หน้าแรก Voice TV ถอดปัจจัย 20 ปี 'ความรุนแรง' ปราบม็อบใน 6 รัฐบาล

ถอดปัจจัย 20 ปี 'ความรุนแรง' ปราบม็อบใน 6 รัฐบาล

84
0
ถอดปัจจัย-20-ปี-'ความรุนแรง'-ปราบม็อบใน-6-รัฐบาล

ประจักษ์ ก้องกีรติ เสนองานวิจัย ‘ความรุนแรงการเมืองโดยรัฐในสังคมไทย แบบแผน วิธีคิด การให้ความชอบธรรม’ สำรวจการจัดการม็อบโดยใช้กำลังในรอบ 20 ปี ภายใต้ 6 รัฐบาล พบยิ่งรัฐบาลมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับกองทัพ โอกาสรุนแรงและความสูญเสียยิ่งสูง เปิดความคิด จนท.รัฐ ต่อให้ม็อบสันติ แต่ทะลุเพดาน ก็ต้องปราบหนัก ไม่ให้บานปลาย

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2566 ที่ห้องประชุมชั้น 4 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนองานวิจัย ‘ความรุนแรงการเมืองโดยรัฐในสังคมไทย แบบแผน วิธีคิด การให้ความชอบธรรม’ 

ประจักษ์ เริ่มต้นด้วยการขยายภาพให้เห็นว่างานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาถึงความรุนแรงทางการเมืองโดยเริ่มตั้งแต่ช่วงปี 2548 – 2565 โดยเปรียบเทียบการชุมนุมของ 4 ขบวนการคือ กลุ่มพันธมิตร กลุ่ม นปช. กลุ่ม กปปส. และม็อบเยาวชน โดยดูว่าในแต่ละช่วงเวลารัฐในขณะนั้น รับมือหรือจัดการกับการชุมนุมอย่างไร 

สำหรับการทำงานวิจัยชิ้นนี้ ประจักษ์เริ่มต้นด้วยการรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ถึงแบบแผนความรุนแรงทางการเมืองในความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา โดยรวบรวมข้อมูลจากการรายงานข่าวผ่านสื่อต่างๆ รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานของคณะกรรมการสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา รวมถึงรายงานกลุ่มภาคประชาชน หรือศูนย์ข้อมมูลประชาชน ซึ่งได้ทำข้อมูลการสลายการชุมนุมปราบคนเสื้อแดงไว้อย่างละเอียด

หลังจากได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดจนครบถ้วน และเห็นถึงแบบแผนความรุนแรง สิ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้ทำต่อไปคือ การวิเคราะห์ แนวคิดของรัฐ ว่าทำไมจึงมีกรรับมือการชุมนุมในแต่ละครั้งแตกต่างกันไป และสุดท้ายคือ การเข้าไปดูว่ารัฐให้ความชอบธรรมต่อการใช้ความรุนแรงในแต่ละครั้งอย่างไร

“ไม่ว่าประเทศไหนในโลก เมื่อรัฐสลายการชุมนุมด้วยการใช้กำลัง สิ่งนี้เป็นการกระทำที่ต้องโดนวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้วจากสื่อ และสังคม ความรุนแรงในตัวมันเองในบริบทปัจจุบัน ไม่ว่าจากฝั่งผู้ชุมนุม หรือฝั่งรัฐ เมื่อจะใช้มันเป็นการกระทำส่งผลให้ฝ่ายที่ใช้สูญเสียความชอบธรรม ดังนั้นจึงต้องมีคำอธิบาย เพื่อทำให้การใช้ความรุนแรงไม่ถูกวิจารณ์ นั่นก็คือ การกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรง”

สถิติความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละรัฐบาล โดยจำแนกตามจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 

