วันนี้ (12 ก.ย.2566) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.ก้าวไกล อภิปรายนโยบายรัฐบาลถึงจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลโดยกล่าวว่าหากนำนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้ และทำเป็นเอกสารที่ส่งไป กกต. เมื่อเดือน เม.ย. มาเปรียบเทียบกับในคำแถลงนโยบายที่มีอยู่ 7 บรรทัด หรือกว่า 90 คำ จะเห็นชัดว่าจุดยืนมีความแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว โดยระบุว่า มีอย่างน้อย 4 คำถามสำคัญที่มีความแตกต่างกัน
1. รัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
สมัยเป็นนายเศรษฐาคำตอบชัดเจนมาก ชัดถ้อยชัดคำตรงไปตรงมาว่า สนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เมื่อกลายมาเป็น นายกฯเศรษฐา กลับไม่ให้คำมั่นสัญญา เหลือแค่เพียงบอกว่าจะหารือแนวทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญสิ่งเดียวที่เหมือนจะให้คำมั่นสัญญา คือบอกว่าคนไทยนั้นได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องทวงถามนายกฯ ว่ายังสนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือเมื่อได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ทำให้ให้ได้เป็นนายกฯ จนถึงทุกวันนี้จุดยืนเลยได้เปลี่ยนแปลงไป
2. ใครจะเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ
แต่ก่อนนายเศรษฐาตอบตรงไปตรงมาว่า คนที่จะให้มาจัดทำก็คือสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเคยยื่นเข้าสู่การพิจารณาของสภาเมื่อปี 2563-2564 เห็นแบบนี้ก่อนเลือกตั้ง
แต่เมื่อเป็นนายกฯ เริ่มเงียบต่อคำถามที่สังคมมีเกี่ยวกับ ส.ส.ร. ก้าวไกลก็เริ่มกังวล ว่ากำลังกลับลำจากการสนับสนุน ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนมาสู่ ส.ส.ร.ที่มีรูปแบบผสมแต่งตั้งเพื่อไปเปิดช่องให้เครือข่ายที่สนับสนุนรัฐบาลเดิมเข้ามาแทรกแซงควบคุมและล็อกสเปก ส.ส.ร. ซึ่งถ้าล็อกสเปกสำเร็จซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะล็อกสเปกเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ไม่มีความก้าวหน้าหรือไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
แต่มาถึงวันนี้ในคำแถลงนโยบายไม่มีคำปรากฏว่า ส.ส.ร. แม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้นจึงมีความจำเป็นทวงถามท่านนายกฯ ว่าตกลงยังให้มี ส.ส.ร.จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือปล่อยให้อำนาจตกเป็นของรัฐสภาเแห่งนี้ ซึ่ง 1 ใน 3 ประกอบด้วย สว.ที่มาจากการแต่งตั้ง และมีผลงานอันประจักษ์อันเป็นการขัดขวางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หาให้เป็นเช่นนั้นแม้ว่าประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ใหม่โดยชื่อ แต่มีเนื้อหาสาระและหน้าตาคล้ายกับรัฐธรรมนูญระบอบประยุทธ์
3. การแก้รัฐธรรมนูญจะล็อกเนื้อหาอะไรบ้าง
ที่ผ่านมาล็อกเพียงรูปแบบการปกครอง แต่พอแถลงต่อรัฐสภา นอกจากล็อกรูปแบบการปกครองแล้ว ยังเพิ่มว่าจะไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2
4. การแก้รัฐธรรมนูญจะเริ่มต้นอย่างไรกล้ายืนยันได้หรือไม่ว่า การประชุม ครม. นัดแรกในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ย.) จะออกมติ ครม. จัดทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ
นายพริษฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากวันนี้ท่านยังไม่พร้อมลุกเพื่อยืนยันว่าจะเดินหน้าตามจุดยืนเดิมที่เคยประกาศไว้ ตนขออนุญาตไม่เชื่อว่านายกฯ คนนี้จะพาเราไปสู่จุดหมายสู่รัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
ไม่น่าเชื่อว่าการเติมตัวอักษร ก. เพียงตัวเดียว จากนายเศรษฐาเป็นนายกเศรษฐาจะทำให้จุดยืนเปลี่ยนแปลงไป
ประชาชนคงต้องวิเคราะห์เองว่าตัวอักษร ก. ที่เพิ่มนั้นย่อมาจากอะไร สำหรับตนย่อมาจากคำว่า “กลัว” และ “เกรงใจ” ที่อธิบายความรู้สึกที่ท่านมีต่อพรรคร่วมรัฐบาล และเครือข่ายอำนาจเดิมที่ทำให้นายเศรษฐาได้เป็นนายกฯ ในวันนี้ จนทำให้ไม่กล้าผลักดันวาระการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนตามที่เคยได้ให้สัจจะไว้
อ่านข่าว : “ชัยธวัช” เหน็บนโยบายกองทัพ รบ.เศรษฐา เหมือนเขตทหารห้ามเข้า
“ภูมิธรรม” ย้ำ ครม.นัดแรกพร้อมลงมติแก้ รธน.
