‘พิเชษฐ์’ ย้ำฟื้นแนวคิดรัฐสภาจังหวัดแน่ ไม่มีผลาญงบฯ-ทุจริต หวังกระจายอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ประชาชนเข้าถึงสภาง่ายขึ้น โต้ สนช. ยุคเผด็จการกล่าวหา
วันที่ 20 ก.ย. ที่อาคารรัฐสภา พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 แถลงข่าวชี้แจงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดรัฐสภาจังหวัด ว่าเป็นการผลาญงบประมาณและการทุจริตคอรัปชั่น โดยระบุว่า โครงการดังกล่าวคณะกรรมการเพิ่งเริ่มต้นพิจารณาหารือกันเป็นวาระแรกเท่านั้น ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องงบประมาณแต่อย่างใด
พิเชษฐ์ อธิบายถึงแนวคิดดังกล่าว ที่เริ่มขึ้นในสมัย สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เริ่มไว้ 6 จังหวัดนำร่อง จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติรัฐประหารในปี 2549 และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประเมินให้ยุติโครงการรัฐสภาใน 6 จังหวัดดังกล่าว
โดยวันนี้ สส. ทุกพรรคได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานว่าโครงการดังกล่าวมุ่งให้รัฐสภาตอบสนองต่อพี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่างๆ จากภาคประชาชนที่เคยเป็นเรื่องยากลำบาก หากมีรัฐสภาจังหวัด การเข้าชื่อเสนอกฎหมายจะรวดเร็วขึ้น หลังจากถูกรัฐประหาร 2 รอบ ตั้งใจจะเริ่มต้นทำให้กระบวนการนิติบัญญัติเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ทั้งนี้ การกำหนดงบประมาณของแต่ละจังหวัด ที่ประชุมคณะกรรมการฯ จะปรึกษาหารือโดยใช้ฐานข้อมูลเดิม จาก 6 จังหวัดที่เคยได้ทำไว้เป็นพื้นฐาน
ส่วนข้อสงสัยเรื่องความคุ้มค่าของงบประมาณนั้น พิเชษฐ์ ชี้ว่า โครงการนี้ในอดีตก็ใช้งบประมาณที่รัฐสภาได้อนุมัติไป แต่ข้อกล่าวหาการทุจริตคอรัปชั่นกลับไม่เคยปรากฏหลักฐาน มีเพียงการประเมินจาก สนช. ที่ถูกคณะปฏิวัติตั้งขึ้นมา ส่วนตัวจึงมองว่าการประเมินครั้งนั้นอยู่ในอำนาจเผด็จการมากกว่า
ขณะที่หน้าที่ของรัฐสภาจังหวัดจะซ้ำซ้อนกับศูนย์ดำรงธรรมหรือไม่ พิเชษฐ์ กล่าวว่า ศูนย์ดำรงธรรมเป็นการรับเรื่องร้องเรียนของกระทรวงมหาดไทยซึ่งอยู่ในฝ่ายบริหาร รัฐสภาเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร หากกระจายประสิทธิภาพของฝ่ายนิติบัญญัติไปยังส่วนภูมิภาคก็สามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารได้มากขึ้น ไม่ซ้ำซ้อนกับศูนย์ดำรงธรรมแน่นอน