มาเลเซียปฏิเสธ “แผนที่มาตรฐานของจีน” ฉบับล่าสุด ที่อ้างสิทธิขีดเส้นพรมแดนทางทะเล ลากยาวลึกเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ซึ่งรวมถึงพื้นที่นอกชายฝั่งเกาะบอร์เนียวของมาเลเซียด้วย
ความตึงเครียดในพื้นที่ทะเลจีนใต้ มีเพิ่มสูงขึ้นในน่านน้ำแห่งนี้ที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ในขณะที่จีนเริ่มแสดงจุดยืนที่มากขึ้น ในการอ้างสิทธิ์ของตัวเองเหนือทะเลจีนใต้ แม้ว่าในปี 2559 นั้น ศาลระหว่างประเทศจะตัดสินว่าแผนที่ “เส้นประ 9 เส้น” ของจีนนั้นไร้ซึ่งความชอบ และได้รับการแทนที่โดยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ปี 2525
ทั้งนี้ เส้นประ 9 เส้นลักษณะทรงคล้ายลิ้นของจีน อ้างอิงจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ของจีน ที่มีอายุตั้งแต่สมัยราชวงศ์เซี่ย หรือเมื่อเกือบ 4,000 ปีก่อน
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนได้สร้างด่านที่ตั้งทางทหารบนโขดหิน และจัดกำลังหน่วยยามชายฝั่งและกองกำลังติดอาวุธทางทะเลเข้าประจำการ ซึ่งบางครั้งนำไปสู่การเผชิญหน้ากับประเทศผู้อ้างสิทธิ์รายอื่น รวมถึงมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และไต้หวัน ที่ต่างเป็นชาติที่อ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้เช่นกัน
ทางการมาเลเซียได้ตั้งข้อสังเกตต่อแผนที่ใหม่ของจีน ซึ่งแสดงให้เห็นเส้นประ 9 เส้นอย่างชัดเจน โดยมาเลเซียระบุว่า แผนที่ดังกล่าวของจีนเป็น “การอ้างสิทธิ์ทางทะเลฝ่ายเดียว” และซ้อนทับกับการอ้างสิทธิของรัฐซาบาห์และซาราวักของมาเลเซีย
“มาเลเซียไม่ยอมรับการอ้างสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ตามที่ระบุไว้ใน ‘แผนที่มาตรฐานของจีนฉบับปี 2566’ ซึ่งขยายไปสู่พื้นที่ทางทะเลของมาเลเซีย” กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียระบุในแถลงการณ์ เมื่อช่วงวันพฤหัสบดี (31 ส.ค.) “แผนที่ดังกล่าวไม่มีผลผูกพันกับมาเลเซีย” กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียกล่าวย้ำ
นอกจากการขีดเส้นพรมแดนเหนือการอ้างสิทธิของชาติอื่นในทะเลจีนใต้ อินเดียยังได้ยื่นประท้วงอย่างรุนแรงต่อแผนที่ใหม่ของจีน โดยอินเดียระบุว่า แผนที่ดังกล่าวได้แสดงว่ารัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดีย และที่ราบสูงอักไซชิน เป็นดินแดนอย่างเป็นทางการของจีน ทั้งนี้ อินเดียกับจีนมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนร่วมกันมานานหลายทศวรรษ โดยก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวการปะทะกันของกองกำลังจากทั้งสองชาติเมื่อเร็วๆ นี้ในปี 2563
“เราปฏิเสธการอ้างสิทธิเหล่านี้ เนื่องจากไม่มีมูล ขั้นตอนดังกล่าวโดยฝ่ายจีนมีแต่ทำให้การแก้ปัญหาเรื่องเขตแดนมีความซับซ้อนเท่านั้น” อรินดัม บักชี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย กล่าวในแถลงการณ์
ในทางตรงกันข้าม ผู้สื่อข่าวสอบถาม หวังเหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ของอินเดียต่อจีน โดยทางการจีนกล่าวว่าแผนที่ดังกล่าวสะท้อนถึง “การใช้อำนาจอธิปไตยตามกฎหมาย” ของจีน “เราหวังว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะยังคงเป็นกลางและสงบ และงดเว้นจากการตีความประเด็นนี้มากเกินไป” เหวินกล่าวกับผู้สื่อข่าวในการบรรยายสรุปเมื่อวันพุธ (30 ส.ค.)
มาเลเซียกล่าวในแถลงการณ์ว่า ประเด็นอธิปไตยในทะเลจีนใต้นั้น “ซับซ้อนและละเอียดอ่อน” และมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไข ผ่านการเจรจาและการปรึกษาหารือตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงตามอนุสัญญา UNCLOS นอกจากนี้ มาเลเซียยังย้ำว่ามาเลเซียมีความมุ่งมั่นที่จะเจรจาเพิ่มเติม เพื่อจัดทำหลักปฏิบัติที่ “มีประสิทธิผลและเป็นสาระสำคัญ” ในทะเลจีนใต้ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ “รวดเร็ว” ต่อปัญหาดังกล่าว
ทางการมาเลเซียระบุว่า มาเลเซียจะมีการดำเนินการสำรวจน้ำมันและก๊าซนอกเกาะบอร์เนียวต่อไป แม้จะมีภัยคุกคามจากจีนก็ตาม ทั้งนี้ ในปี 2564 มาเลเซียได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตจีนมาประท้วง เพื่อต่อต้าน “การมีอยู่และกิจกรรม” ของเรือจีน ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะนอกชายฝั่งเกาะบอร์เนียวของมาเลเซีย
จีนยังสร้างความปั่นป่วนให้กับฟิลิปปินส์ ด้วยกิจกรรมของจีนในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ มีรายงานเหตุการณ์จำนวนหนึ่ง บริเวณสันดอนโทมัสที่ 2 หรือที่รู้จักในชื่อ สันดอนอายุนกิน ในฟิลิปปินส์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเกาะปาลาวันของฟิลิปปินส์ออกไปประมาณ 200 กิโลเมตร และมากกว่า 1,000 กิโลเมตรจากเกาะไห่หนาน ซึ่งเป็นเกาะหลักที่ใกล้ที่สุดของจีนแผ่นดินใหญ่
เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทางการฟิลิปปินส์ได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตจีนเข้าพบ หลังจากที่หน่วยยามชายฝั่งของจีนยิงปืนใหญ๋ฉีดน้ำใส่เรือลำหนึ่ง ที่พยายามจะเติมเสบียงให้กับลูกเรือชาวฟิลิปปินส์ในพื้นที่ใกล้สันดอนดังกล่าว ในขณะเดียวกัน เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทางการฟิลิปปินส์ยังได้ยื่นประท้วง หลังจากมีการกล่าวหาว่า จีนมีการควบคุม “เลเซอร์ระดับทหาร” ยิงใส่เรือของฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ ทางการจีนเข้าควบคุมสันดอนสการ์โบโรจากฟิลิปปินส์ หลังจากการเผชิญหน้ากันนานหลายเดือนในปี 2555 โดยจีนได้ยึดแนวปะการังมิสชีฟไปในปี 2538 และยึดหมู่เกาะพาราเซลจากเวียดนามไปในปี 2517
ที่มา: