หน้าแรก Thai PBS “รสนา” เสนอรัฐบาล “ปรับโครงสร้างพลังงาน – คุมเก็บภาษีสรรพสามิต”

“รสนา” เสนอรัฐบาล “ปรับโครงสร้างพลังงาน – คุมเก็บภาษีสรรพสามิต”

72
0
“รสนา”-เสนอรัฐบาล-“ปรับโครงสร้างพลังงาน-–-คุมเก็บภาษีสรรพสามิต”

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) วิเคราะห์นโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า ทันทีที่ได้เริ่มงานวาระแรกที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาพลังงาน ทั้งราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้า ว่า เป็นไปได้แต่ห่วงจะเป็นแค่ช่วงโปรโมชันสั้น ๆ แค่ 3 เดือน แล้วกลับไปเหมือนเดิมหรือไม่

หากมองจากภาพรวมของการใช้พลังงานทั่วประเทศพบว่า แหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของไทยหลัก ๆ กลุ่มแรก จากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งแหล่งผลิตมาจากอ่าวไทย และเมียนมา และก๊าซ LNG จะนำเข้าจากต่างประเทศ กลุ่ม 2 คือ พลังงานหรือเชื้อเพลิงรูปแบบอื่น โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปขายส่งให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และภาคเอกชน

น.ส.รสนา กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ปตท.ดึงเอาก๊าซในอ่าวไทย มาให้บริษัทลูกของตัวเอง ที่เป็นบริษัทปิโตรเคมี ในราคาภายในประเทศ ไม่ใช่ราคาพูลก๊าซ (เป็นราคาเฉลี่ยก๊าซจากอ่าวไทย + ก๊าซจากเมียนมา + ก๊าซ LNG ) ที่ใช้คำนวณในการคิดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) เมื่อปิโตรเคมีใช้ก๊าซในอ่าวไทยมากขึ้น ทำให้สัดส่วนที่ไปอยู่ในพูลก๊าซของก๊าซในอ่าวไทยน้อยลง จึงต้องไปนำเข้า LNG

ปัญหาค่าไฟฟ้าที่แพง ส่วนหนึ่งเกิดจากต้นทุนก๊าซ LNG ที่นำเข้ามาดังนั้นสิ่ง รัฐบาลเศรษฐา 1 ทำได้เลย ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และยังควบตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง คือ สามารถกำหนดได้เลยว่า จะให้บริษัทลูก ของ ปตท. ต้องมาซื้อก๊าซนั้นในราคาพูลก๊าซ ไม่ใช่ไปใช้ราคาในประเทศ

ไม่อนุญาตเอกชน สร้างโรงไฟฟ้าขายไฟ “กฟภ.” เพิ่ม

นอกจากนี้ น.ส.รสนา ยังเสนอว่า ในช่วง 4 ปีของรัฐบาลเพื่อไทยจะต้องไม่ทำสัญญาให้เอกชนมาสร้างโรงไฟฟ้าขายไฟให้ กฟภ.เพิ่ม เพราะปัจจุบัน ไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรองเกินกว่าความต้องการมาก เช่น ผลิตได้อยู่ที่ 50,000 เมกะวัตต์ แต่ใช้อยู่ที่ 30,000 เมกะวัตต์

ขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนที่รัฐบาลทำสัญญานั้นไม่ว่าจะได้ผลิตหรือไม่ แต่รัฐบาลก็ต้องจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” แต่ละปีที่ผ่านมาต้องเสียค่าความพร้อม อยู่ที่ 84,000 ล้านบาท และกลายมาเป็นค่า FT ในแต่ละงวด ที่ประชาชนต้องแบกรับ ดังนั้นรัฐบาลสามารถเจรจาลดค่าความพร้อมจ่ายลงได้หรือไม่ ส่วนที่จะเข้ามาทำสัญญาใหม่ให้ตัดทิ้งไป เนื่องจากจะต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งนั้น

