“ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์” ย้อนอดีตสมัยเป็นเด็ก ป.5 ที่โรงเรียนวัดธาตุทอง เริ่มต้นเตะฟุตบอลเล่นกับเพื่อนๆ เรื่อยยาวจนถึงชั้นมัธยม โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ว่าในสมัยนั้นบอลที่ใช้เล่นก็เป็นเพียงลูกบอลพลาสติกธรรมดา แต่อาศัยวิธีผ่าเป็น 2 ท่อนแล้วนำมาประกบกัน เพื่อให้ลูกบอลแน่น เตะแล้วมีน้ำหนัก ถ้าไปเล่นสนามที่ใหญ่หน่อย จะหาลูกวอลเลย์บอลที่เหี่ยว เอาไปยัดไว้ในลูกฟุตบอลพลาสติก แล้วเตะเล่นกับเพื่อน
เตะบอลในสนามการเมือง
จตุพรเปรียบว่า ไหวพริบ ปฏิภาณที่ได้จากการเตะบอลเล่นกับเพื่อนๆ เอามาใช้ในสนามการเมืองได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการส่งบอล ยิงประตู ผ่านบอลไปสู่ผู้เล่นคนอื่น ทุกอย่างคือศิลปะที่สร้างเป็นทักษะให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ เขายกตัวอย่างว่า การเตะบอลพลาสติกยากกว่าเตะบอลหนัง เพราะทั้งเล็ก สนามแคบ และ พื้นสนามปูน ทำให้การเดินทางของลูกบอลไปเร็วและไร้ทิศทาง
แต่ทุกอย่างต้องมาจากความเข้าใจ ถ้าเข้าใจว่าเล่นยังไง จะไม่ยากและไม่น่ากลัว ปัญหาทุกวันนี้มาจากความไม่เข้าใจจนก่อให้เกิดความตกใจกลัว
ปัญหาการเรียกร้องเรื่องใดๆ ต้องเข้าใจและไม่ตกใจ เมื่อปรากฏการณ์มาแล้ว ให้มองอย่างเข้าใจ พอเข้าใจแล้วก็จะเห็นว่าแท้ที่จริงไม่มีอะไร
“ก้าวไกล” เร็ว แรง ควบคุมยาก แต่ถ้าเข้าใจย่อมไม่น่ากลัว
หากเปรียบเทียบความเร็ว ควบคุมแรงบังคับทิศทางได้ยาก เสมือนพรรคก้าวไกล จตุพรมีท่าทียอมรับอยู่บ้าง แม้จะไม่เห็นตรงทั้งหมด โดยมองว่า หากมอง “ก้าวไกล” ด้วยความต่อต้านทุกอย่าง เราก็จะมองเขาอย่างไม่เข้าใจ
แต่ถ้ามองแบบไม่อคติ ไม่ต่อต้าน จะได้เห็นว่า ก้าวไกล ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าที่คนอื่นกลัวเลย
สมัยที่ลงสนามปูนเตะบอลพลาสติกแรกๆ จับบอลยังยาก กุมฟุตบอล การเลี้ยง การส่ง การยิงประตู มันจะยากไปเสียหมด แต่เมื่อเข้าใจแล้ว มันง่ายไปหมด วันนี้ก็เฉกเช่นเดียวกันที่ตนเองไม่ได้มองว่าพรรคก้าวไกลน่ากลัวไปเสียทั้งหมด เพียงแต่ควรมองอย่างเข้าใจ
ลูกบอลพลาสติก จะเคลื่อนไหวเร็วหน่อย เพียงแต่เราต้องรับความเร็วนั้นให้ได้ แต่ถ้ารับความเร็วไม่ได้ ก็จะกลายเป็นความน่ากลัว ทำให้เราช้าไป 1 ขยัก
แต่ถ้าเรารู้ว่า เราอายุมากแล้ว เราก็ไปดักรอ
รอรับลูกบอลที่มาด้วยความเร็ว ตามวิธีตามประสาคนที่อายุมากขึ้น ก็น่าจะดี
อ่าน : มุมความคิด “จตุพร พรหมพันธุ์” คู่ขัดแย้งใหม่ ไม่น่ากลัว