หลังจากสภากรุงเทพฯ ได้ตัดงบติดแอร์ห้องเรียนอนุบาลไป 219 ล้านบาท เพจสำนักการศึกษาโพสตร์ชี้แจงความจำเป็นเรื่อง PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสมองของเด็ก
เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2566 เพจสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร โพสต์เปิดเผยข้อมูลจากเอกสารร่างงบประมาณ ‘ปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น ชั้นอนุบาล’ ปี 2567 หลังจากที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้ตัดงบดังกล่าวออก
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2566 สภากรุงเทพฯ พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีมติตัดงบประมาณ ‘โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น ชั้นอนุบาล 6 กลุ่มเขต’ ของสำนักการศึกษาในวงเงิน 219,339,000 บาท โดยกรรมการวิสามัญฯ ที่นำเสนอเรื่องนี้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากไม่คุ้มค่ากับงบประมาณในการปรับปรุง การปรับปรุงห้องเรียนโดยการจัดซื้อเครื่องปรับอากาศ อาจเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกวิธี พร้อมเสนอการแก้ปัญหาด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อกรองฝุ่น
เพจสำนักงานการศึกษา กรุงเทพฯ ระบุข้อมูลวิจัยของ WHO (World Health Organization) ที่ว่าฝุ่น PM2.5 ส่งผลต่อสุขภาพเด็กโดยตรง โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีซึ่งมีความเสี่ยงทางสุขภาพมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันปอดและสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ เพราะโดยปกติแล้วปอดจะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุ 6 ปีขึ้นไป นอกจากนี้เด็กยังมีอัตราการหายใจมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้มีโอกาสหายใจรับ pm 2.5 ได้มากกว่า
เพื่อลดความกังวลของผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องจัดห้องปลอดฝุ่น (Clean Air Shelter) สำหรับกลุ่มเด็กอนุบาล อายุ 3-6 (อนุบาล 1 – อนุบาล 2) ตามมาตรการแนวทางการทำห้องปลอดฝุ่นสำหรับบ้านเรือนและอาคารสาธารณะ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยนำรูปแบบห้องปลอดฝุ่นและระบบฟอกอากาศอามาปรับปรุงห้องเรียนชั้นอนุบาล 6 กลุ่มเขต รวม 429 โรงเรียน 1,743 ห้องเรียน 36,891 คน จากงบประมาณทั้งหมด 219 ล้าน
(1) งบก้อนนี้ไม่ใช่แค่การซื้อเครื่องปรับอากาศ แต่ครอบคลุมถึงการปรับปรุงห้องเรียนระบบเปิดให้เป็นระบบปิดได้แก่ การกรุแผ่นอะคริลิคใสบริเวณช่องระบายอากาศเดิมพื้นที่รวม 20 ตารางเมตรและยาแนวซิลิโคนโดยรอบ ห้องเรียนระบบเปิดทั้งหมด 888 ห้อง
(2) แนวทางการเลือกเครื่องปรับอากาศ ขนาดไม่ต่ำกว่า 30,000 btu จำนวน 2 เครื่อง/ห้อง ห้องเรียนขนาด 49 – 64 ตรม. ความสูง 3.5 เมตร คำนวณจากค่าเฉลี่ยของห้องเรียนในโรงเรียนสังกัดกทม. ตามปัจจัยต่างๆ ได้แก่ขนาดของห้อง และค่า Cooling load หรือค่าความร้อนที่เกิดขึ้นภายในแต่ละห้องซึ่งส่งผลจากรูปแบบการใช้งาน คือเป็นห้องเรียนที่มีเด็กนักเรียนอยู่จำนวนมากและเปิดใช้งานในเวลากลางวัน โดยเลือกเป็นระบบ Inverter เนื่องจากประหยัดไฟได้มากกว่าปกติถึง 30 % และทำงานเงียบกว่าแอร์ธรรมดา จึงไม่รบกวนสมาธิเวลาเรียนและการนอนกลางวันของเด็ก
(3) เป็นการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพื่อเปิดใช้งานเฉพาะวันที่มีค่าฝุ่นสูง เพื่อให้เด็กอนุบาลสามารถเรียนและนอนกลางวันได้โดยไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัย และสามารถหลบภัยจากฝุ่นเข้ามาอยู่ในห้องปิดได้ในยามจำเป็น
(4) เอกสารที่แนบมา
– วัตถุประสงค์และความจำเป็น
– บัญชีราคาค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงงาน ประจําปี พ.ศ.2566 และบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์
– ใบประมาณราคา (work breakdown) งานปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาลรวมทั้ง 6 กลุ่มเขต
– รายการงบลงทุนค่าครุภัณฑ์เครื่องฟอกอากาศ ในร่างข้อบัญญัติงบประมาณปี 2567