เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ให้สัมภาษณ์กับ The Standard ว่า มีแนวคิดที่จะพักค้างคืนในทำงาน โดยไม่ใช้ “บ้านพิษณุโลก” แต่จะใช้สถานที่ “บ้านนรสิงห์” หรือ ทำเนียบรัฐบาลในปัจจุบัน เนื่องจากบ้านพักอาศัยตั้งอยู่ใจกลางเมือง กว่าจะเดินทางมาถึงทำเนียบรัฐบาลจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนจากปัญหาการจราจร จึงคิดว่าน่าจะนอนค้างที่ทำเนียบรัฐบาลเลย
เปิดพื้นที่ “บ้านพระยารามราฆพ”
“บ้านนรสิงห์” ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ “ทำเนียบรัฐบาล” เป็นบ้านที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานแก่พระยารามราฆพ (หม่อมหลวง เฟื้อ พึ่งบุญ) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก และผู้บัญชาการกรมมหรสพ ภายหลังขายให้กับสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศไทย
ก่อนเป็นทำเนียบรัฐบาลในปัจจุบัน พื้นที่ภายในรั้วกำแพงถูกเรียกว่า “บ้านนรสิงห์” หรือ “วิลล่านรสิงห์” ตามคำเรียกของสถาปนิกชาวอิตาลี ต่อมาในปี 2485 ใช้เป็นทำเนียบรัฐบาล ก่อนหน้านั้นยังเคยใช้ชื่อ “ทำเนียบสามัคคีชัย”
ทำเนียบรัฐบาล มีเนื้อที่ 27 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา ทำเนียบรัฐบาลถือเป็นศูนย์กลางของการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นสถานที่ที่ทำงานของ “นายกรัฐมนตรี” รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นที่ตั้งของหน่วยงานระดับกรมอีกหลายหน่วย อาทิ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเป็นสถานที่ต้อนรับบุคคลสำคัญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และเป็นสถานที่จัดงานรัฐพิธีต่าง ๆ ด้วย
ทำเนียบรัฐบาลตั้งอยู่ในเขตดุสิต ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออกติดกับถนนนครปฐม ขนานกับคลองเปรมประชากร ทิศเหนือจรดถนนพิษณุโลก ทิศใต้จรดกับถนนลูกหลวง ซึ่งขนานกับคลองผดุงกรุงเกษมบน ภายในทำเนียบรัฐบาล ประกอบไปด้วยอาคารต่าง ๆ อาทิ ตึกไทยคู่ฟ้า, ตึกสันติไมตร, ตึกภักดีบดินทร, ตึกบัญชาการ 1 และ 2, ตึกนารีสโมสร, รมณียภูมิทัศน์
แม้ว่า ขณะนี้จะยังไม่ชัดว่า “นายกฯ เศรษฐา” จะเข้าไปพักค้างคืนที่ทำเนียบรัฐบาลหรือไม่ แต่หากเข้าไปส่องประวัติและที่ตั้งของแต่ละตึก มีที่มาและความสำคัญอย่างไร และปัจจุบันใช้ในการดำเนินการอะไรบ้าง ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก : หนังสือทำเนียบรัฐบาล พ.ศ.2563
ตึกไทยคู่ฟ้า
หรือที่เคยเรียกขานว่า “ตึกไกรสร” โดยตั้งขึ้นใหม่ในสมัยที่ จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเป็นอาคารขนาดใหญ่ มีสถาปัตยกรรมแบบเวเนเชียนโกธิกหรือโกธิก ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากวังคาโดโร แห่งเมืองเวนิส ภายในมีห้องต่าง ๆ ที่สวยงาม ดังนี้
- ห้องโดมทอง – อยู่ด้านหน้ามุมขวาสุดของอาคาร มีลักษณะเป็นมุขหอคอยทรงสี่เหลี่ยม ใช้เป็นห้องรับรองแขกก่อนเข้าห้องรับรองสีงาช้าง เพดานห้องทรงโค้ง ตกแต่งภายในห้องโดยใช้สีทองเป็นหลัก มีชุดเก้าอี้หลุยส์