  1. รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ 2 (พ.ศ. 2544-2549) มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง 14 ราย แบ่งเป็นพลเรือนทั่วไป 13 ราย และผู้สื่อข่าว 1 ราย และไม่มีรายงานการเสียชีวิต
  2. รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ (พ.ศ. 2549-2551) มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง 109 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 80 นาย พลเรือน 29 ราย และไม่มีรายงานการเสียชีวิต
  3. รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (พ.ศ. 2551) มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง 180 ราย แบ่งเป็น เจ้าหน้าที่รัฐ 7 นาย พลเรือน 130 ราย และผู้สื่อข่าว 2 ราย และมีผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือน 2 คน
  4. รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (พ.ศ. 2551) มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง 626 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 57 นาย พลเรือน 529 ราย และผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือน 7 คน
  5. รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พ.ศ. 2551-2554) มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง 1,710 ราย (เนื่องจากมีจำนวนผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 จำนวนมากเป็นหลักพันคนและไม่มีแหล่งข้อมูลใดที่จำแนกลักษณะของผู้บาดเจ็บอย่างเฉพาะเจาะจง จึงทำให้ไม่สามารถระบุรายละเอียดได้อย่างแน่ชัด) และเสียชีวิต 101 คน
  6. รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (พ.ศ. 2554-2557) มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง 907 คน แบ่งได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 240 นาย พลเรือน 654 ราย และผู้สื่อข่าว 8 ราย ส่วนผู้เสียชีวิต 30 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 4 นาย และพลเรือน 26 ราย
  7. รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พ.ศ. 2557-2562) มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง 13 คน โดยเป็นพลเรือนทั้งหมด และมีตำรวจเสียชีวิต 1 นาย
  8. รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พ.ศ. 2562-2566) มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง 646 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 167 นาย พลเรือน 452 ราย และผู้สื่อข่าว 33 ราย และมีผู้เสียชีวิต 3 ราย เป็นพลเรือน 2 ราย และเจ้าหน้าที่ 1 ราย

ประจักษ์ อธิบายถึงแผนแบบความรุนแรงที่ได้จากการเก็บข้อมูล โดยแบ่งตามช่วงเวลาของรัฐบาลแต่ละชุด นับจากปี 2548 เป็นต้นมาจะพบว่า ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากกว่ารัฐบาลชุดอื่นๆ และที่สำคัญจำนวนตัวเลขเหล่านี้เป็นผลมาจากการสลายการชุมนุมในปี 2553 เป็นหลัก ซึ่งการปราบคนเสื้อแดงในปี 2553 นี้ ถือเป็นความรุนแรงโดยรัฐที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยในแง่ของจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต มากกว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา , 6 ตุลา และพฤษภาทมิฬ 

ส่วนในรัฐบาลอื่นจะเห็นว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยกว่า เว้นเพียงช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตรองลงมาจากสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ยังถือว่ามีจำนวนที่น้อยกว่ามากโดยเปรียบเทียบ โดยเป็นผลมาจากการการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. ทั้งนี้พบว่าแผนแบบความรุนแรงมีความซับซ้อนกว่าช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ 

ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ความสุญเสียที่เกิดเป็นผลมาจกการที่รัฐใช้มาตราสลายการชุมนุม ความรุนแรงจึงเกิดขึ้นจากฝั่งรัฐเป็นหลัก ส่วนในช่วงสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบว่าความสูญเสียเกิดขึ้นจากหลายฝ่าย เนื่องจากเวลานั้นเกิดสภาวะอนาธิปไตยขึ้น โดยมีทั้งความรุนแรงจากฝั่งรัฐ และจากฝั่งผู้ชุมนุมซึ่งมีมาตรการที่ไมาปฏิเสธการใช้ความรุนแรง รวมทั้งจากกลุ่มอื่นๆ หรือในภาษาข่าวเรียกว่า ‘กลุ่มมือที่ 3’ สภาวะอนาธิปไตยที่เกิดขึ้นนี้ เป็นภาวะที่ความรุนแรงผสมโรงเกิดขึ้นจากหลายกลุ่ม ขณะที่รัฐบาลอื่นๆ จะมีตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ 

อย่างไรก็ตามข้อสังเกตประการหนึ่งพบว่า รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร คือ รัฐบาลสุรยุทธ์ และรัฐบาล คสช. มีความรุนแรงต่ำ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าในช่วงเวลานั้นไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเลย เพียงแต่ความขัดแย้งนั้นถูกกดเอาไว้ และประชาชนทุกกลุ่มไม่ว่ามีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร หรือมีความเดือดร้อนเรื่องอะไร ต่างไม่มีพื้นที่ในการแสดงออก ฉะนั้นตัวเลขความรุนแรงที่ต่ำนั้นไม่ได้สะท้อนว่าสังคมกำลังสงบสุข หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่เป็นการนสะท้อนให้เห็นถึงการใช้อำนาจปิดกั้นการแสดงออกอย่างเข้มข้น รวมถึงการใช้มาตรการทางกฎหมายในการปราบปราม ทั้งการจับกุม คุมขัง การเรียกตัวไปปรับทัศนคติ กล่าวคือ สังคมกำลังโดนกดปราบ และพื้นที่ของสิทธิเสรีภาพเป็นศูนย์ในช่วงเวลานั้น แม้แต่การเคลื่อนไหวโดยสงบ อย่างการรวมตัวกัน 5 คน ไปยืนกินแซนวิชประท้วงการรัฐประหาร ก็ไม่สามารถทำได้ 