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวชี้แจงถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เรื่องรัฐธรรมนูญต้องยอมรับว่ามีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายกันมาก ส่วนใหญ่ต้องการแก้ไขและธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ว่าสิ่งที่เป็นปัญหาคือรายละเอียดของการจัดทำ ถ้าเรายอมรับความเป็นจริง จะพบว่าหากเราจัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่รอบคอบและไม่รอบด้าน อาจจะเป็นชนวนขัดแย้งอันใหม่เกิดขึ้นมา ซึ่งจะเป็นปัญหาสำหรับประเทศชาติมากขึ้น
ตนคิดว่าความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากสมาชิกฝ่ายค้าน เป็นไปด้วยความรู้สึกที่กังวลใจมากเกินไป มองสิ่งที่รัฐบาลจะทำเสมือนกับเป็นผู้ร้ายที่อยากจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ ตนคิดว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของประชาชน ซึ่งนายกฯ ยืนยันถึงแม้เป็นรัฐบาล 11 พรรค แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือหนีออกจากความขัดแย้งให้ได้ดังนั้นความพยายามและความตั้งใจนี้ ไม่ได้เป็นอย่างที่ท่านพยายามอภิปรายหรือกล่าวหารัฐบาล
นายภูมิธรรม กล่าวว่า รัฐบาลนี้ไม่ลืมว่าเราได้พูดอะไรไว้กับพี่น้องประชาชน นั่นคือเป้าหมายที่ชัดเจนของเราที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะสร้างขึ้นนี้ มีความเป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้นเท่าที่เราสามารถจะทำได้ เราจะใช้ความตั้งใจของเราอย่างสุดกำลังที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นเรื่องที่ตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่มในสังคมได้อย่างดี ขอให้สมาชิกทุกท่านสบายใจ
มั่นใจว่าเราจะแสดงเจตจำนงที่ชัดเจน และขอให้เกิดความมั่นใจ ว่าเราจะดำเนินการให้มีการลงมติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที ดังนั้นในวันที่ 13 ก.ย. ซึ่งจะเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกตามที่เราได้ให้คำสัญญาพี่น้องกับประชาชน ท่านอย่ากังวลใจ เรายืนยันสิ่งที่เราคิดและจะทำ ปัญหาอยู่ที่ว่าเราไม่ได้คิดจะทำในสิ่งที่ ไม่สนใจผลที่จะเกิดขึ้น ว่ามันจะเกิดประโยชน์หรือไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เราสนใจที่จะทำสิ่งที่อยู่กับความเป็นจริง แล้วค่อยๆ พัฒนาความเป็นจริงให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนมากที่สุด
ดังนั้นการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก เราจะนำวาระเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกแน่นอน ท่านไม่ต้องกังวลใจ และเราจะมีการมอบหมายผู้ที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน เพื่อเร่งหาข้อสรุปสิ่งที่ยังไม่มีข้อสรุปและไม่มีข้อยุติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“ชวน” กรีดรัฐบาลไร้แผนดูแลใต้ ห่วงนักธุรกิจทำการเมือง
สส.ก้าวไกลชง 5 ข้อโมเดลแก้ไฟป่า-ฝุ่นควันทั้งโครงสร้าง
“เศรษฐา” ประกาศกลางสภาให้ค่าแรง 400 บาทโดยเร็วที่สุด
รัฐบาลลุยพักหนี้เกษตรกร ชง ครม. พรุ่งนี้ ตั้งเป้าทำให้ได้ไตรมาส 4