- ห้องสีงาช้าง – อยู่ส่วนปีกขวาของอาคารติดกับห้องโดมสีทอง เป็นห้องรับรองแขก ระดับสูงของนายกรัฐมนตรี เช่น ประมุข ผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรี ผู้แทนระดับเอกอัครราชทูต และยังได้ใช้เป็นสถานที่รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจัดรัฐพิธีต่าง ๆ ตลอดจนเป็นสถานที่จัดพิธีมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ผู้นำต่างประเทศอีกด้วย
(เดิมทีมีงาช้าง 1 คู่ ตั้งอยู่บนแท่นฐานกิ่งละแท่น ซึ่งเป็นของพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และปัจจุบันส่งไปเก็บรักษาที่พระบรมมหาราชวัง)
- ห้องสีม่วง – ตั้งอยู่ในส่วนปีกซ้ายของอาคาร ใช้เป็นห้องรับรองแขกของนายกรัฐมนตรีในระดับต่าง ๆ รองลงมา เช่น ผู้แทนรัฐบาล หรือองค์กรระหว่างประเทศ ผู้แทนเหล่าทัพ ภายในห้องตกแต่งด้วยพรมและเฟอร์นิเจอร์สีม่วงอ่อน
- ห้องสีเขียว – อยู่ในส่วนหลังของปีกซ้ายของอาคารถัดจากห้องสีม่วง ใช้เป็นห้องประชุม ตกแต่งด้วยโทนสีเขียว มีโคมระย้ารูปพวงองุ่นห้อยจากเพดานสวยงาม มีภาพวาดรูปภูเขาทุ่งหญ้าในโทนสีเขียว ประดับบนฝาผนัง
(ห้องนี้ทำหน้าที่เป็นห้องประชุมของนายกฯ มาหลายยุคหลายสมัย ตลอดจนการประชุมเพื่อให้มีการตัดสินใจที่สำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน เรียกได้ว่าห้องนี้เป็นห้องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ไทย)
- ชั้นบนของตึกไทคู่ฟ้า – ประกอบด้วยห้องทำงานของนายกรัฐมนตรี ห้องทำงานข้าราชการการเมือง และห้องที่เคยใช้สำหรับประชุมคณะรัฐมนตรีแต่เดิม นอกจากนี้ ตึกไทยคู่ฟ้าได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2532 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
ตึกสันติไมตร
ชื่อมีความหมายบ่งบอกถึง “สันติภาพและมิตรไมตรี” เป็นตึกที่มีความสำคัญ มีบทบาทและภารกิจการใช้งานมากที่สุดในบรรดาอาคารรับรองทั้งหมดของทำเนียบรัฐบาล หลายเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในประเทศไทยเกิดขึ้นที่ตึกหลังนี้
เช่นในปี พ.ศ.2499 ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระผนวช เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงรับบิณฑบาตที่ตึกสันติไมตรีแห่งนี้ด้วย
ตึกสันติไมตรีตั้งอยู่ทางทิศเหนือของตึกไทยคู่ฟ้า มีอาคารสองหลัง แยกเป็น “ตึกสันติไมตรีหลังนอก” และ “ตึกสันติไมตรีหลังใน” อยู่ในแนวเดียวกันหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สร้างคู่ขนานกันไปทางด้านหลัง
- ตึกสันติไมตรีหลังนอก – สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2497 ใช้เป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงรับรองบุคคลสำคัญทั้งชาวไทยและต่างประเทศ งานรัฐพิธีที่สำคัญ
- ตึกสันติไมตรีหลังใน – สร้างขึ้นสมัย จอมพลถนอม เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้ในกิจการเช่นเดียวกับหลังนอก เนื่องจากพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการจัดงานใหญ่ ประกอบด้วย ห้องโถงใหญ่ และห้องสีฟ้า
ตึกภักดีบดินทร์
พื้นที่ที่ก่อสร้างอาคารนี้อยู่ในส่วนของสนามหญ้า ด้านหลังตึกไทยคู่ฟ้า ตัวอาคารออกแบบโดยใช้ตึกไทยคู่ฟ้าเป็นแม่แบบ เพื่อให้อาคารนี้เปรียบเป็นอาคารบริวารของอาคารหลัก จึงนำจุดเด่นของตึกไทยคู่ฟ้าเดิมมาเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น โดมทรงโค้ง มุขเหลี่ยมในส่วนประตูทางเข้าด้านหน้าซึ่งมีระเบียงและดาดฟ้าด้านบน รวมถึงปูนปั้นที่ใช้ประดับหน้าต่างและด้านบนอาคาร
