‘พิเชษฐ์’ นั่งหัวโต๊ะถกตัวแทนพรรค แบ่งประธาน กมธ. ‘ภูมิใจไทย’ เล็ง ‘กมธ.ศึกษาฯ’ ด้าน ‘ปชป.’ หวัง ‘กมธ.พาณิชย์’ ส่วน ‘ไผ่ ลิกค์’ แจงได้กระทรวงเดียวกับ กมธ. ไม่เกี่ยวลดการตรวจสอบ แต่งานจะเดินเร็วขึ้น
วันที่ 4 ก.ย. ที่อาคารรัฐสภา พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานในการประชุมประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆเข้าร่วม ต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่แล้วเพื่อรับทราบสัดส่วนกรรมาธิการของแต่ละพรรคการเมือง
ก่อนเข้าประชุม ตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ยังสงวนท่าทีว่าสมาชิกพรรคของตนต้องการเป็นประธานคณะกรรมาธิการใดบ้าง แต่ก็มีบางส่วนยอมรับว่า ได้มีกรรมาธิการคณะที่หมายตาไว้
ด้าน ภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ที่มีสัดส่วนประธานกรรมาธิการ 5 ตำแหน่ง เผยว่า พรรคภูมิใจไทยต้องการประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา และคณะกรรมาธิการแรงงาน คณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และสาธารณภัย และคณะกรรมาธิการการปกครอง
ส่วน ชัยชนะ เดชเดโช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีสัดส่วนประธานกรรมาธิการ 2 ตำแหน่ง ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องการประธานคณะกรรมาธิการพาณิชย์ คณะกรรมาธิการคมนาคม คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค
สำหรับพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีสัดส่วนประธานกรรมาธิการ 1 ตำแหน่ง เสมอกัน เที่ยงธรรม โฆษกพรรค เผยว่า ต้องการประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้สอดคล้องกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
โดยเบื้องต้นพรรคชาติไทยพัฒนาได้ต่อรองกับพรรคเพื่อไทยลงตัวแล้ว แต่หากพรรคก้าวไกลต่อรองกับพรรคเพื่อไทยไม่ลงตัว ก็จะกระทบมาถึงพรรคชาติไทยพัฒนา เพราะพรรคก้าวไกลก็ต้องการกรรมาธิการคณะดังกล่าวเช่นกัน
ขณะที่ ไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ที่มีสัดส่วนประธานกรรมาธิการ 3 ตำแหน่ง กล่าวว่า ไม่ได้ต้องการคณะกรรมาธิการใดเป็นพิเศษ แต่ขออย่าให้มองว่าพรรคพลังประชารัฐได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงใด แล้วจะเป็นประธานของกรรมาธิการนั้น เพื่อลดการตรวจสอบ แต่อยากให้มองว่าหากเป็นกระทรวงและกรรมาธิการเดียวกัน จะทำให้การทำงานตามข้อร้องเรียนต่างๆ จะง่าย และรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม
สำหรับสัดส่วนของประธานกรรมาธิการของพรรคการเมืองต่างๆ คำนวณจากจำนวน สส. ที่แต่ละพรรคได้รับ ประกอบด้วย
พรรคก้าวไกล 10 ตำแหน่ง
พรรคเพื่อไทย 10 ตำแหน่ง
พรรคภูมิใจไทย 5 ตำแหน่ง
พรรคพลังประชารัฐ 3 ตำแหน่ง
พรรครวมไทยสร้างชาติ 3 ตำแหน่ง
พรรคประชาธิปัตย์ 2 ตำแหน่ง
พรรคชาติไทยพัฒนา 1 ตำแหน่ง
พรรคประชาชาติ 1 ตำแหน่ง
สำหรับสัดส่วนกรรมาธิการสามัญ ทั้งหมด 525 ตำแหน่ง ประกอบด้วย
พรรคก้าวไกล 158 ตำแหน่ง
พรรคเพื่อไทย 138 ตำแหน่ง
พรรคภูมิใจไทย 45 ตำแหน่ง
พรรคพลังประชารัฐ 42 ตำแหน่ง
พรรครวมไทยสร้างชาติ 3 ตำแหน่ง
พรรคประชาธิปัตย์ 26 ตำแหน่ง
พรรคชาติไทยพัฒนา 11 ตำแหน่ง
พรรคประชาชาติ 10 ตำแหน่ง
พรรคไทยสร้างไทย 6 ตำแหน่ง
พรรคชาติพัฒนากล้า 2 ตำแหน่ง
พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 ตำแหน่ง
พรรคเสรีรวมไทย 1 ตำแหน่ง
พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 ตำแหน่ง
พรรคใหม่ 1 ตำแหน่ง
พรรคท้องที่ไทย 1 ตำแหน่ง
พรรคเป็นธรรม 1 ตำแหน่ง
พรรคพลังสังคมใหม่ 1 ตำแหน่ง
พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 ตำแหน่ง