หน้าแรก Voice TV ถอดรหัสความรุนแรง : สังคมไทยเพดานสันติวิธีต่ำ จนท.รัฐ มองแค่พูดเรื่องสถาบันฯ ก็รุนแรง

ถอดรหัสความรุนแรง : สังคมไทยเพดานสันติวิธีต่ำ จนท.รัฐ มองแค่พูดเรื่องสถาบันฯ ก็รุนแรง

66
0
ถอดรหัสความรุนแรง-:-สังคมไทยเพดานสันติวิธีต่ำ-จนท.รัฐ-มองแค่พูดเรื่องสถาบันฯ-ก็รุนแรง

บุญเลิศ วิเศษปรีชา นำเสนองานวิจัย ‘สันติวิธีในทางปฏิบัติ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง’ พบความเห็นเรื่องแนวทางการไม่ใช้ความรุนแรงยังแตกต่าง ภาพรวมสังคมยังมองสันติวิธีผูกยึดกับแนวทาง ‘อหิงสา’ แบบคานธี ขณะที่รัฐไม่ได้ได้มองแค่รูปแบบการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุม แต่มองถึงเนื้อหา หากพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก็ถือว่ารุนแรง

29 ส.ค. 2566 ที่ห้องประชุมชั้น 4 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนองานวิจัย ‘สันติวิธีในทางปฏิบัติ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง’ 

บุศเลิศ เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นว่า งานศึกษาเกี่ยวกับสันติวิธีในไทยส่วนใหญ่ที่เคยมีมา เป็นการศึกษาในเชิงบรรทัดฐาน ซึ่งพูดถึงสันติวิธีในเชิงอุดมคติที่ควรจะเป็น แต่ไม่ได้พูดถึงสันติวิธีในเชิงการปฏิบัติมากเท่าใดนัก และส่วนมากที่มีการศึกษาก็เป็นการศึกษาสันติวิธีในการเคลื่อนไหวประเด็นชาวบ้าน ไม่ใช่สถานการณ์ทางการเมือง

บุศเลิศ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่สนใจเรื่องนี้ เพราะสันติวิธีน่าจะเป็นแนวทางที่ใครๆ ก็เลือกใช้ แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะเริ่มต้นที่ความเข้าใจในหลักการสันติวิธีของแต่ละคนก็แตกต่างกัน มาตรวัดว่าอะไรยังเป็นสันติวิธี อะไรที่ก้าวข้ามเส้นสันติวิธีไปแล้ว แต่ละคนมองต่าง รวมทั้งต้องการศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักกิจกรรมในประเทศไทย

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนไหวปี 2563-2564 จะพบว่ามีการพัฒนารูปแบบการเคลื่อนไหวหลายอย่างที่นำไปสู่ข้อถกเถียงว่า ยังอยู่ในเส้นสันติวิธีอยู่หรือไม่ หลายอย่างที่มีการเคลื่อนไหวอาจจะไม่คุ้นชินสำหรับสังคมไทย เช่น การสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สาดสีใส่ป้ายหน่วยงานราชการ”

บุญเลิศทำงานวิจัยโดยสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักกิจกรรมหลากหลายกลุ่ม เจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับการจัดการการชุมนุม และสื่อมวลชน ประมาณ 60 คน และทำแบบสอบถามประชาชนทั่วไปในกรุงเทพฯ 500 คน ตั้งคำถามว่า ขอบเขตของสันติวิธีคืออะไร และเงื่อนไขปัจจัยใดเป็นอุปสรรคต่อแนวทางของการไม่ใช้ความรุนแรง 

“การเคลื่อนไหว ไม่ใช่เฉพาะปี 63-64 แต่เริ่มตั้งแต่ปี 48-49 , 53 ไม่มีขบวนการไหนที่เริ่มต้นด้วยความตั้งใจที่จะใช้ความรุนแรง ขบวนการเริ่มต้นด้วยการชุมนุมอย่างสันติ แต่โจทย์ของเราคือ มันมีอะไรที่กระตุ้นให้เกิดการยกระดับ”