ประจักษ์ อธิบายต่อว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐ นั้นไม่เกิดขึ้นโดยการตั้งเป้าว่าจะมีการใช้ความรุนแรงตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับการชุมนุมของประชาชน เพราะทุกคนต่างรู้ว่าเมื่อใช้ความรุนแรงแล้วจะสูญเสียความชอบธรรม ฉะนั้นรัฐบาลแต่ละชุดต่างก็พยายามใช้เครื่องมืออื่นๆ ก่อน ในการรับมือกับการชุมนุมประท้วงของประชาชน และความรุนแรงเป็นเครื่องมือสุดท้าย เมื่อเครื่องมืออื่นๆ ล้มเหลว หรือถูกทำให้ล้มเหลว โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เครื่องหลายประการถูกจำกัดให้ใช้งานไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจา หรือเครื่องมือทางกฎหมาย เพราะไม่สามารถควบคุมกลไกรัฐได้ทั้งหมดไม่ได้รับความร่วมมือ 

สิ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้สนใจคือ ทำไมการจัดการการชุมนุมจึงมาลงเอยที่ความรุนแรง อะไรคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของรัฐ ประจักษ์ ชี้ว่า มีเหตุผลอยู่ 2 ปัจจัยหลัก และ 1 ปัจจัยย่อย ที่เป็นตัวกำหนดความรุนแรงโดยรัฐในสังคมไทยว่าจะออกมาในรูปแบบใด หรือในระดับใด มากหรือน้อย 

ปัจจัยแรกคือ ระบอบการเมืองในเวลานั้น ในทางสากลจะมีการอธิบายโดยใช้ปัจจัยนี้เยอะ โดยจะโฟกัสไปที่ 3 ทฤษฎี แต่เมื่อลองนำมามองดูสังคมไทยแล้ว พบว่า ใช้อธิบายไม่ค่อยได้ 3 ทฤษฎีที่ว่าคือ 1.เมื่อสังคมไหนเป็นเผด็จการมากก็ยิ่งจะใช้ความรุนแรงสูง ซึ่งในกรณีของสังคมไทยพยบว่า ไม่จริง

2.ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านมาทางการเมือง ยิ่งมีโอกาสเกิดความรุนแรงทางการเมืองมาก โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นรัฐเผด็จการ แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่มีกหารเปลี่ยนจากเผด็จการเป็นประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยเป็นเผด็จการ ช่วงรอยต่อนี้ยิ่งจะทำให้เกิดความรุนแรง เพราะโครงสร้างการเมือง และกติกายังไม่นิ่ง ซึ่งสามารถใช้อธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ เพราะเรามีการเปลี่ยนผ่านกลับบไปกลับมา แต่ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมบางรัฐบาลไม่รุนแรง และทำไมบางรัฐบาลถึงรุนแรง 

และ 3. ความถดถอยของประชาธิปไตย  ความรุนแรงทางการเมืองจะยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่ออสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอยู่ ถูกทำให้ถดถอย เช่น เกิดการรัฐประหาร การทำลายโครงสร้างกฎหมาย โดยในช่วงที่ประชาธิปไตยถดถอดนี้ ทำให้สังคมไม่มีหลักยึด และผู้ที่สนับสนุนประชาธิปไตยที่ไม่พอใจกับความถดถอยนั้นก็ออกมาประท้วง จึงเกิดโอกาสที่รัฐจะออกมาปราบปรามประชาชน กรณีสามารถใช้อธิบายภาพรวมความรุนแรงทางการเมืองในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาได้ แต่ก็ไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมด เพราะประชาธิปไตยไทยก็ถดถอยมาโดยตลอด 

ประจักษ์ เห็นว่า สำหรับการเมืองไทยนั้น จำเป็นต้องมีกรอบทฤษฎีใหม่ในการอธิบาย โดยการดูที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ ซึ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการอธิบาย ซึ่งเมื่อใช้เกณฑ์นี้จะทำให้สามารถแบ่งรัฐบาลออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแรก รัฐบาลที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับกองทัพ หรือเป็นพันรธมิตรทางการเมืองกับกองทัพ โดยไม่สำคัญว่าตัวนายกฯ หรือรัฐบาลจะเป็นรัฐบาลพลเรือนหรือไม่ ในแง่นี้มีรัฐบาลที่เข้าข่ายคือ รัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลประยุทธ์ 

