หน้าแรก Voice TV 'ทวี สอดส่อง' ชี้ รัฐบาลดัน ‘ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน’ ในแผนปฏิบัติการระดับชาติ ชูเป็นวาระสำคัญ

'ทวี สอดส่อง' ชี้ รัฐบาลดัน ‘ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน’ ในแผนปฏิบัติการระดับชาติ ชูเป็นวาระสำคัญ

75
0
'ทวี-สอดส่อง'-ชี้-รัฐบาลดัน-‘ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน’-ในแผนปฏิบัติการระดับชาติ-ชูเป็นวาระสำคัญ

ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานประกาศแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 ชี้ รัฐบาลดัน ‘ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน’ ในแผนปฏิบัติการระดับชาติ ชูเป็นวาระสำคัญ

8 กันยายน 2566 ตั้งแต่เวลา 08.30-12.30 น. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดงานประกาศแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) เดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ขึ้นที่ The Portal Ballroom อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยมี พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธี และทางมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน หรือ CRC (Community Resource Centre Foundation) ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรบรรยายแลกเปลี่ยนด้วย

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวเปิดงานว่า ตนมีความยินดีที่ได้รับเกียรติให้มาเป็นประธานประกาศแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งแผนได้เดินทางมาแล้ว 4 ปี นับว่าเป็นโอกาสและสิ่งท้าทายที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในเรื่องของสิทธิมนุษยชน และความยุติธรรม แม้จะถูกมองว่าเป็นวาทกรรมแต่ก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากประเทศใดละเลยเรื่องสิทธิมนุษยชน จะนำมาสู่ความไม่สมดุล และเกิดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นกับผู้นำและคนในสังคม

“ความสำคัญของธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่นำไปสู่ความสมดุลประเทศไทย จึงนับว่าเป็นประเทศที่มีความกล้าหาญที่นำเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมาเป็นแผนเฉพาะ โดยเรามีกว่า 26 ประเทศ ที่กล้าหาญนำเรื่องนี้มาอยู่ในแผนเฉพาะ และยังเป็นแผนที่สอดคล้องของชาติที่กำหนดให้ปฏิบัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ 4 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดการรับรู้และจะต้องขับเคลื่อนต่อ” พ.ต.อ. ทวี กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังกล่าวด้วยว่าในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) นี้ มีประเด็นสำคัญครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านแรงงาน (2) ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (3) ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (4) ด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาตามลำดับ จนเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม อย่างเป็นรูปธรรม

“ประเด็นสำคัญคือ รัฐบาลยอมรับแล้วว่าแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 จะเป็นวาระสำคัญของประเทศ และผมอยากให้แผนนี้ได้เกิดผลในทางปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาของประเทศที่ยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวย้ำ

หลังจากนั้นจึงได้มีการเสวนา ในหัวข้อ “บทบาทของภาคส่วนต่าง ๆ กับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ ๒ : ความร่วมมือ ความท้าทายและความคาดหวัง”

นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า

ประการแรก ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ยังมีระดับที่แตกต่าง ทุกๆ องค์กร ทุกๆ ภาคส่วน ต้องทำความเข้าใจ ต้องสร้างการรับรู้ให้กับทุกคน ประการที่สอง การหมุนเวียน เปลี่ยนงาน เช่น เราให้ความรู้คนนี้ไปแล้ว ทำความเข้าใจเป็นเครือข่าย แต่ตอนหลังมีการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบ มันก็เป็นความท้าทายที่ต้องมีทำความเข้าใจกันใหม่ ความต่อเนื่อง ของนโยบาย ของแต่ละหน่วยงานกำหนด ถ้ามีความต่อเนื่องก็จะช่วยสนับสนุน การบังคับใช้แผนได้ด้วย

ประการที่สาม ความต้องการของแต่ละภาคส่วนที่มีความแตกต่างกัน เราเป็นองค์กรกลางก็ต้องอยู่ในการประสาน ที่จะให้สมดุลที่สุด การบังคับใช้ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เพราะว่าแผนไม่ใช่กฎหมาย ในการที่เราจะให้แต่ละหน่วยงานนำไปปฏิบัติ ทั้งภาครัฐ ธุรกิจ วิสาหกิจ เราต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ ต้องอาศัยความเต็มใจของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย เราก็ไม่ได้มีอำนาจทางกฎหมาย ในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนประเทศไทยเราเป็นผู้นำในภูมิภาค ก็มีความกดดัน หลายๆ ประเทศในภูมิภาคก็มองเราเป็นต้นแบบ