น.ส.รสนา ตั้งข้อสังเกตว่า พรรคการเมืองหรือรัฐบาลมีกลุ่มทุนพลังงานที่เป็นสปอนเซอร์ทำให้รัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้ เพราะต้องมีรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มทุน ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟ ค่าพลังงานแพง เข้าใจว่าการทำธุรกิจเอกชนต้องได้กำไร แต่ทำสัญญาซื้อไฟฟ้าไปเรื่อยควรต้องหยุด เพราะนำเข้ามาแล้วจะเป็นภาระและกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ขณะนี้สัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีสูงมาก หากดูต้นทุนการผลิตสินค้าในภาคการผลิต 100 บาท โลจิสติกส์ต่อจีดีพีของประเทศไทยคือ 20% หากเทียบเพื่อนบ้านสิงค์โปร์ 8% มาเลเซีย 13% หมายถึงใน 100 บาท มีต้นทุนค่าขนส่งค่าพลังงาน 20 บาท ในขณะที่มาเลเซียมีต้นทุน 13 บาท ฉะนั้นเศรษฐกิจภาคการผลิตมันยากเพราะต้นทุนสูง

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องมองว่าเรื่องของพลังงานเป็นต้นทุนสำคัญของภาคการผลิตและค่าครองชีพของประชาชน ฉะนั้นจะดูแลสปอร์เซอร์ก็ต้องดูแลกันแค่พอประมาณ ไม่ได้ปล่อยให้รวยกันอู่ฟู่ ในขณะที่ประชาชนต้องมาใช้จ่ายค่าไฟ ค่าน้ำมัน แพงขนาดนี้

หนุนใช้ “โซล่า ลูป” พลังงานงานทางเลือก

น.ส.รสนา ระบุว่า มีข้อมูลจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ระบุว่าภายในไม่เกิน 10 ปี หรือประมาณปี พ.ศ. 2573 จะมีการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ต้นทุนค่าไฟจะเหลือหน่วยละ 1 บาท ฉะนั้นโรงไฟฟ้าที่ไปทำสัญญาแล้วอยู่ในระบบ ต้องเข้าสู่ระบบอีก 3 ปี 5 ปี ต่อไปจะกลายเป็นขยะ เพราะทำสัญญาระยะยาวครั้งละ 25 ปี

ดังนั้นจึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง คือ สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ เปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยการติดตั้ง “โซล่า ลูป” ไว้ใช้ที่บ้าน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เพราะที่ผ่านมาภาครัฐอ้างว่าจะสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน แต่ให้สิทธิเอกชนผูกขาด ไม่ยอมให้ประชาชนทำ

ชี้รัฐยังเมินคุมค่าการตลาดน้ำมัน “กลุ่มเบนซิน – แก๊สโซฮอล์”

เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค และตัวแทนองค์กรภาคประชาชน ได้ไปยื่นร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบกระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง ที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ละเลยไม่ควบคุม “ค่าการตลาดน้ำมัน” กลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันกลุ่มดังกล่าวเฉลี่ยสูงกว่า 2 บาทต่อลิตร

น.ส.รสนา ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขในช่วง 7 เดือน คือ ม.ค.-ก.ค. 2566 พบว่า ค่าการตลาดเกินไป เป็น 3 บาท ซึ่งปัจจุบันน้ำมันกลุ่มเบนซินแก๊สโซฮอล์ ทุกชนิดมียอดขายรวมกันประมาณ 30 ล้านลิตรต่อวัน หรือ ผู้ใช้น้ำมันกลุ่มนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินสมควรรวมกันไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อวัน หรือ 900 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเท่ากับว่าผู้ใช้น้ำมันในกลุ่มนี้เสียประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 6,300 ล้านบาท

ส่วนดีเซลค่าการตลาด อยู่ที่ 1.65 – 1.70 สตางค์ต่อลิตร แต่บางครั้งกลับปล่อยให้ค่าการตลาดสูง ล่าสุดวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ค่าการตลาด อยู่ที่ 2.35 สตางค์ต่อลิตร เกินมา 70 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งในแต่ละวันดีเซลมียอดขายรวมกัน 70 ล้านลิตรต่อวัน เท่ากับได้เงินเกินไป 49 ล้านบาท

ขณะที่น้ำมันดีเซล รัฐบาลระบุว่า หากจะลดต้องดูโครงสร้างราคาน้ำมันจะมีส่วนของเนื้อน้ำมันกับส่วนของค่าการตลาดที่เอกชนจะได้ แต่ส่วนที่รัฐจะได้ คือ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีเวก และกองทุนน้ำมันอีก 2 กองทุน กองทุนน้ำมันถูกทำให้เป็นตัวหลบซ้อน “ราคาที่เป็นจริง”

