วันนี้ (14 ก.ย.2566) เมื่อเวลา 10.00 น. บริเวณด้านหน้ากระทรวงคมนาคม ถ.ราชดำเนิน มีสมาคมแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และไรเดอร์ รวมตัวกันมาจาก 5 สมาคม ได้แก่ สมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า สมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย สมาคมประสานงานรถรับจ้างสุวรรณภูมิ สมาคมไรเดอร์ไทย และสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะ เพื่อแสดงความยินดีกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคมคนใหม่ และยื่นหนังสือขอให้เร่งรัดแก้ไขปัญหารถรับจ้างสาธารณะ โดยนายสุริยะ มารับหนังสือและรับฟังปัญหาด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ตัวแทนแต่ละสมาคมต่างมีข้อร้องเรียนต่าง ๆ โดยกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์รับ จ้าง มีปัญหาหลักคือการแย่งลูกค้า จึงขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายกับบริษัทแพลตฟอร์ม ที่นำรถผิดกฎหมายมาให้บริการแข่งขัน กับรถรับจ้างสาธารณะ แบบไม่เป็นธรรม ซึ่งนายสุริยะ มารับฟังปัญหานี้แล้ว รอดูว่าหลังจากนี้จะมีการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร
แบ่งงาน 2 รมช.คุมงานชัดเจน
ขณะที่นายสุริยะ กล่าวภายหลังมอบนโยบายกับข้าราชคมนาคม ว่า กรอบของกระทรวงคมนาคมภายใต้รัฐบาลชุดนี้ จะต้องเป็นคมนาคมยุคใหม่สร้างความสุขให้ประชาชน ความสุขในมิติทางเศรษฐกิจ มีความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานสากล และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังได้แบ่งการทำงาน ให้กับ 2 รมช.ยืนยันว่าเป็นการพิจารณาตามความเหมาะสม ดังนี้ นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ดูแล 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมเจ้าท่า, การท่าเรือแห่งประเทศไทย, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สถาบันการบินพลเรือน และบริษัทโรงแรมสุวรรณภูมิ
ส่วนนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กำกับ 8 หน่วย ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก, กรมการขนส่งทางราง, บริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด, บริษัท รถไฟฟ้าร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ,การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย
รถไฟฟ้า 20 บาทเริ่มสายสีแดง-ม่วง
สำหรับนโนบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตนเองจะเป็นผู้ดูแลเอง หลังจากนั้นจะหารือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดย รฟม.คาดว่าจะเสนอบอร์ด รฟม.เพื่อพิจารณาภายในเดือนนี้ เนื่องจากอำนาจการลดราคาเป็นหน้าที่บอร์ด หากอนุมัติสามารถดำเนินการต่อได้ทันที
ส่วนบอร์ด รฟท.จำเป็นจะต้องพิจารณาเรื่องหนี้สาธารณะ จึงต้องทำข้อมูลให้ชัดว่า การลดราคาลงมาจะไม่เป็นหนี้สาธารณะ คาดว่าจะแล้วเสร็จในสองเดือน และคาดว่าจะเสนอครม.พิจารณาได้ใน 2-3 สัปดาห์
คาดว่าจะเริ่มลดราคาได้ก่อนในสายสีแดงและสายสีม่วง และจะได้ข้อสรุปภายใน 3 เดือน ไม่เกินช่วงปีใหม่ตามที่รับปากไว้
ส่วนรถไฟฟ้าของ BTS และ BEM จะตั้งคณะทำงานมาชุดหนึ่งโดยตนเองจะเป็นประธาน เพื่อเจรจากับสายอื่น คาดว่า จะใช้การเจรจาน่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ทั้งนี้การเจรจาสิ่งแรกคือจะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มแต่จะแบ่งปันผลประโยชน์อย่างไร และส่วนที่เหลือรัฐต้องใช้งบประถเท่าใดในการอุดหนุน
ประเมิน 2 สายรายได้ลด 136 ล้าน
นายพิเชษฐ์ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า เบื้องต้นหากจะต้องมีการชดเชยกรณีรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย อาจทำให้รายได้รถไฟฟ้าลดลง เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-รังสิต ปีละประมาณ 80 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีม่วง รายได้ลดลงปีละประมาณ 56 ล้านบาท
2 สายรวมกันประมาณปีละ 136 ล้านบาท แต่จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี โดยภายใน 2 ปีนี้รายได้ที่ลดลงจะกลับมาเท่าเดิมและจากนั้นจะเดิมมากกว่าเดิม
ส่วนจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย ใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงประมาณวันละ 20,000-30,000 คน ส่วนสายสีม่วงอยู่ที่วันละ 50,000-60,000 คน หรือเพิ่มกว่าวันละ100,000 คน ยืนยันไม่ต้องอุดหนุน เพราะอีก 2 ปีจะมีรายได้เพิ่มขึ้น
สำหรับระบบตั๋วร่วม นายสุริยะ กล่าวว่า ขณะนี้บีทีเอสยังไม่มีระบบรองรับ จึงต้องมีการสั่งซื้อ แต่ หากรัฐติดตั้งอาจจะมีปัญหาเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน และอาจจะมีปัญหากับประชาชน