เขากล่าวต่อถึงความหมายของปฏิบัติการที่ไม่ใช้ความรุนแรง (Nonviolent Action) ตามนิยามของ Gene Sharp ว่า หมายถึงการไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้คน เป็นปฏิบัติการที่ตรงข้ามกับความรุนแรงที่มุ่งหมายให้เกิดการบาดเจ็บ สังหาร สร้างความสะพรึงกลัว คล้ายกับ Erica Chenoweth ซึ่งพูดถึงการต่อต้านอย่างอารยะ (Civil Resistance) ว่าหมายถึงการกระทำที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายทางกายต่อผู้อื่น หรือข่มขู่ที่จะทำอันตรายต่อผู้อื่น 

บุญเลิศกล่าวต่อว่า เวลามีการพูดถึงสันติวิธีหรือปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงในสังคมไทย คนมักจะผูกความหมายไว้กับการต่อสู้แบบ ‘อหิงสา’ ของคานธีที่เป็นการนั่งอยู่เฉย และตกเป็นผู้ถูกกระทำ แต่เอาเข้าจริงแล้วปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง รวมถึงการคว่ำบาตร Boycott ไม่สนับธุรกิจต่างๆ ของ สว. ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่นานมานี้ 

ฉะนั้นการต่อสู้ด้วยสันติวิธี ไม่ได้ผูกไว้กับเหตุผลทางศีลธรรม แต่เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว เนื่องจากการไม่ใช้ความรุนแรงมีโอกาสที่จะชนะมากกว่า เมื่อรัฐใช้ความรุนแรงกับขบวนการที่ไม่ใช้ความรุนแรงมันจะเกิดผลสะท้อนกลับ ทำให้รัฐเสียความชอบธรรม และรัฐจะล้มลงได้ด้วยการที่กลุ่มสนับสนุนรัฐถอนเสาค้ำยันระบอบนั้นออก หรือประชาชนถอนการสนับสนุนรัฐ เมื่อดูการเคลื่อนไหวจากหลายประเทศทั่วโลกต่อเนื่องจากอดีตเป็นต้นมาจะพบว่า การเคลื่อนไหวที่ไม่ใช้ความรุนแรงจะ ‘ได้รับชัยชนะมากกว่า’ การใช้ความรุนแรง 

บุญเลิศ เข้าสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบปี 2563 โดยกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 20 ก.ย. 2563 ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งกลุ่มราษฎรได้จัดการชุมนุมคืนค้างตั้งแต่ 19 ก.ย. โดยช่วงเช้าทำกิจกรรมปักหมุดราษฎรที่สนามหลวง และมีแผนเคลื่อนไหวต่อโดยเดินขบวน แกนนำได้ประกาศว่า ‘เรากำลังจะเดินไป เรากำลังต้องสู้อย่างสันติวิธี พี่น้องสัญญาได้ไหมว่าถ้าเจอตำรวจ พี่น้องจะฟังการสื่อสารจากรถขยายเสียง หากบอกให้หยุดพี่น้องจะหยุด พี่น้องจะแค่ชูมือ และมีแต่รอยยิ้มให้ตำรวจ ทำให้เขาเห็นว่าเรามีแค่สองมือ กับรอยยิ้มในการต่อสู้กับรัฐ’ บุญเลิศชี้ว่า นี่คือภาพที่ทำให้เห็นว่าการชุมนุมของราษฎรเริ่มต้นด้วยการสู้แบบสันติวิธี แต่คำถามใหญ่คือ อะไรที่เป็นสิ่งกระตุ้นการชุมนุมยกระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ 

เรื่องนี้หากถามคนที่อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหว ต่างพูดคล้ายกันหมดว่า การเคลื่อนไหวมีความจำเป็นต้องยกระดับเพื่อรักษาขบวนการดำเนินต่อไปได้  เพราะถ้ายังดำเนินไปเหมือนเดิมเรื่อยๆ คนที่มาร่วมจะเริ่มเบื่อและถอนตัวออกไป อีกหนึ่งเหตุผลคือ ความรู้สึกว่า การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาไม่ได้รับความสนใจจึงต้องยกระดับ 