ประเภทที่สอง คือ รัฐบาลที่ไม่สามารถควบคุมกองทัพได้ หรือเป็นรัฐบาลที่กองทัพรู้สึกว่าเป็นปฏิปักษ์ กรณีนี้จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด ได้แก่รัฐบาลทักษิณ สมัคร สมชาย และยิ่งลักษณ์ 

ประจักษ์ กล่าวต่อว่า การแบ่งแบบนี้จะทำให้เกิกความเข้าใจได้ว่าทำไมช่วงรัฐบาลที่มีความรุนแรงทางการเมืองสูงที่สุดทำไมจึงเกิดขึ้นในรัฐบาลซึ่งเป็นพลเรือน โดยเข้าไปดูที่ความสัมพันธ์ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์มีกับกองทัพ ไม่ใช่เพียงแค่การดูที่องค์ประกอบองคณะรัฐมนตรีว่าเป็นทหาร หรือพลเรือน 

“จริงๆ หลายรัฐบาลก็อยากใช้มาตรการรุนแรงในการปราบปรามประชาชน แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะสั่งการไปแล้วทหารไม่ฟัง หากยังจำได้ในสมัยรัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย ทหารออกมาให้สัมภาษณ์ทางทีวีเลยด้วยซ้ำ กดดันให้รัฐบาลลาออก คือไม่ขึ้นต่อรัฐบาลแล้ว ฉะนั้นคุณจะไปสั่งอย่างไรก็ตาม ต่อให้ม็อบยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน รัฐบาลก็ถูกตัดแขนตัดขา ไม่สามารถสั่งการอะไรได้ แต่ในสัมยรัฐบาลอภิสิทธิสามารถคุมม็อบได้ เพราะทหารเอาด้วย คือรัฐบาลกับทหารเป็นเนื้อเดียวกัน และทั้งกองทัพและรัฐบาลต่างมองคนเสื้อแดงไปภัยคุกคาม จึงตัดสินใจร่วมกันว่าต้องปราบด้วยความรุนแรง การใช้กำลังจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นเอกภาพ และครั้งนั้นที่รุนแรงหนักที่สุดก็เพราะใช้กำลังทหารเป็นหลักในการควบคุมม็อบ ซึ่งผิดหลักสากล”

ประจักษ์ เปิดเผยคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูงคนหนึ่ง ระบุว่า กองทัพยังมีทัศนคติแบบสงครามเย็นอยู่ เมื่อเผชิญกับประชาชนที่เห็นต่างก็จะใช้วิธีปิดล้อม และใช้ยุทธวิธีแบบสงคราม หลัการใช้กลังจากเบาไปหาหนักใช้การไม่ได้สำหรับทหาร เพราะอาวุธที่ใช้เป็นอาวุธหนักแต่แรก ซึ่งมันขึ้นอยู่ปับรัฐบาลที่จะไม่ใช้กองทัพตั้งแต่แรก เพราะถ้าเอากองทัพออกมาแล้ว มันไม่มีทางจบด้วยสันติวิธีได้

ปัจจัยที่สองคือ มุมมองของรัฐที่มีต่อผู้ชุมนุม ประจักษ์ชี้ว่า รัฐมองผู้ชุมนุมแต่ละกลุ่มต่างกัน โดยมีการทำงานทางการข่าวตลอดเวลา และมีข้อมูลทั้งหมดอย่างดี รู้ว่าแต่ละกลุ่มมีความเป็นมาอย่างไร มีประวัติอย่างไร มีแกนนำเป็นใคร แต่อาจจะมีข้อมูลที่เกินเลยความเป็นจริงไปบ้างแต่รัฐไม่ได้ตั้งต้นจากการที่ไม่ได้มีข้อมูล

การมองผู้ชุมนุมของรัฐ ใช้หลักเกณฑ์ 2 หลักคือ 1.ดูก่อนว่าเป็นการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี หรือรุนแรง 2.ดูอุดมการณ์ของกลุ่มเคลื่อนไหว มีเนื้อหาข้อเรียกร้องอะไรบ้าง โดยมีการแบ่งง่ายออกเป็น ม็อบปากท้อง กับม็อบการเมือง และในกลุ่มของม็อบการเมืองเองก็มีการแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ 1.ม็อบที่มีเพดานอยู่ที่รัฐบาลเท่านั้น กรณีเจ้าหน้าที่รัฐมองว่าไม่น่ากลัว ไม่น่ากังวลมากนัก 2.ม็อบเพดานสูงเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

