วันนี้ (28 ก.ย.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจพรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์พรรคก้าวไกล กรณีให้ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” พ้นจากสมาชิกภาพ โดยมีข้อความระบุว่า เรียนพี่น้องประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดในประเทศ นับจากนี้ไป พรรคก้าวไกลจะมุ่งมั่นเดินหน้าทำงานเต็มที่ในฐานะ “ฝ่ายค้าน” เราจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา พร้อมกับผลักดันวาระการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้า และเตรียมความพร้อมในการเป็นรัฐบาลที่ดีของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งถัดไป
ในวันนี้ (28 ก.ย. 2566) คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล จึงได้ประชุมร่วมกัน เพื่อวางแนวทางการทำงานที่รองรับเป้าหมายของพรรค ดังต่อไปนี้
1.ที่ประชุมร่วมฯ เห็นตรงกันว่า พรรคก้าวไกลควรเดินหน้าเป็น “ฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์” ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยให้หัวหน้าพรรคคนใหม่ ชัยธวัช ตุลาธน รับตำแหน่ง “ผู้นำฝ่านค้านในสภาผู้แทนราษฎร” เพื่อกำกับทิศทางการทำหน้าที่ในสภาฯ ของฝ่ายค้าน
2.ที่ประชุมร่วมฯ เข้าใจว่า การตัดสินใจดังกล่าวจะทำให้ ส.ส. จากพรรคก้าวไกล ไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 106
3.ที่ประชุมร่วมฯ รับทราบจากหัวหน้าพรรคว่า ทางคณะกรรมการบริหารพรรคได้หารือประเด็นดังกล่าวกับ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกลแล้ว โดยปดิพัทธ์ ได้แสดงความประสงค์ว่าต้องการทำหน้าที่ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป เพื่อผลักดันให้สภา มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ก่อนหน้า รวมถึงเพื่อช่วยผลักดันให้กระบวนการตรวจรับอาคารรัฐสภา ซึ่งมีสัญญาก่อสร้างมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท มีความโปร่งใส
4.ที่ประชุมร่วมฯ เห็นด้วยว่าภารกิจที่ปดิพัทธ์ ตั้งใจขับเคลื่อนจะนำไปสู่การยกระดับการทำงานของสภา และเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน แต่ที่ประชุมร่วมฯ ยังคงยืนยันถึงความสำคัญของการทำหน้าที่เป็น “ฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์” ซึ่งจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากปดิพัทธ์ยังคงดำรงสถานะเดิมในฐานะรองประธานสภา จากพรรคก้าวไกล
5.ที่ประชุมร่วมฯ จึงมีมติว่า ในเมื่อปดิพัทธ์ ยังคงยืนยันความประสงค์จะทำงานในฐานะรองประธานสภาต่อ พรรคก้าวไกลจึงจำเป็นต้องให้ปดิพัทธ์ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคของพรรคก้าวไกล ตามบทบัญญัติแห่งข้อบังคับพรรคก้าวไกลและรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พรรคก้าวไกลสามารถทำหน้าที่เป็น “ฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์” ได้ อันเป็นเงื่อนไขที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงานของพรรคหลังจากนี้
6.ที่ประชุมร่วมฯ หวังว่า แม้ปดิพัทธ์จะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลอีกต่อไป แต่เขาจะยังขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ก่อนถูกรับเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎร และต้องวางตนเป็นกลางต่อทุกพรรคการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญ มาตรา 80