หน้าแรก Voice TV ซะตากรรมชาวบ้านท่าเว่อ โดนไล่รื้อในช่วง คจก.ถูก ทวงคืนผืนป่า ในยุค คสช.

ซะตากรรมชาวบ้านท่าเว่อ โดนไล่รื้อในช่วง คจก.ถูก ทวงคืนผืนป่า ในยุค คสช.

47
0
ซะตากรรมชาวบ้านท่าเว่อ-โดนไล่รื้อในช่วง-คจกถูก-ทวงคืนผืนป่า-ในยุค-คสช.

ความเดือดร้อจาก คจก.ถูกไล่รื้อ อพยพออกจากที่ทำกินเรื่อยมา กลับต้องมาถูกทวงคืนป่าซ้ำเติมชาวบ้านท่าเว่อ กว่า 100 ครัวเรือน ถูกปิดป้ายตรวจยึดที่ดิน

เหมือนชีวิตชาวบ้านที่เป็นเพียงเกษตรกรคนธรรมดา ถูกรุมกระทำจากอำนาจรัฐ จำต้องลุกขึ้นมาสู้ หากไม่สู้แล้วทุกชีวิตในอนาคตของครอบครัว คงต้องกลายเป็นไร้ที่ดินทำกิน กลับไปเป็นลูกจ้างแรงงาน เหมือนที่ผ่านมาอย่างนั้นอีก

“ดั้งเดิมชาวบ้านตั้งถิ่นฐานทำกินอยู่อาศัยเป็นคุ้มต่างๆ เช่น คุ้มท่าเว่อใน,คุ้มท่าเว่อนอก, (คุ้มภูค้อกับภูคี) คุ้มน้ำจอก ,คุ้มลาดเลเต”

จากคำบอกเล่าของพ่อเฒ่า บ้านท่าเว่อ ม.7 ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ทำให้ได้รับรู้ว่า ที่เรียกเกันเป็นคุ้ม เพราะก่อนนั้นยังไม่มีชื่อบ้านตั้งกันอย่างเป็นทางการ กระทั่งชาวบ้านที่อยู่ทำกินมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี 2531 ได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นเป็นครั้งแรก จึงได้เป็นชื่อบ้านท่าเว่อ มานับแต่นั้น

ผู้เฒ่าแห่งบ้านท่าเว่อ ถือเป็นรุ่นแรกๆที่ติดตามพ่อกับแม่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่แถบนี้มาแต่เด็ก ซึ่งก็มีอีกหลายชีวิตที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานพร้อมๆกัน ในช่วงปี 2512 ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดละแวกใกล้เคียง เช่น โคราช บุรีรัมย์

“เราก็เป็นคนไทย จะไม่ให้มีที่ยืนในแผ่นดินนี้เลยหรือ แล้วอนาคตลูกหลานจะอยู่อย่างไร”

ผู้อาวุโส เล่าย้อนหลังถึงชะตากรรมชีวิตที่ถูกกระทำ ด้วยว่า เหมือนถูกรุมจากรัฐและหน่วยงานในพื้นที่ กลั่นแกล้ง เกิดความเดือดร้อนจนแทบสูญสิ้น ทั้งที่พวกเราเป็นเพียงเกษตรกรคนธรรมดา ทำประโยชน์การเกษตรบนพื้นที่ตนเอง แต่กลับถูกขับไล่ ทำอย่างกับพวกเราไม่ใช่คนไทย เพราะหลังจาก คณะ รสช.ทำรัฐประหาร เข้ายึดอำนาจ ได้มีโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม (คจก.) ปี 2534 ส่งผลทำให้ถูกอพยพออกจากพื้นที่ บางครอบครัวกลับบ้านเกิด หลายคนไม่มีทางเลือกจึงไปหารับจ้าง

