หน้าแรก Voice TV ขอศึกษารอบด้าน แก้ 'น้ำท่วม น้ำแล้ง' อีสาน'เครือข่าย ปชช.' แนะ 'รบ.' อย่าฟังนักการเมือง

ขอศึกษารอบด้าน แก้ 'น้ำท่วม น้ำแล้ง' อีสาน'เครือข่าย ปชช.' แนะ 'รบ.' อย่าฟังนักการเมือง

83
0
ขอศึกษารอบด้าน-แก้-'น้ำท่วม-น้ำแล้ง'-อีสาน'เครือข่าย-ปชช'-แนะ-'รบ.'-อย่าฟังนักการเมือง

‘เครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขง’ แนะ ‘นายกรัฐมนตรี’ แก้ปัญหา ‘น้ำท่วม’ ‘น้ำแล้ง’ อีสาน จะต้องศึกษารอบด้านไม่ใช่ฟังแต่ ‘นักการเมือง’ และ ‘หน่วยงานราชการ’ ที่เกี่ยวข้อง

จากกรณีที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย วันที่ 8-9 กันยายน 2566 ซึ่งเมื่อวันที่ 8 กันยายน นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตลอดจนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมเขื่อนอุบลรัตน์และพบปะประชาชนอยู่ในพื้นที่ชลประทานและอยู่นอกพื้นที่ชลประทานเพื่อพูดคุยประเด็นปัญหาภัยแล้งผลกระทบจากเอลณีโญ่พื้นที่ทำกินและการบริหารจัดการน้ำ ทำให้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่ารัฐบาลนี้ต้องไม่ท่วม ไม่แล้ง เล็งผุดโครงการ โขง-เลย-ชี-มูล แก้ปัญหาภัยแล้งในภาคอีสาน เผยเตรียมชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ในขณะที่เครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงให้ความเห็นการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้จะต้องศึกษาให้รอบด้านหวั่นได้ไม่คุ้มเสียเหมือนบทเรียนโครงการโขง ชี มูล ที่ผ่านมา

โขง ชี มูล เลย 375207458_668449588680232_5080620400349091307_n.jpg

ด้านสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขง กล่าวว่า การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อดูปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2566 ซึ่งอาจจะมีนักการเมืองในพื้นที่พานายกรัฐทนตรีลงพื้นที่ ร่วมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้า ตัวกรมชลประทานหรือหน่วยงาน สทนช. เป็นต้น สิ่งที่พบคือ ปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้อย มีการกักเก็บน้ำที่น้อยลงซึ่งเราคงรู้ก็คือสาเหตุหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนำไปสู่การทำให้ปริมาณน้ำฝนลดลงนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ผมคิดว่ามันมีข้อมูลเชิงสถิติอยู่แล้ว

สุวิทย์มองว่าประเด็นที่หนึ่ง หน่วยงานรัฐเองหรือนายกรัฐมนตรีที่ลงมาพื้นที่ก็พูดเองว่าต้องผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคอีสาน โดยอ้างว่าเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ประเด็นที่สองการเดินหน้าผลักดันโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล ซึ่งโครงการนี้จะเป็นโครงการที่จะผันน้ำมาจากแม่น้ำโขง โดยทำท่อสูบน้ำขึ้นมาจากแม่น้ำโขงในพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำเลย อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย แล้วก็มาที่อำเภอสุวรรณคูหา มาต่อที่อำเภอเมืองหนองบัวลำภู ต่อมาที่อำเภอโนนสัง และอำเภออุบลรัตน์ จากนั้นมาลงที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เส้นทางหลายร้อยกิโล นี่คือโครงการผันน้ำโขงเลย ชี มูล ที่วางแผนไว้

ประเด็นที่คณะทำงานครือข่ายของภาคประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสานลงพื้นที่ศึกษาเส้นทางตามแผนโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล พบว่า 1.หน่วยงานรัฐไม่ได้ทบทวนว่าจริง ๆ แล้วปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงมันเพียงพอหรือไม่ที่จะสูบเข้ามา 2. ความคุ้มค่าของโครงผันน้ำ โขง เลย ชี มูล ที่จะเกิดขึ้นมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ 3.การเข้าถึงการใช้น้ำที่เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างชาวบ้านต่อการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะน้ำที่อยู่ใต้เขื่อนพอน้ำแล้งหน่วยงานภาครัฐก็บอกชาวบ้านให้หยุดทำนาก่อนอันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน แต่สิ่งสำคัญก็คือว่าเราไม่เคยพูดถึงการเข้าถึงการใช้น้ำทั้งหมดว่ามันมีความเท่าเทียมกันหรือไม่ 