บุญเลิศ ยกตัวอย่าง ‘กลุ่มทะวัง’ ที่ไปทำกิจกรรมสาดสีใส่ สน.สำราญราษฎร เพื่อประท้วงกระบวนการแจ้งข้อหา ‘หยก’ เพิ่มเติมขณะถูกควบคุมตัวอยู่ โดยผู้ให้สัมภาษณ์ระบุว่า ก่อนหน้าที่จะมาทำกิจกรรมนี้ เขาได้จัดวงเสวนาวิชาการ มีนักนิติศาสตร์มาพูดเรื่องกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ แต่การที่เขาไปทำกิจกรรมสาดสี แม้จะมีเสียงสะท้อนว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่ แต่มันทำให้เรื่องของหยกเป็นที่สนใจอีกครั้งพร้อมตั้งคำถามว่า ทำไมหยกถึงไม่ได้ประกันตัว

นอกจากนี้การยกระดับยังเกิดจาก การออกมาใช้สิทธิประท้วงอย่างชอบธรรม แต่กลับถูกรัฐกระทำ ทำให้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าจำเป็นต้องยกระดับการตอบโต้ ไม่ว่าจะเป็นการตอบโต้เฉพาะหน้ากรณีตำรวจบุกเข้ามาแล้วโต้ด้วยการปาขวดน้ำใส่ ไปจนถึงการจุดพุลใส่ตำรวจ โดยผู้ให้ข้อมูลเห็นว่า การกระทำของพวกเขาเมื่อเทียบกับการกระทำโดยรัฐนั้น เป็นสิ่งที่เทียบกันไม่ได้ 

บุญเลิศกล่าวต่อว่า จากคำอธิบายของ Gene Sharp ที่บอกว่า หากกรัฐใช้ความรุนแรงกับกลุ่มเคลื่อนไหวที่ไม่ใช้ความรุนแรง รัฐจะเสียความชอบธรรม คำถามคือ ทำไมสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย บุญเลิศชี้ว่า เป็นเพราะรัฐประสบความสำเร็จในการสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรง และคนส่วนใหญ่ก็เห็นดีด้วย อีกประการคือ ความไม่ชัดเจนของแนวทางไม่ใช้ความรุนแรงนั้นส่งผลเสียมากกว่าที่คิด 

เช่นปี 53 สื่อมวลชนหลายคนประเมินว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์จะพ่ายแพ้ แต่หลังจากมีคลิปชายชุดดำติดอาวุธออกมา กระแสที่เคยสนับสนุนคนเสื้อแดงกลับพลิกไปอีกทาง หรือคนมองว่า การเคลื่อนไหวที่ใช้ความรุนแรงร่วมด้วย แล้วรัฐก็ใช้ความรุนแรงด้วย คนจะตั้งคำถามใหม่ว่าใครที่ใช้ความรุนแรงก่อน หรือรัฐจัดการได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเป็นการถกเถียงในรายละเอียด และทำให้การสูญเสียความชอบธรรมของรัฐไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันการต่อสู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรงจะนำมาปนกับการการใช้ความรุนแรงไม่ได้ เพราะจะทำให้เสียความชอบธรรม 

จากงานศึกษาของต่างประเทศพบว่า การต่อสู่แบบไม่ใช้ความรุนแรงเลย จากสถิติพบว่า ได้รับชัยชนะ 65% ขณะที่การต่อสู้ที่มีความรุนแรงปนอยู่ด้วย หรือมีกลุ่มประปรายที่ใช้ความรุนแรงร่วมอยู่ด้วย ได้รับชัยชนะเพียง 35%

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้แบบไม่ใช้ความรุนแรงแม้จะมีโอกาสชนะมากกว่า แต่กลับพบว่ามีแนวโน้มที่จะชนะลดลงหลังปี 2010 เพราะรัฐเรียนรู้ที่จะปราบปรามอย่างชาญฉลาด เช่นการใช้อาวุธที่ไม่ทำอันตรายถึงชีวิตในทันที รัฐเปลี่ยนจากการใช้ปืนยิงคน มาเป็นการใช้นิติสงคราม หรือใช้กฎหมายในการปราบปรามแทน โดยไม่ให้ประกันตัว สิ่งนี้กลายเป็นการบั่นทอนการเคลื่อนไหวที่ละมุนขึ้น คนรู้สึกว่าการกระทำของรัฐไม่ได้แย่เสียทีเดียว

