วันนี้ (1 ก.ย.2566) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชหัตถเลขาพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมน ตรี จากโทษจำคุก 8 ปี เหลือเพียง 1 ปี เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งนายกฯ ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ จงรักภักดี และมีอาการป่วย ยอมรับการกระทำผิดและสำนึกในความผิด
เนื้อหาในราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ณ วันที่ 1 ก.ย.2566 โดยมีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มีดังนี้ตามที่นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร ยื่นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จำนวน 3 คดี
คดีที่ 1 คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 10/2551 ความผิดต่อหน้าที่ราชการ กำหนดโทษจำคุก 3 ปี คดีที่ 2 คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 10/2552 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กำหนดโทษจำคุก 2 ปี ซึ่งคดีที่ 1 กับคดีที่ 2 นับโทษซ้อนกันรวมกำหนดโทษจำคุก 3 ปี
และคดีที่ 3 คดีหมายเลขแดงที่อม.5/2551 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม กำหนดโทษจำคุก 5 ปี รวมกำหนดโทษจำคุก 8 ปี รับโทษมาแล้ว 10 วัน เหลือโทษจำคุก 7 ปี 11 เดือน 20 วัน อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
ความว่าเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อถูกดำเนินคดีและศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกดังกล่าวด้วยความเคารพในกระบวนการยุติธรรม ยอมรับผิดในการกระทำ มีความสำนึกในความผิด จึงขอรับโทษตามคำพิพากษา ขณะนี้อายุมาก มีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาพยาบาลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นั้น
ซึ่งความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ เหลือโทษจำคุกต่อไป อีก 1 ปี ตามกำหนดโทษตามคำพิพากษา เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคม และประชาชนสืบไป
ช่วงเช้าที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร ทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ และถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลขณะเดียวกันนายทักษิณ ก็บอกแล้วว่าพรรคการเมืองไม่เกี่ยวข้องด้วยกับการดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าเมื่อวานนี้ (31 ส.ค.) ได้รับเรื่องการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ จากครอบครัวของนายทักษิณ ที่กระทรวงยุติธรรมได้รายงานมาแล้ว และจะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
ส่วนขั้นตอนจากนี้ได้ตรวจความถูกต้อง ประสานส่งเรื่องตามขั้นตอน ยังบอกไม่ได้ว่าจะเสร็จเมื่อไร เพราะขึ้นอยู่กับพระราชวินิจฉัยและพระมหากรุณาธิคุณ
อ่านข่าว “วิษณุ” เผย ได้รับหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ “ทักษิณ” แล้ว
ไทม์ไลน์ทักษิณกลับไทย 10 วัน
สำหรับนายทักษิณ เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังหลบหนีคดีออกจากประเทศไทยไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2551 และเมื่อเดินทางกลับถึงไทย นายทักษิณ เข้าไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพียงแค่ 12 ชั่วโมง
จากนั้นในวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ นำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจ ด้วยให้เหตุผลว่ามีอาการป่วย และมีความเสี่ยงโดยเฉพาะโรคหัวใจ
ต่อมา 24 ส.ค.พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่า ยังไม่สามารถให้ใครเข้าเยี่ยม เนื่องจากอยู่ในช่วงการกักโรค 5 วัน นับตั้งแต่วันที่รับตัวเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ (23-27 ส.ค.) ซึ่งหลังจากนั้นจะสามารถเข้าเยี่ยมได้ตามปกติ ตามเวลาการให้เยี่ยมของโรงพยาบาลตำรวจ
กระทั่งเมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมาครอบครัว 10 คน ได้เข้าเยี่ยมนายทักษิณ ครั้งแรก ที่โรงพยาบาลตำรวจ และมีการแถลงอัปเดตอาการในวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา กระทั่งมีข่าวว่านายทักษิณ ส่งหนังสือยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ
ล่าสุดวันนี้ (1 ก.ย.) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชหัตถเลขาพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษนายทักษิณ จาก 8 ปีเหลือโทษจำคุก 1 ปี เหตุทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ
อ่านข่าว “แพทองธาร” เยี่ยม “พ่อ” รพ.ตำรวจ เตรียมแถลงอัปเดตอาการ พรุ่งนี้
เปิดขั้นตอนพระราชทานอภัยโทษเฉพาะบุคคล
สำหรับระยะเวลาการยื่นฎีกาทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย 1.ผู้ต้องโทษกรณีทั่วไป ยื่นได้ทันทีที่คดีถึงที่สุด 2.ผู้ต้องโทษประหารชีวิตต้องยื่นภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด
ขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ผู้ต้องโทษ (โทษประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน) ที่คดีถึงที่สุดแล้ว และผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องสามารถยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษผ่านเรือนจำ/ทัณฑสถาน หรือกระทรวงยุติธรรม หรือสำนักราชเลขาธิการ หรือกระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานทูต
หลังจากรับเรื่องแล้วกรมราชทัณฑ์จะส่งไปสอบสวนเรื่องราวยังเรือนจำ/ทัณฑสถานที่ควบคุมผู้ต้องโทษ จากนั้นจะเสนอความเห็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลงนาม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ
ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและสำนักราชเลขาธิการ เมื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเช่นไร ก็จะส่งผลฎีกาดังกล่าวให้กรมราชทัณฑ์ทราบ และดำเนินการ พร้อมทั้งแจ้งผลให้ผู้ยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ทราบ
หากพระราชทานอภัยโทษให้อาจจะเป็นการพระราชทานอภัยโทษให้ทั้งหมด โดยให้ปล่อยตัวไป หรือพระราชทานอภัยโทษให้เป็นบางส่วน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ส่วนในรายที่ไม่พระราชทานอภัยโทษให้ จะมีหนังสือสำคัญแจ้งผลฎีกา โดยอ้างพระราชกระแสว่า ความทราบฝ่าละลองธุลีพระบาทแล้ว มีกระแสให้ยกฎีกาหนังสือสำคัญดังกล่าว นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามแจ้งพระราชกระแส
อ่านข่าว
ทักษิณกลับไทย : “ทักษิณ” คืนกลับแผ่นดินเกิดในรอบ 17 ปี
กรมราชทัณฑ์ ยัน “ทักษิณ” แน่นหน้าอกส่งรพ.ตำรวจกลางดึก