อีกประเด็นหนึ่งก็คือว่าโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล สิ่งที่เราศึกษาและพบเห็นมาตลอดแม้แต่ในรายงานของคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คือ

(1) ให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติชะลอการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทบทวนความจำเป็นและเหมาะสมในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ทุกระยะ โดยมอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน ประสานให้เกิดการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล องค์กรผู้ใช้น้ำ ประชาชนผู้ใช้น้ำในพื้นที่ทั้ง 3 ลุ่มน้ำ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียและที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการ เพื่อร่วมกันปรึกษาหารือและทบทวนความจำเป็นเหมาะสมในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง โดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการเสนอทางเลือกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและวิถีชีวิตวัฒนธรรมการใช้น้ำในพื้นที่ของตน ภายใต้การสนับสนุนข้อมูลอย่างรอบด้านที่เพียงพอต่อการให้ข้อเสนอแนะและความเห็นก่อนการตัดสินใจ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการทบทวนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้

(2) ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เร่งรัดการจัดทำผังน้ำ และทบทวนผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ ผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนผู้ใช้น้ำ ได้มีส่วนร่วมอย่างครบถ้วน และเพื่อให้การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำ สอดคล้องกับความต้องการ ภูมินิเวศ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และวิถีชีวิตของประชาชนแต่ละพื้นที่อย่างยั่งยืน

(3) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาหลักเกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนสำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยนำหลักการและกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้ใช้น้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มาเป็นแนวทางประกอบการให้ความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ

ด้าน สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน กล่าวว่า การลงพื้นที่ภาคอีสานของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องนั้น มองว่า ก็เป็นแค่เพียงพิธีกรรมการลงพื้นที่เพื่อมาผลักดันโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ถ้าเรามองถึงเส้นทางการลงพื้นที่ครั้งนี้ ทั้ง ๆ ที่บทเรียนการจัดการน้ำท่วม น้ำแล้งที่ผ่านมา ของโครงการโขง ชี มูล เป็นโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยเมื่อ 30 ปีก่อน บทเรียนกรณีเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา แม่น้ำมูน เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร แม่น้ำชี จนถึงวันนี้โครงการ โขง ชี มูน ไม่เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจกล่าวอ้างไว้ว่าจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในภาคอีสาน เพราะการรวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำ อำนาจการตัดสินใจทางนโยบายถูกกำหนดอยู่ภายใต้ผู้มีอำนาจที่ไม่ได้เข้าใจภูมินิเวศ

สิริศักดิ์กล่าวอีกว่า ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ทุกพื้นที่ที่มีการดำเนินโครงการประชาชนกลับได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เช่น การถูกอพยพโยกย้ายออกจากถิ่นฐานบ้านเกิด การสูญเสียที่ดินทำกิน น้ำท่วมขังพื้นที่ทำการเกษตรยาวนาน การสูญเสียอาชีพประมงพื้นบ้าน การพังทลายของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ดินเค็มแพร่กระจาย ผลกระทบที่เกิดยังทำลายโครงสร้างทางชุมชน ตลอดจนยังทำลายระบบสิทธิการจัดการทรัพยากรแบบดั่งเดิม ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นได้สร้างความขมขื่นต่อประชาชนลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูนกัน

“ผมมีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อการลงพื้นที่ดังนี้ หนึ่งให้แก้ไขปัญหาจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น โครงการโขง ชี มูล เดิมให้เสร็จสิ้นเป็นรูปธรรม สองยุติโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล เพราะไม่ใช่คำตอบในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่จะใช้งบประมาณมหาศาลและอาจจะไม่คุ้มค่าการลงทุน และอาจจะจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน ระบบนิเวศน์ เหมือนโครงการโขง ชี มูล ที่ผ่านมา สามนายกรัฐมนตรีจะต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้านจริง ทั้งนิเวศลุ่มน้ำอีสาน เพื่อจะได้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคนกับทรัพยากรและรับฟังความคิดเห็นให้คลอบคลุม สี่การจัดการน้ำจะต้องมีหลากหลายรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ ไม่ใช่ฟังแต่นักการเมืองและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วกำหนดนโยบายขนาดใหญ่มายัดเยียดให้กับชาวบ้าน” ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่