โดยหลักการมองของรัฐ หากม็อบมาโดยสันติการรับมือก็จะลุมุนละม่อมมากกว่า แต่ถ้าเป็นการเคลื่อนไหวแบบรุนแรง หรือเป็นกลุ่มที่มีประวัติใช้ความรุนแรงมาก่อน รัฐก็จะมีการเตรียมการที่เข้มข้นกว่า ทั้งมีการเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือหน่วยงานที่จะใช้ในการควบคุมม็อบก็จะป็นอีกแบบหนึ่ง 

แต่เมื่อเราใส่เรื่องแนวคิดของม็อบเข้าไปด้วย เจ้าหน้ารัฐที่เห็นว่า ต่อให้มาแบบสันติวิธี แต่ถ้ามีเนื้อหาเป็นเรื่องการเมืองที่เลยเพดานรัฐบาลไป ไปวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสถาบันกษัตริย์ กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่รัฐจะจับตา และรับมือด้วยความเข้มข้นกว่าปกติ หากมีการพูดเรื่อง 112 หรือประเด็นเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ จะมีคำสั่งลงมาให้ปราบด้วยความรุนแรงทันที โดยไม่สนว่าม็อบใช้แนวทางแบบสันติวิธีหรือไม่ เพื่อทำให้หยุด ไม่ให้บานปลาย แม้รัฐจะห่วงเรื่องภาพลักษณ์ในการสลายการชุมนุมอยู่ แต่รัฐเลือกที่จะให้น้ำหนักกับการปกป้องสถาบันมากกว่า

นอกจากนี้สำหรับกลุ่มที่มีการใช้ความรุนแรง สำหรับมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐ กลับไม่ได้กลัวกลุ่มลักษณะนี้เท่าไร เพราะเป็นม็อบที่รับมือง่าย และเขามีความชอบธรรมที่จะปราบปรามสูง มากไปกว่านั้นรัฐยังมองกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงว่ามาจากครอบครัวชั้นชนล่าง เสียงคนกลุ่มนี้ไม่ดังอยู่แล้ว 

ปัจจัยสุดท้ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และเป็นการค้นพบระหว่างการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐทั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวรชายแดน เจ้าหน้าที่รัฐที่สังกัดอยู่ในหน่วยความมั่นคงอื่นๆ และเจ้าที่รัฐในระดับผู้กำหนดนโยบาย คือ เรื่องของอารมณ์ในการทำงานหน้างานระหว่างการควบคุมการชุมนุม อย่างไรก็ตามปัจจัยนี้ถือเป็นเรื่องรองลงมานโยบายจากผู้บังคับบัญชา  และการมีอารณ์ร่วมก็ไม่สามารถที่จะทำให้ความรุนแรงโดยรัฐขยายตัวมากขึ้นได้ เพราะถ้ามีการสั่งการให้ใช้กำลังเข้าปราบปรามเจ้าหน้าที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แต่ถ้ามีอารมณ์ผสมเข้าไปด้วยก็ยิ่งจะทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงที่ไม่จำเป็นเกิดขึ้นได้ หรือในอีกกรณีคือ มีการสั่งการมาว่า ม็อบนี้จะไม่มีการใช้ความรุนแรง แต่เกิดกรณีเจ้าหน้าที่ไม่สบอารมณ์ในทางส่วนตัวกับผู้ชุมนุม ก็อาจจะมีการกระทบกระทั่งกัน แต่ก็ไม่สามารถนำไปสู่การขยายตัวของความรุนแรงโดยรัฐ เพราะแนวนโยบายกำหนดมาให้จัดการแบบละมุนละม่อม

ทั้งนี้ในแต่ละครั้งที่มีการสลายการชุมนุมรัฐจะต้องสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงเสมอ ประจักษ์ชี้ตัวอย่าง คำอธิบายของรัฐในสามกรณีคือ 1.การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 53 มีการสร้างวาทะกรรมว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย และมีการกล่าวหาว่าเป็นม็อบล้มเจ้า 2.การสลายการชุมนุมของกลุ่มรีเด็ม รัฐอ้างว่า เป็นม็อบที่ก่อความวุ่นวาย และมีการใช้ความรุนแรง 3.การสลายการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ส รัฐอ้างว่า กลุ่มนี้ไม่ใช้ม็อบทั่วไปแต่เป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ก่อความวุ่นวาย และเป็นกลุ่มนักเลง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่