“อันนี้ก็จะเป็นความท้าทายที่จะถ่ายทอดให้เพื่อนบ้านของเรา ในส่วนของประเทศไทย ในส่วนที่เรามีความคาดหวัง แล้วก็มีการดำเนินการร่วมกันแน่นอน คือ ร่วมกับขับเคลื่อนแผนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มที่”

วัชรพงษ์ วรรณตุง ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า

อย่างแรกเรื่องความเข้าใจ เพิ่มเติมก็คือการมีส่วนร่วม อย่างในรัฐวิสาหกิจ ผมเข้าใจว่ารัฐวิสาหกิจทุกแห่งตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพียงแต่ว่าไปเกาะกลุ่มอยู่กับฝ่ายนโยบาย กับกลุ่มผู้ที่ได้ทำงานในเรื่องนี้ การส่งต่อลงไปยังบุคลากรภายในองค์กร อาจจะยังทำได้ไม่มากนัก ตรงนี้ก็จะเป็นอีกจุดหนึ่งในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และการรมีส่วนร่วมในการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตรงนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งในความท้าทายของรัฐวิสาหกิจด้วย

ประการที่สอง การที่จะขับเคลื่อนแผน NAP เรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการนำหลักการหรือแนวคิดที่สำคัญอย่างเช่น SDG, ESG หรือ BCG เป็นต้น มาปรับใช้ในเรื่องของการดำเนินธุรกิจของตัวองค์กร ตัวรัฐวิสาหกิจของเราเอง เราเป็นธุรกิจของรัฐซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน จริงๆ รัฐวิสาหกิจสามารถนำหลักการหรือแนวคิดเหล่านี้มาปรับกับตัวภารกิจของตัวเอง แล้วส่งต่อไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะทำให้กับขับเคลื่อนในเรื่องนี้เกิดประสิทธิภาพ แล้วก็ขยายวงกว้างได้อย่างดีพอสมควร

อีกประเด็นหนึ่งในเรื่องความท้าทายของตัวบริษัทในเครือ ตัวรัฐวิสาหกิจของเราไม่ได้ทำธุรกิจในต่างประเทศโดยตรง การลงทุน การดำเนินการผ่านบริษัทลูก การส่งผ่านนโยบายตรงนี้จำเป็นจะต้องมีการขับเคลื่อนอย่างจริงจังว่า เราจะรับนโยบายตรงนี้มาจากรัฐวิสาหกิจลูกอย่างไร ได้มีโอกาสตรวจประเมินหลายๆ หน่วย ความท้าทายอีกอย่างก็คือว่า การไปทำธุรกิจในต่างประเทศ เรื่องสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศก็จะมีประเด็นปัญหา การไปปรับใช้อะไรๆ ต่างอยู่พอสมควร

“รัฐวิสาหกิจมีความหลากหลาย มีศักยภาพที่ไม่เท่ากัน มีขนาดที่ไม่เท่ากัน แต่วันนี้เราก็เห็นแล้วว่าหลายๆรัฐวิสาหกิจได้ริเริ่มเข้ามาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ สำหรับ สคร. การผลักดัน การขับเคลื่อนดำเนินการตามแผน NAP แล้วก็เรื่องสิทธิมนุษยชน เราก็ยังคงต้องพัฒนากลไกการกำกับรัฐวิสาหกิจต่อไป”

วินิตา กุลตังวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า

บริษัทเรามีทั้งขนาดใหญ่กลางเล็ก ขีดความสามารถไม่เหมือนกัน ทรัพยากรที่มีไม่เท่ากัน Sector ยังหลากหลายด้วย ความท้าทายคือทำอย่างไรให้เขาสามารถเอามาเสริมสร้างความรู้ที่มันเหมาะกับตัวเองได้ ทำอย่างไรถึงจะตอบโจทย์ซึ่งมันมีประเด็น แล้วคู่ค้าล่ะ ถ้าเขายังทำตัวเองไม่ครบมันจะไปถึงคู่ค้าไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เราต้องพยายามใส่อะไรที่เราคิดว่าเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่มันตอบโจทย์ มันเหมือนเป็นโรคที่ต้องให้ยาให้ถูกจุด มันมีเรื่องกฎหมายอื่นๆ ที่เข้ามากระทบ

ในที่สุดมันเป็นแรงผลักดันให้บริษัทต้องปรับตัว เรามีเรื่อง EU Directive on Corporate Sustainability Due Diligence มาคาดหวังว่าตัวบริษัทไม่ใช่แค่ตัวใน EU ในที่สุดมันหนีไม่พ้นเรื่องของการประเมิน ไม่ว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม กับเรื่องสังคม มันเป็นมิติที่หนีไม่พ้น ทำอย่างไรให้ตัวเรายังอยู่ในเวที ในสปอร์ทไลท์ อันนี้เป็นความท้าทายที่เราก็คิดว่าทำคนเดียวไม่ได้ ไม่ว่าบริษัทในตลาด หรือนอกตลาด หรือรัฐวิสาหกิจเอง 

