หน้าแรก Voice TV จีนจ่อห้ามใส่เสื้อผ้า-สิ่งของแปลก อ้างเหตุเป็นวัตถุ “ทำลายความรู้สึกชาติ”

จีนจ่อห้ามใส่เสื้อผ้า-สิ่งของแปลก อ้างเหตุเป็นวัตถุ “ทำลายความรู้สึกชาติ”

99
0
จีนจ่อห้ามใส่เสื้อผ้า-สิ่งของแปลก-อ้างเหตุเป็นวัตถุ-“ทำลายความรู้สึกชาติ”

จีนกำลังพยายามร่างกฎหมายห้ามการพูดและการแต่งกาย “เป็นอันตรายต่อจิตวิญญาณของชาวจีน” ก่อให้เกิดการถกเถียงในหมู่ประชาชนของประเทศอย่างรุนแรง โดยหากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ประชาชนจีนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด อาจถูกโทษปรับหรือจำคุก อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังไม่ได้ระบุถึงพฤติกรรม ที่ถือเป็นการละเมิดกฎหมายอย่างใด

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในจีน ต่างออกเรียกร้องให้ทางการจีนให้ความชัดเจนมากขึ้น ต่อร่างกฎหมายที่เป็นปัญหาฉบับดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวที่ล้นเกิน หลังจากที่ทางการจีนกำลังพยายามเปลี่ยนแปลงกฎหมายความมั่นคงสาธารณะ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวของจีนเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ

ร่างกฎหมายการแต่งกายของจีนนี้ ได้รับความสนใจจากสาธารณชนในทันทีหลังจากการมีการประกาศออกมา โดยบัญชีผู้ใช้ในโลกออนไลน์จีนจำนวนมาก ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่ากฎหมายดังกล่าว มีการบังคับใช้ที่มากเกินไป และมีความไร้สาระ

เนื้อหาของร่างกฎหมายจีนฉบับระบุว่า ผู้ที่สวมหรือบังคับผู้อื่นให้สวมเสื้อผ้าและสัญลักษณ์ที่ “บ่อนทำลายจิตวิญญาณ หรือทำร้ายความรู้สึกของประชาชาติจีน” อาจถูกควบคุมตัวนานสูงสุด 15 วัน และปรับเป็นเงินสูงสุด 5,000 หยวน (ประมาณ 24,000 บาท) นอกจากนี้ ผู้ที่สร้างหรือเผยแพร่บทความ หรือสุนทรพจน์ที่มีลักษณะบ่อนทำลายความรู้สึกคนในชาติ อาจได้รับโทษเช่นเดียวกันกับกรณีการแต่งตัวที่ผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอในร่างกฎหมาย ที่จะห้ามไม่ให้มีการ “ดูหมิ่น ใส่ร้าย หรือละเมิดชื่อของวีรบุรุษและผู้พลีชีพในท้องถิ่น” รวมถึงการสร้างการก่อกวนรูปปั้นอนุสรณ์สถานของวีรบุรุษในอดีตอีกด้วย

บนโลกออนไลน์จีน มีผู้คนตั้งคำถามว่าผู้บังคับใช้กฎหมายจีน สามารถตัดสินได้เพียงฝ่ายเดียวอย่างไร ว่าเมื่อใดที่ “ความรู้สึก” ของประเทศจีนนั้นได้รับ “ความเจ็บปวด” พร้อมกันนี้ ผู้ใช้รายหนึ่งโพสต์บนแพลตฟอร์มเว่ยป๋อกล่าวว่า “จะนับการสวมสูทและเนคไทไหม ลัทธิมาร์กซิสม์มีต้นกำเนิดในโลกตะวันตก การมีอยู่ของมันในจีนจะถือเป็นการทำร้ายความรู้สึกของชาติด้วยหรือไม่” 

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในจีนยังได้วิพากษ์วิจารณ์การใช้ถ้อยคำ ที่ดูคลุมเครือของกฎหมายนี้ โดยกล่าวว่ากฎหมายดังกล่าวอาจทำให้เกิดการละเมิดได้ โดย จ้าวหง ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และกฎหมายของจีน กล่าวว่า การขาดความชัดเจนในบทบัญญัติของกฎหมาย อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้ 

“จะเป็นอย่างไรหากผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการตีความเป็นการส่วนตัวเกี่ยวกับความเจ็บปวด และเริ่มตัดสินทางศีลธรรมของผู้อื่น ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของกฎหมาย” จ้าวระบุในบทความที่ตีพิมพ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (6 ก.ย.)

จ้าวยังกล่าวอ้างอิงถึงคดีหนึ่ง ที่ถูกพาดหัวข่าวในจีนเมื่อปีที่แล้ว หลังจากมีผู้หญิงที่สวมชุดกิโมโนรายหนึ่งถูกควบคุมตัวในเมืองซูโจว และเธอถูกกล่าวหาว่า “ทะเลาะวิวาทและยั่วยุก่อปัญหา” เนื่องจากเธอสวมชุดประจำชาติญี่ปุ่น ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่พอใจบนโซเชียลมีเดียของจีนอย่างมาก

ยังมีตัวอย่างของคดีอื่นๆ ของการปราบปรามที่ดูประหลาดในจีนอีกด้วย โดยในเดือน มี.ค.ของปีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจีนได้จับกุมผู้หญิงคนหนึ่ง ที่สวมเครื่องแบบทหารญี่ปุ่นจำลองในตลาดกลางคืน และเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผู้คนที่สวมเสื้อผ้าลายพิมพ์สีรุ้งถูกปฏิเสธ ไม่ให้เข้าร่วมคอนเสิร์ตของ ฉางฮุยเหม่ย นักร้องชาวไต้หวัน ที่จัดขึ้นในกรุงปักกิ่งอีกด้วย

“การสวมชุดกิโมโนเป็นการทำร้ายความรู้สึกของชาวจีน การกินอาหารญี่ปุ่นถือเป็นการบ่อนทำลายจิตวิญญาณของชาตินั้น เมื่อไรกันที่ความรู้สึกและจิตวิญญาณของประชาชาติจีน ที่ผ่านการทดสอบตามกาลเวลากลับเปราะบางขนาดนี้” ผู้ใช้นามปากกาว่า หวังอู๋สี ซึ่งเป็นนักเขียนนักวิจารณ์สังคมออนไลน์ยอดนิยมคนหนึ่งของจีนระบุ

ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ที่ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน พยายามกำหนดการนิยามแบบอย่างอันดีงามต่อพลเมืองชาวจีนครั้งใหม่ นับตั้งแต่สีขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีจีนในปี 2555 นอกจากนี้ ในปี 2562 พรรคคอมมิวนิสต์จีนของสียังได้ออก “แนวทางปฏิบัติด้านศีลธรรม” ซึ่งรวมถึงคำสั่งต่างๆ ที่บังคับใช้ต่อชาวจีน เช่น ความสุภาพ การเดินทางโดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และการมี “ศรัทธา” ในตัวสีและพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-asia-china-66737272?fbclid=IwAR3smtM-ChDnJHi3d3B4QAsJqCoSDzX-agAZnI7YR23LV9GOIJMT4asyxn4

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่