผที่ออกมาถือว่า เพื่อไทยได้เก็บกระทรวงเศรษฐกิจไว้ได้มาก ซึ่งสามารถนำมาขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งคนจำได้และคาดหวัง เช่น เงินดิจิทัลวอลเล็ต 

หมายความว่า ในสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล คนจะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยสามารถขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจได้ตามที่หาเสียง ส่วนเศรษฐกิจระดับมหภาคนั้นยังต้องใช้เวลาในการเข้าไปบริหาร ซึ่งการที่พรรคเพื่อไทยเก็บกระทรวงการคลังไว้ถือว่าตอบโจทย์แล้วในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีกระทรวงเศรษฐกิจอื่นๆ ที่พ่วงเกี่ยวกัน การได้กระทรวงการท่องเที่ยวเองก็สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐิจได้ กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ดูดดึงนักท่องได้ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ทั้งหมดสะท้อนว่า กระทรวงที่เก็บไว้ได้ล้วนตอบโจทย์นโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำก่อน 

เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เรื่องค่าแรง 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ก็สามารถขยับต่อไปได้ 

“ในภาวะที่พรรคเพื่อไทยมีอยู่ในรัฐบาลที่พรรคร่วมมีอำนาจต่อรองสูง ก็จำเป็นต้องยึดเอากระทรวงเศรษฐกิจไว้ก่อนเพื่อผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เดินหน้า ตอบสนองความคาดหวังของประชาชน ส่วนในระยะต่อไปเมื่ออำนาจต่อของพรรคร่วมลงลด หลังจาก ส.ว. หมดอำนาจ ก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนที่นั่งในคณะรัฐมนตรีได้”

ส่วนกรณีที่พรรคภูมิใจไทยจะได้คุมกระทรวงมหาดไทยนั้น สติธร มองว่า กรณีนี้เป็นเรื่องปกติในต่อรอง แม้กระทรวงมหาดไทยจะเป็นกระทรวงหลักที่พรรคซึ่งเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลควรจะเก็บไว้ เพราะมันคือการควบคุมกลไก ข้าราชการส่วนภูมิภาค รวมทั้งข้าราชการในส่วนท้องถิ่นด้วย และมีกรมต่างๆ ที่อำนาจหน้าที่หลากหลาย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลสามารถใช้ในการสร้างความนิยมกับประชาชนได้ง่าย เพราะสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับประชาชนได้ 

“วันนี้เพื่อไทย อาจจะไม่ได้นั่งเอง แต่เรื่องนี้ต้องมองต่อในระยะยาว เพราะตอนนี้เพื่อไทยน่าจะต้องการคมนาคม และสาธารณสุขมากกว่า จึงยอมแลก เมื่อถามว่าสมน้ำสมเนื้อ มันก็โอเค เพราะมองอีกด้านหนึ่งคือ ภูมิใจไทย ก็เสียกระทรวงที่เขาต้องการไปเหมือนกัน”

ในส่วนที่หลายคนมองว่า การที่ภูมิใจไทยได้เข้าไปคุมกระทรวงมหาดไทยจะนำไปสู่การสร้างรากฐานเครือข่ายที่จะช่วยสร้างความนิยมในการเลือกตั้งครั้งหน้านั้น สติธร มองว่า ในความเป็นจริงมันคือการแลกกันระหว่าง กระทรวงมหาดไทย กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องไม่ลืมว่ากระทรวงสาธารณสุขเองก็มีกลไก อสม. เช่นกัน ซึ่งถือเป็นเครือข่ายทางการเมืองไม่ธรรมดาเช่นกัน สามารถเข้าถึงคนในระดับหมู่บ้านได้อย่างจริงจัง และมีผลค่อนข้างมากในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ส่วนกระทรวงมหาดไทยเองแม้จะมีกลไกลที่มากกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถคุมองค์กรบริหารท้องถิ่นได้ทั้งหมดทุกจังหวัด เพราะเป็นองค์กรที่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน

ขณะที่โควต้าของพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น สติธร เห็นว่า สองพรรคนี้แม้จะมีที่นั่งน้อยกว่าภูมิใจไทย แต่กลับได้กระทรวงที่ต้องการ เพราะถือเป็นตัวแปลงสำคัญในการดึงเสียงสนับสนุนจาก สว. ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องทำใจภายใต้กติกาที่บิดเบี้ยว อะไรที่เพื่อไทยให้ได้ก็ให้ไปก่อน  

“แต่ถามว่าสะเทือนต่อพรรคเพื่อไทยขนาดไหน คิดว่าไม่มาก แม้กระทรวงเกษตรฯ อาจจะสำคัญเพราะทำอะไรได้เยอะ แต่ถ้าจำเป็นต้องเสียก็ให้ไปก่อนไม่เป็นไร ส่วนกระทรวงพลังงานฯ ถือเป็นกระทรวงเกรดเอก็จริง เพราะผลประโยชน์เยอะ แต่การที่จะเข้าไปแก้ไขกลไกอะไรที่จะทำให้ประชาชนถูกใจ มันทำยาก และถ้าเพื่อไทยดูเองคนก็จะคาดหวังเรียกร้องกับเพื่อไทยให้ไปรื้อโครงสร้างพลังงาน ซึ่งมันทำได้ยากมาก ดีซะอีกที่รวมไทยสร้างชาติเอาไป และในรัฐบาลประยุทธ์ก็ยังมีปัญหาที่เป็นประเด็นกันอยู่ อะไรที่เป็นปัญหา ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงคนก็จะได้ไปเรียกร้องกับคนเดิมที่สร้างปัญหาไว้ เพื่อไทยเองก็ถือว่าได้ลดแรงปะทะตรงนี้ไปได้ส่วนหนึ่ง”

สติธร กล่าวต่อว่า การมีรัฐบาลผสม ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาที่ประเทศไทยใช้นั้น ค่อนข้างเป็นเรื่องปกติ แต่ถามว่ารัฐบาลชุดนี้จะขาดเสถียรสภาพ และขาดเอกภาพในการบริหารประเทศหรือไม่ ประเด็นอยู่ที่ศักยภาพการนำของพรรคหลัก และการเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี ว่าจะสามารถบริหารจัดการกับการต่อรองได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม หากสามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ ไปจนถึงเดือน พ.ค. 2567 หรือช่วงที่ สว. หมดอำนาจในการเลือกนายกฯ เข้าสู่กลไกปกติที่รัฐบาลต้องการเสียงเพียง 250 ขึ้นไป ในการโหวตนายกรัฐมนตรี ถือวันนั้นเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลอำนาจต่อรองจะลดลง  

“หากผ่าน พ.ค. 2567 ไปแล้ว ตัวเลขวันนี้ คนที่จะต่อรองกับพรรคเพื่อไทยได้คือ สามพรรคต้องแพคกันแน่นเท่านั้น คือภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ เพราะถ้าพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือสองพรรคถอนตัวออกไป เวลานั้นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรสภาพของรัฐบาลมาก และยังมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแปลรที่จะช่วยเติมเสียงให้กับรัฐบาลได้ หรือหากทั้งสามพรรคประกาศถอนตัวทั้งหมด เพื่อไทยก็อาจจะกลับไปดึงพรรคก้าวไกลมาร่วมรัฐบาลก็ได้ หลัง พ.ค. 67 จำนวนตัวเลขที่นั่งในสภาจะไม่สามารถต่อรองได้เหมือนตอนนี้”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่