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สร้างอาคารเรือนรับรอง หลังตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อใช้จัดประชุม และต้อนรับแขกของรัฐบาล สร้างเสร็จเมื่อปี 2560 ตึกนี้มีความสูงจากพื้นถึงยอดโดม 16.61 เป็นอาคาร อาคารมีพื้นที่ใช้สอย 1,385 ตารางเมตร แบ่งเป็น 3 ห้อง
- ห้องโถงใหญ่ – จัดประชุมหรือเลี้ยงรับรองในงานสำคัญ รองรับผู้ร่วมงานได้ 150 คน ออกแบบตกแต่งฝ้าเพดานลวดลายแปดเหลี่ยมสีทอง เขียนลวดลายอย่างสวยงาม
- ห้องทองธารา – เป็นห้องรับรองสำหรับจำนวนไม่เกิน 10 คน ภายใต้โดม มองขึ้นไปจะเห็นเพดานด้านบนซึ่งกรุด้วยโมเสกสีทอง
- ห้องวนาสิริ – เป็นห้องรับรองขนาดเล็ก ตกแต่งด้วยโทนสีฟ้าชมพู
ตึกบัญชาการ 1 และ 2
ตึกบัญชาการทั้ง 2 หลังนี้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานไม่แพ้ อาคารอื่น ๆ ในทำเนียบรัฐบาล มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสถาปัตยกรรมไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน
ตึกบัญชาการ 1
ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณกำแพงด้านทิศใต้ เดิมเคยเป็นที่ตั้งของตึกสารทูล (ตึกขวาง) ตึกพึ่งบุญ ตึกบุญญาศรัย และตึกเย็น ซึ่งเป็นบ้านพักของครอบครัวเจ้าพระยารามราฆพ
ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ใช้กลุ่มตึกนี้เป็นที่ทำการของสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีพร้อมครอบครัว ต่อมาได้เปลี่ยน ชื่อเป็น “ตึก ๒๔ มิถุนายน” เพื่อรำลึกถึงวันปฏิวัติสยามที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยฯ
ต่อมาใน พ.ศ. 2512 สมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รื้อถอนกลุ่มอาคารเหล่านี้ พร้อมก่อสร้างอาคารคอนกรีตสูง 5 ชั้น เนื่องจากตึกเดิมมีความคับแคบ ไม่เพียงพอกับงานราชการที่ขยายตัว เมื่อสร้างเสร็จจึงได้ย้ายห้องทำงานของนายกรัฐมนตรีมาอยู่ที่ตึกหลังนี้
ปัจจุบันตึกนี้เป็นที่ทำงานของรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองเลขาธิการ นายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ข้าราชการการเมืองอื่น ๆ และเป็นห้องประชุม ในวาระสำคัญต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นห้องรับรอง บุคคลสำคัญอีกด้วย
ตึกบัญชาการ 2
สร้างขึ้นก่อนตึกบัญชาการ 1 ในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของเรือนพลอยนพเก้าและเรือนพราน ซึ่งใช้เป็นที่พักอาศัยสำหรับแขกของเจ้าพระยารามราฆพ โดยเรือนพลอยนพเก้าประกอบด้วย 9 ห้อง แต่ละห้องตั้งชื่อตามอัญมณี 9 สี สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น นายกรัฐมนตรี เคยใช้เรือนหลังนี้เป็นที่ตั้งของสำนักงานสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ และสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี ในขณะที่เรือนพรานนั้นมีที่มาจากการที่เจ้าพระยารามราฆพเคยเป็นเสือป่าพรานหลวง
ต่อมาในสมัยที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้รื้อถอนเรือนทั้งสองหลังออก และสร้างอาคารหลังใหม่เพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น แล้วตั้งชื่อว่า “ตึกบัญชาการ” เนื่องจากนายกฯ ใช้เป็นสถานที่ในการบังคับบัญชาการทำงาน
นอกจากนี้ ยังเคยเป็นที่ตั้งของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ต่อมาได้เรียกตึกนี้ว่า “ตึกบัญชาการ 2” หรือ “ตึกบัญชาการหลังเก่า” ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ทำงานของ “สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี”
ตึกนารีสโมสร สู่ศูนย์แถลงข่าวของรัฐบาล
จากบ้านพักข้าราชสำานักคนสำาคัญในรัชกาลที่ 6 สู่ศูนย์แถลงข่าวของรัฐบาล อาคารชั้นเดียวที่ดูงดงามตั้งตระหง่านมาเป็นเวลานานกว่าศตวรรษ ด้วยเป็นอาคารหนึ่งในอาณาบริเวณของ “บ้านนรสิงห์” หรือ ทำเนียบรัฐบาลปัจจุบัน อาคารหลังนี้ตั้งอยู่ต้นคูน้ำที่ผ่านด้านหลังตึกไทยคู่ฟ้า เยื้องไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ นับเป็นอีกอาคารโบราณที่มีการออกแบบได้อย่างเป็นเอกลักษณ
แต่เดิมนั้นตึกนารีสโมสรมีชื่อว่า “ตึกพระขรรค์” ซึ่งมีที่มาจากเมื่อครั้งที่เจ้าพระยารามราฆพ ผู้เป็นเจ้าของบ้านนรสิงห์คนแรก โดยเจ้าพระยารามราฆพเคยพักอาศัยที่นี่อยู่ระยะหนึ่งในระหว่างที่รอก่อสร้างตึกไกรสร (ปัจจุบัน คือ ตึกไทยคู่ฟ้า) ซึ่งเป็นอาคารประธานให้แล้วเสร็จ
ต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ตึกนารีสโมสร” เพื่อใช้เป็นสถานที่ประชุมและดำเนินกิจกรรมที่ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยา เป็นผู้รับผิดชอบ
และในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ใช้ตึกนี้บริหารงานราชการแผ่นดินที่สำคัญ ๆ จึงได้เปลี่ยนมาเรียกว่า “ตึกบริหาร”
ตึกนารีสโมสรได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นสถานที่แถลงข่าวของรัฐบาล และอาคารแห่งนี้ก็ได้ทำหน้าที่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
บ้านพักนายกฯไทย
นับตั้งแต่ปี 2547 – 2566 ประเทศไทยมีผู้ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” แล้ว 30 คน แต่มีเพียงไม่กี่คนที่ใช้สิทธิ บ้านพักอาศัยของรัฐ อย่าง “บ้านพิษณุโลก” บ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย อายุกว่า 100 ปี
แต่ในประวัติศาสตร์มีนายกรัฐมนตรี เข้ามาอยู่เพียง 2 คน นั้นคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เข้าพักได้ 2 วัน และนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ที่เข้ามาอยู่ตลอดอายุราชการที่รับตำแหน่งทั้ง 2 รอบ คือ ในช่วงปี 2535 – 2538 และ ในช่วงปี 2540 – 2544
และที่หลายคนเคยได้ยิน คือ “บ้านสี่เสาเทเวศร์” มีอดีตนายกรัฐมนตรี 2 คน คือ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เข้าพักอาศัย และขณะนี้บ้านถูกรื้อเพื่อปรับพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่น
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ได้ใช้บ้านพักสวัสดิการทหารกองทัพบก ร 1 รอ. ถนนวิภาวดีรังสิต ระหว่างตำรงค์ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม มีการชี้แจงว่ายังอยู่บ้านพักทหารด้วยเหตุผลความปลอดภัยในฐานะผู้นำประเทศ