บุญเลิศกล่าวต่อว่า ปัจจัยที่จะส่งผลให้การเคลื่อนไหวต่อสู้แบบไม่ใช้ความรุนแรงประสบความสำเร็จ มีอยู่ 4 ข้อด้วยกัน คือ

1.ต้องมีการระดมผู้เข้าร่วมที่มีมาก และมีความหลากหลาย เป็นตัวแทนของคนหลายกลุ่มในสังคม 

2.ต้องสามารถเปลี่ยนความภักดีของผู้ที่เคยค้ำยันระบอบ หากพวกเขาถอนการสนับสนุนออกระบอบก็คงอยู่ต่อไปไม่ได้ 

3.ต้องมีการใช้เทคติคที่หลากหลาย ไม่ใช่ทำเพียงการชุมนุมเพียงอย่างเดียว 

4.ต้องมองการเคลื่อนไหวในระยะยาวไม่ใช่เพียงการมองเพียงระยะสั้น 

บุญเลิศ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดนี้ดูค่อนข้างเรียกร้องต่อขบวนการเคลื่อนไหว ว่าต้องรัษาเส้นสันติวิธี แต่นักเคลื่อนไหวก็มีคำถามกลับมาว่า เวลารัฐใช้ความรุนแรง กระแสที่เรียกร้องต่อรัฐ หรือกดดันรัฐเองก็ไม่มากพอ บุญเลิศเห็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องระหว่างขบวนการกับรัฐเท่านั้น แต่สังคมต้องมีส่วนร่วมกันในการจัดการกับความขัดแย้งโดยไม่เกิดความรุนแรง 

ประเด็นแรกคือ บทบาทของภาคประชาสังคมต้องช่วยในการจับตาป้องปรามการใช้ความรุนแรง เช่น การทำงานของสื่อมวลชนที่สามารถบันทึกภาพเจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางในระยะประชิด ซึ่งภาพนั้นส่งผลให้ในการชุมนุมวันต่อมาให้มีการยิงกระสุนยางในระยะประชิดลดลง หรือกรณีที่มีผ้สังเกตุการณ์ชุมนุมติดสัญลักษณ์เข้าไปในการชุมนุม สิ่งนี้ก็ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงอย่างโจ่งแจ้งได้ยากขึ้น 

ประเด็นที่สอง ต้องยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล 

ประเด็นที่สาม ต้องตระหนักถึงความเข้าใจของสังคมที่มีต่อขบวนการเคลื่อนไหว หากสังคมเห็นว่ายังเป็นการเคลื่อนไหวที่อยู่ในเส้นสันติวิธี ขบวนก็จะยังได้รับการสนับสนุน ที่สำคัญเส้นสันติวิธีที่สังคมยอมรับได้อาจจะอยู่ต่ำกว่าแนวทางสันติวิธีในทางทฤษฎี 

เขากล่าวต่อไปถึงผลสำรวจความเข้าใจสันติวิธีจากการสำรวจประชาชน 500 คนในกรุงเทพฯ  พบว่า 44.2% เห็นว่า การชุมนุมประท้วงที่ไม่ผิดกฎหมายจึงเป็นสันติวิธี ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วไม่ตรงกับทฤษฎี เพราะการเคลื่อนไหวหลายอย่างเป็นการทำผิดกฎหมาย แต่ก็ยังอยู่ในเส้นของสันติวิธี 

ประเด็นสำคัญที่งานวิจัยค้นพบ คือ นอกจากเส้นแบ่งของการต่อสู้แบบไม่ใช้ความรุนแรงของสังคมไทยจะต่ำกว่าเส้นในทางทฤษฎีแล้ว การแบ่งแยกว่าอะไรรุนแรงหรือไม่ เจ้าหน้าที่รัฐเองยังมองถึงเรื่องประเด็นการเรียกร้องด้วย หากมีการพูดถึงประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้นถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่รุนแรง และเมื่อสำรวจความเห็นคนกรุงเทพฯ ก็พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 48% เห็นว่าการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ยังน้อยกว่าประเด็นอื่นๆ เช่น การเรียกร้องประเด็นทางเศรษฐกิจ ม็อบชาวบ้าน คนเห็นว่าทำได้ 90% กว่า การชุมนุมขับไล่รัฐบาลเห็นว่าทำได้ประมาณ 70% 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่