หน้าแรก Thai PBS เปิดความหมาย “การถวายสัตย์ปฏิญาณ”

เปิดความหมาย “การถวายสัตย์ปฏิญาณ”

80
0
เปิดความหมาย-“การถวายสัตย์ปฏิญาณ”

ความหมาย “การถวายสัตย์ปฏิญาณ”

การแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงเป็นประมุขแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่ง องคมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษา และ ตุลาการ ต้องกระทำก่อนเข้ารับหน้าที่

การถวายสัตย์ปฏิญาณต้องกระทำต่อหน้าพระพักตร์ขององค์พระมหากษัตริย์ และ การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทำต่อพระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้ ในระหว่างที่ยังมิได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้ซึ่งต้องถวายสัตย์ปฏิญาณปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนก็ได้

ทั้งนี้ การถวายสัตย์ปฏิญาณมีความแตกต่างกับการปฏิญาณตน คือ

การถวายสัตย์ปฏิญาณต้องกระทำต่อหน้าพระพักตร์ขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ

ในขณะที่การปฏิญาณตนเป็นการกระทำต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์หรือพระบรมฉายาลักษณ์ขององค์พระมหากษัตริย์

ความเป็นมาของการถวายสัตย์ปฏิญาณ

ประเพณีการกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานตน มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ประเพณีนี้เรียกว่า “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา”

ในหนังสือพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวชื่อ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” เรียกว่า “พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล” หรือบางทีเรียกว่า “ถือน้ำพิพัฒน์สัจจา” ภายหลังประเพณีนี้ถูกยกเลิกไปหลังจากที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ.2475

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล หรือ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยานี้ขึ้นใหม่

สำหรับผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ได้แก่ ทหารและตำรวจ ที่ได้ประกอบวีรกรรมด้วยความกล้าหาญ เสียสละ และมีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติในการต่อสู้กับศัตรูของบ้านเมือง จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีชั้นอัศวิน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถึงแม้ว่าพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาครั้งนี้ จะมิได้กระทำกันในบรรดาข้าราชการทั้งหมดดังเช่นเมื่อสมัยก่อนก็ตาม แต่ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นการฟื้นฟูพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

กล่าวกันว่า คำสัตย์ปฏิญาณ หรือ คำสาบานของผู้ที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2512 ปรากฏเป็นถ้อยคำที่ได้ปรับแต่งขึ้นใหม่ เพื่อให้สมกับกาลสมัย

เพราะเดิมนั้น ใช้ถ้อยคำที่เป็นภาษาไทยโบราณ สำหรับการอ่านโองการแช่งน้ำและการชุบพระแสงศาสตราวุธนั้น พระราชครูพราหมณ์ เป็นผู้กระทำโดยขอให้น้ำพระพิพัฒน์สัตยา มีฤทธิ์มีอำนาจ อาจบันดาลให้ผู้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นไปตามคำสาบานแล้ว ยังสาปแช่งผู้ที่คิดทรยศไม่ซื่อตรง แต่ได้ให้พรต่อผู้ที่ตั้งอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และมีความกตัญญู ส่วนคำสัตย์ปฏิญาณนั้น มีผู้อ่านนำ โดยให้ผู้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นผู้ว่าตาม เพื่อที่จะให้มีความซื่อตรงจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ต่อชาติบ้านเมือง และต่อหน้าที่การงาน

เมื่อจบแล้วให้นำพระแสงศาสตราวุธต่างๆ ลงชุบในน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ครั้นแล้ว ให้นำน้ำซึ่งผ่านพิธีกรรมต่างๆ แล้วนั้น ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้เสวยด้วย ถ้วยสำหรับตักน้ำพระพิพัฒน์สัตยานั้นเคยปรากฏจารึกเป็นอักษรขอมว่า “สจฺจํ เว อมตา วาจา”

ฉะนั้นผู้ที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาจึงต้องถือว่าตนเป็นผู้ที่ได้ดื่มน้ำสาบานร่วมกับพระมหากษัตริย์ผู้เป็นจอมทัพ

แม้ว่าในปัจจุบัน คนรุ่นหลังอาจจะไม่ค่อยได้เห็นพิธีการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาแล้วก็ตาม แต่การกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ หรือการสร้างความมั่นคงทางจิตใจซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับการถือน้ำพิพัฒน์สัตยานี้ ก็ยังมีการกระทำในรูปการปฏิญาณหรือการสาบานอยู่อีกไม่น้อย เช่น ในวงราชการทหาร ตำรวจ ลูกเสือ แพทย์ และสถานศึกษาอื่นๆ เช่น เวลารับปริญญาบัตร เป็นต้น อีกทั้งในรัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติไว้ให้กระทำด้วยเช่นกัน

การถวายสัตย์ปฏิญาณตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 161 ได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ก่อนการเข้ารับตำแหน่งของ รัฐมนตรี ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ

ที่มา : สถาบันพระปกเกล้า, หอสมุดรัฐสภา 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่