ภาษีสรรพสามิตในกลุ่มดีเซล เก็บอยู่ที่ 5.99 สตางค์ แล้วไปล้วงเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชย 6.43 สตางค์ แต่กลายเป็นว่า กองทุนน้ำมัน คือหนี้ของประชาชน รัฐเก็บเงินสูงมาก ภาษี 6 บาท แล้วไปล้วงเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชย ส่วนใหญ่ไปชดเชยภาษีที่รัฐได้ไป แต่เพื่อที่จะคุมราคาให้อยู่ที่ 31.94 บาท

น.ส.รสนา กล่าวว่า หากรัฐบาลจะลดราคาฯควรจะจัดการที่ตัว “ภาษีสรรพสามิต” ซี่งที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐไม่ลดราคาให้ประชาชนเก็บเป็นภาษี และมีการจัดเก็บภาษีได้กว่า 200,000 ล้านบาท โดยในช่วงปี 2563 เก็บได้ 230,000 ล้านบาท ซึ่งในฐานะที่นายเศรษฐาควบตำแหน่ง รมว.คลัง อยากเสนอให้กำหนด การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน โดยเก็บในแต่ละปีไม่เกิน 100,000 ล้านบาท ไม่ใช่เพียงเป็นการลดชั่วคราว แล้วกลับไปเก็บใหม่เหมือนเดิม

ปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 31.94 บาท ลดภาษีเลย 5 บาท เก็บภาษีแค่ 99 สตางค์ – 1 บาท ราคาน้ำมันดีเซลจะเหลือ 26.94 สตางค์ ขึ้นอยู่ที่ว่าจะขายน้ำมันดีเซลให้ประชาชนในราคาเท่าไร ดังนั้นจึงต้องกันไม่ให้กองทุนน้ำมันเข้ามารีดเงินตรงนี้ไป เพราะพอลดราคาลงมาแล้ว จะเกิดช่องว่าง กลายเป็นว่ากองทุนน้ำมันก็จะเก็บเงินจากคนใช้น้ำมันอ้างว่าต้องไปใช้หนี้ ไม่ได้ไปลดราคาให้ประชาชน มองว่ากองทุนน้ำมันก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข

น.ส.รสนา กล่าวว่า โครงสร้างราคาน้ำมันของไทย มีทั้งต้นทุนเนื้อน้ำมัน บวกกับภาษี เงินเข้ากองทุนน้ำมัน และค่าการตลาด ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมัน แพงกว่าหลายประเทศ ส่วนที่ผู้ประกอบการได้คือ เนื้อน้ำมันและค่าการตลาด ซึ่งควรจะถูกคุม เช่นค่าการตลาดของกลุ่มเบนซิน 2 บาท ต้องคุมให้ได้ กลุ่มดีเซลอยู่ที่ 1.70 ให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะทำให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค

รัฐบาลต้องยอมรับว่าน้ำมันไม่ใช้สินค่าฟุ่มเฟื่อย แต่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่ไม่ควรจะเอากำไรสูงสุด ตามกลไกตลาดเสรี ในฐานะที่นายกฯเป็นประธาน กพช. ตัดสินใจได้เลย แต่ปัญหาจะกล้าหรือไม่ เพราะสามารถลดราคาได้ถึง 1 บาท- 1.5 สตางค์ต่อลิตร

“ประเทศเราโรงกลั่นน้ำมันกลั่นได้เหลือใช้ ส่งออก น้ำมันที่ส่งออกเป็นสินค้าติด 1 ใน 5 ทำไม่ถึงไม่ขายน้ำมันให้คนไทยเทียบเท่าราคาส่งออก จะได้ไม่ต้องนำเข้า ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ว่ารัฐบาลจจะกล้าทำหรือไม่ หากกล้าทำ เนื้อน้ำมัน ค่าการตลาด ก็จะทำให้ผู้ประกอบการไม่เอากำไรจนเกินควร” อดีต สว.รสนา ทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปรับ “รังนกกระจอก” เศรษฐายังไม่ทันสอย ก็ถอยเสียแล้ว

รมว.พลังงานชงลดราคาน้ำมัน-ไฟฟ้า จ่อเปิดนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรี

“อนุทิน” ไม่ชินถูกเรียก มท.1 พร้อมแถลงนโยบายรัฐบาล

ครม.ชุดใหม่ เตรียมเข้าถวายสัตย์ฯ ก่อนปฏิบัติหน้าที่

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่