อีกหนึ่งความท้าทาย คือพอมีเกณฑ์ มีของ มีเครื่องมือ ในทางปฏิบัติทำอย่างไรให้มัน Business as usual ไม่ใช่ว่าคุณจะทำอะไรเพิ่ม แต่มันคิดอยู่ในบริบทของการทำธุรกิจได้ อันนี้เป็นความท้าทายที่เราอยากให้มัน Buy in เข้าไป ในกระบวนการทำธุรกิจ

“ในส่วนที่เราจะพากันไปได้อย่างไร ก็คือหนีไม่พ้นเรื่องความร่วมมือ ความร่วมมือทุกภาคส่วน ตัวบริษัทต้องลุกขึ้นมา คนที่มีศักยภาพ มีความรู้ เรามาช่วยกันทุกอย่างให้มันถูกต้องเพื่อช่วยกันแก้ แต่ไม่ใช่ไป blem and clem ใคร คิดว่าอันนี้เป็นประเด็นสำคัญ”

ส. รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า

การฟ้องคดีเเบบกลุ่ม เป็นเรื่องสำคัญที่เกิดขึ้น มีคดีที่มีการฟ้องในลักษณะ SLAPP ศาลก็มีการพิพากษาคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ หรือกรณีที่มีการชะลอโครงการ อย่างไรก็ตาม เราก็ยังพบว่า ในช่วงแผนที่ผ่านมามีการลักลั่นอยู่หลายๆ เรื่อง เช่น ในเรื่องกฎหมาย Anti-Slapp มาตรา 161/1 (กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง ไม่มีคดีไหนที่มีคำสั่งตามมาตรา 161/1 และ 165/2 เลย เรามองว่าต้องแก้ไขกฎหมายไต่สวนมูลฟ้องก่อน ซึ่งหากไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องกฎหมายการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เราจะพัฒนาในกฎหมายอย่างไร การให้ความสำคัญในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน การจัดรับฟังความคิดเห็นทำเป็นเพียงพิธีกรรม ไม่ได้เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ได้รับฟังความเห็นแท้จริง

กรณีคดีทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่คำพิพากษาอ้างตามระเบียบสำนักนายก คือถ้าเป็นโครงการรัฐต้องมีการจัดรับฟัง และต้องเปิดเผย แต่ที่ทำงานมายังไม่เคยเห็นโครงการไหนเปิดเผยเลย ต้องไปขอ กฎหมายการรับฟังความคิดเห็น ภาคประชาสังคมยังไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการร่าง

กรณีประชาชน 8 จังหวัด ที่ใช้น้ำโขงในการดำรงชีพ หน่วยงานรัฐต้องดูแล แต่รัฐมองว่าเป็นเรื่องข้ามพรมแดน ไม่สามารถทำอะไรได้ หรือแม้ประเด็นเรื่องฝุ่น ที่ภาคเหนือ ซึ่งพบว่าอาจมีผลมาจากการไปลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้านทำอย่างไร เมื่อเราพูดถึงการเยียวยาอย่างแท้จริงแล้วเราจะได้รับการเยียวยาอย่างแท้จริง ต่อผู้ได้รับผลกระทบ

ฝากพัฒนาเรื่องมาตรฐานในเรื่องของแรงงานที่เท่าเทียมกัน การมีส่วนร่วมของประชาชน หากยังคิดว่าเป็นเพียงพิธีกรรม ก็จะไม่ก้าวข้ามความท้าทาย CSR ถูกใช้ในทางที่ผิด เป็นการ PR บริษัท การทำความเข้าใจและสร้างแนวปฏิบัติที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ ชาวบ้านเองในบางทีก็ไม่มีทราบสิทธิของตัวเอง

ข้อท้าทายหนึ่งที่เราพบก็คือว่า ภาคประชาสังคมหรือชุมชนจะถูกเรียกว่าเป็นผู้ก่อความวุ่นวาย ดังนั้นทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนไม่มองว่าภาคประชาสังคมหรือชุมชน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบเป็นผู้ก่อความวุ่นวาย แต่เป็นผู้ที่จะมาส่งเสริมให้กิจการของท่านสามารถดำเนินการต่อไปอย่างยั่งยืนได้ โดยเคารพทั้งหลักการทางสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม อันนี้เป็น Keyword สำคัญที่จะฝากไว้ เพราะหากว่าเราไม่สามารถจะก้าวข้ามทัศนคติหรืออคติแบบนี้ได้ ต่อให้การผลักดันมีแผนดีขนาดไหน ทำอย่างไรมันก็ก้าวไม่พ้น”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่