“หลังยกเลิก คจก.ก็ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่อีก โดยในปี 2540 เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาขอพื้นที่เพื่อทำแปลงเพาะชำ ต่อมาก็ขยายออกไปเป็นแปลงทดลองบ้าง จนขยายเต็มพื้นที่ โดยอ้างโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ หลายครอบครัวจำต้องย้ายออก ไม่มีที่ไปก็ลงมาอาศัยอยู่กับญาติ ปัจจุบันยังไม่มีที่ทำกิน.มีแต่ที่อยู่อาศัย ส่วนเจ้าหน้าที่ก็รุกขึ้นไปหาพี้นที่ใหม่ ปลูกป่าเรื่อยมาจนถึงปี 2550”

กรณีสวนป่าภูคีในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูแลนคาด้านทิศเหนือ ชาวบ้านท่าเว่อ กว่า 100 ครัวเรือน ถูกปักป้ายตรวจยึดพื้นที่ทำกิน รวมพื้นที่จำนวนกว่า 2,000 ไร่ ตลอดจนมีการข่มขู่ ทําให้ไม่มีความปลอดภัยในการทำมาหากิน สิทธิที่เรียกร้องไม่ได้รับความสนใจ ทั้งโดนตัดฟันโค่นต้นยางฯ ทั้งต้นน้อยใหญ่ หลายคนอุตส่าห์เก็บสะสมเงินซื้อเบี้ยยางพารา จนอายุยางจะใด้รับผล ต้องมาถูกเจ้าหน้าที่ทหารและป่าไม้ ไล่ตัดทิ้ง

“จะให้ชาวบ้านที่ทำกินมากว่า 50 ปี ไม่ให้ทำกินอีกได้ยังไง หลายคนอายุก็แก่เฒ่าแล้ว อีกทั้งลูกหลานอีกหลายร้อยชีวิต ที่นาก็ไม่มี”

ด้านถาวร ชะรอยรำ ตัวแทนชาวบ้านท่าเว่อ บอกว่า ตามที่ คสช.มีนโยบายทวงคืนผืนป่า ได้สร้างความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง ทหารสนธิกำลังร่วมกับป่าไม้ เข้ามาตรวจยึดพื้นที่ทำกิน ช่วงเดือนเมษายน 2565 ต่อเนื่องมาถึงเดือนกรกฎาคม เป็นเหตุให้ไม่กล้าเข้าทำกินเพราะเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจฟ้องดำเนินคดีข้อหาบุกรุก

“พวกเรานัดหมายมาประชุมจะหาวิธีร่วมสู้กันอย่างไร ที่ผ่านมาโดนขับไล่ต้องหาบข้าวหาบของเครื่องครัวอพยพออกไปกันมากแล้ว บางคนก็แก่ชรา ชาวบ้านทำไร่ ใช้แค่จอบและเสียม ผลผลิตแทนที่จะได้มาถูกเจ้าหน้าที่ไล่ออก”

ตัวแทนชาวบ้านท่าเว่อ บอกอีกว่า หากไม่สู้ จะถูกทวงคืนที่ดินทำกินทั้งหมด จึงได้เข้าร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินกับเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน คปอ.จากนั้นได้เข้าประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาป่าสงวนแห่งชาติป่าภูแลนคาด้านทิศเหนือกรณีบ้านท่าเว่อ กับคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดชัยภูมิ (คทช.จ.ชย.) โดยมี รองผู้ว่าจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธาน

“ที่ประชุมเสนอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการตรวจยึดที่ดินทำกินบ้านท่าเว่อ และตรวจสอบโครงการปลูกป่า รวมทั้งให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากโครงการ คจก.และ ทวงคืนผืนป่า”

ในการประชุมครั้งล่าสุด ถาวร บอกว่า เป็นการประชุมครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 ที่ประชุมเสนอให้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ และตรวจสอบการดำเนินการตรวจยึดพื้นที่ ซึ่งสำนักจัดการรัพยากรป่าไม้อนุรักษ์ที่ 7 เห็นชอบในการตั้งคณะทำงานตรวจสอบและให้เพิ่มเติมหน่วยงานและภาคประชาชน รวมทั้งให้ชาวบ้านเเข้าดำเนินการเก็บเกี่ยวผลผลิตในพื้นที่ก่อน

ที่มา:สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่