หน้าแรก Voice TV ครึ่งปีแรก 2566 จีดีพีต่ำกว่าคาด หนี้ครัวเรือนสูง หนี้เสียรถน่าห่วง

ครึ่งปีแรก 2566 จีดีพีต่ำกว่าคาด หนี้ครัวเรือนสูง หนี้เสียรถน่าห่วง

43
0
ครึ่งปีแรก-2566-จีดีพีต่ำกว่าคาด-หนี้ครัวเรือนสูง-หนี้เสียรถน่าห่วง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลต่อสภาวะทางเศรษฐกิจไทยให้หยุดชะงัก และส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือน หลายครอบครัวขาดสภาพคล่องทำให้มีแนวโน้มที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้น ทั้งที่เดิมทีสัดส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยนั้นมีมูลค่าสูงอยู่แล้ว

สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยสถานการณ์หนี้สินครัวเรือน ไตรมาส 1/2566 พบว่า

  • หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท
  • เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในช่วงเดียวกันร้อยละ 3.6
  • สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 90.6
  • (แม้ชะลอตัวจากไตรมาส 4/2565 ที่อยู่ร้อยละ 91.4 แต่ยังถือว่าสูง)
  • ตัวเลข GDP ไตรมาส 2/2566 ขยายตัวเพียง 1.8 % ต่ำกว่าที่คาดไว้
  • เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าที่หดตัว 5.7%
  • การอุปโภคภาครัฐที่ติดลบ -4.3%
  • การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว 3.3 %

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย สคช.คาดว่าปี 2566 จะขยายตัวเพียง 2.5-3% ลดลงจากที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.7-3.7% ซึ่งรายได้หลักจะมาจากภาคท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่ามีรายรับอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท

การเมืองมีผลต่อบรรยากาศเศรษฐกิจ

สคช.ยังระบุถึง ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปี 2566 ได้แก่ การบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี, การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวไทย, การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนของผู้ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน และการเพิ่มขึ้นของกรอบงบลงทุนของภาครัฐ และฐานการขยายตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วที่อยู่ในระดับต่ำ

371533291_1039894830694586_8562600804083317868_n.jpeg

ส่วนปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดปี 2566 ได้แก่ เงื่อนไขทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบประมาณ 2567 ที่ล่าช้า อาจกระทบความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจ, การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงถัดไป เพราะแม้ว่าไตรมาส 2/2566 เศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ในระยะถัดไปยังมีปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังค่อนข้างมาก เช่น ดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย

ขณะที่ตัวเลขหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ย้อนหลัง 5 ปี มีดังนี้

  • ปี 2562 หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 84.1 มีมูลค่า 14.20 ล้านล้านบาท
  • ปี 2563 หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 94.2 มีมูลค่า 14.76 ล้านล้านบาท
  • ปี 2564 หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 94.6 มีมูลค่า 15.06 ล้านล้านบาท
  • ปี 2565 หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 92.3 มีมูลค่า 15.61 ล้านล้านบาท
  • ไตรมาส 1/2566 หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 90.6 มีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท
หนี้เสียรถยนต์น่าห่วง

สำหรับการก่อหนี้ครัวเรือน พบว่า มีการก่อหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์ และอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้นั้น หลังการแพร่ระบาดโควิดพบว่า กลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี มีปัญหาเรื่องหนี้เสีย (NPL) เพิ่มขึ้นมากที่สุด สะท้อนถึงความเปราะบางของลูกหนี้กลุ่มนี้ และยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกยึดรถ เพราะเป็นกลุ่มที่ก่อหนี้รถยนต์มากที่สุด อีกทั้งมีสัดส่วนค้างชำระหนี้ไม่เกิน 3 เดือนต่อสินเชื่อรวมสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอายุอื่น

สภาพัฒฯ ยังชี้ถึงประเด็นหนี้สินครัวเรือนที่ควรให้ความสำคัญและต้องตามได้แก่

1) หนี้เสียและความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 1/2566 หนี้ NPL ของสินเชื่อยานยนต์ขยายตัวเพิ่มสูงถึงร้อยละ 30.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงที่สุดในรอบ 14 ปี

2) การติดกับดักหนี้ของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์สะท้อนจากพฤติกรรมการกู้ยืมของลูกหนี้สหกรณ์ส่วนใหญ่เพื่อใช้สอยส่วนตัวและเพื่อชำระหนี้สินเดิม

3) การส่งเสริมให้คนไทยมีทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้อง แม้ว่าคนไทยจะมีระดับความรู้ทางการเงินดีขึ้น แต่การสำรวจการติดตามระดับความรู้ และการเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือน ปี 2565 พบว่า ทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้องของคนไทยลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563

ด้วยเหตุนี้ สคช.เสนอไว้ 5 แนวทางในการแก้ปัญหาดังนี้

1.ขยายความครอบคลุมของสมาชิกเครดิตบูโร โดยมีมาตรการจูงใจให้ผู้ให้สินเชื่อทุกกลุ่มเข้าเป็นสมาชิก NCB อาทิ งดเว้นเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า และกำหนดให้ผู้ให้สินเชื่อต้องใช้ข้อมูลของ NCB ประกอบด้วยทุกครั้ง

2.ต้องมีการกำกับดูแลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดำเนินการตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเข้มงวด โดย ธปท. มีการจัดทำเกณฑ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ควรมีการกำกับดูแลและติดตามการดำเนินการของผู้ให้สินเชื่อร่วมด้วย

3.หน่วยงานรัฐในฐานะคนกลางต้องส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับศักยภาพของลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างรายได้และภาระหนี้ หรือระยะเวลาที่สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อไปได้

4.ส่งเสริมการปลูกฝัง Financial literacy และวินัยทางการเงินต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัย โดยวัยเด็ก/วัยเรียนควรมีหลักสูตรที่ช่วยปลูกฝังพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ขณะที่วัยทำงานควรสร้างความตระหนักรู้ในการวางแผนทางการเงิน การลงทุน และการเก็บออม และกลุ่มผู้สูงอายุควรคำนึงถึงการใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็น และระมัดระวังในการก่อหนี้

5.ดำเนินนโยบายที่ไม่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้ หรือกระทบต่อการชำระหนี้ของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีหนี้สะสมเป็นจำนวนมาก เช่น เกษตรกร เนื่องจากจะสร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม อาทิ การไม่ชำระหนี้ เพราะรอนโยบายพักชำระหนี้ของรัฐ หรือการก่อหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเงินในมือมากขึ้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่