หน้าแรก Voice TV 'เกรียง' พร้อม 'ธรรมนัส' ตรวจน้ำท่วมอุบลย้ำแผนเร่งระบายน้ำ-หาทางแก้ระยะยาว

'เกรียง' พร้อม 'ธรรมนัส' ตรวจน้ำท่วมอุบลย้ำแผนเร่งระบายน้ำ-หาทางแก้ระยะยาว

74
0
'เกรียง'-พร้อม-'ธรรมนัส'-ตรวจน้ำท่วมอุบลย้ำแผนเร่งระบายน้ำ-หาทางแก้ระยะยาว

‘เกรียง กัลป์ตินันท์’ รมช.มหาดไทย แท็กทีม ‘ธรรมนัส พรหมเผ่า’ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม จ.อุบลราชธานี เน้นย้ำ ส่วนราชการในพื้นที่เร่งระบายน้ำ พร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างจริงจัง

วันนี้ (30 ก.ย. 2566) เวลา 10.00 น. เกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำและสถานการณ์อุทกภัย พร้อมพบปะประชาชนและมอบถุงยังชีพ ที่สถานีวัดระดับแม่น้ำมูล M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี และหอประชุมประชาวาริน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี สมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ทวีศักดิ์ ธนเดชเดโช รองอธิบดีกรมชลประทาน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมลงพื้นที่

โอกาสนี้ เกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกันมอบถุงยังชีพ ข้าวสาร น้ำดื่ม ของใช้ที่จำเป็น ข้าวสารบรรจุถุง ให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี รวมถึงมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) จำนวน 15 ราย เวชภัณฑ์ถุงยังชีพและหญ้าพระราชทาน แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ และน้ำหมักชีวภาพ พร้อมกับกล่าวให้กำลังใจผู้ประสบภัย โดยกล่าวว่า รัฐบาลรับทราบถึงสภาพปัญหาดังกล่าว และพร้อมที่จะดูแล แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน อีกทั้งจะเร่งเยียวยาให้ความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงในทุกด้าน จึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงทุกจุด จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี 

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำที่จังหวัดอุบลราชธานีจึงได้สั่งการให้หามาตรการหรือแผนรองรับสถานการณ์น้ำท่วมที่อุบลราชธานีและอำนาจเจริญ โดยต้องมีการบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ พร้อมกำชับว่าจะต้องมีแผนในการแก้ปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาในระยะยาว จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามมาตรการในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งการสำรวจความเสียหายเพื่อช่วยเหลือเยียวยาอย่างเร่งด่วนต่อไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน” เกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำ

ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานีเกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นในพื้นที่ เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค-29 ก.ย. 66 จำนวน 1,999.8 มิลลิเมตร และในฤดูฝนตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย. 66 มีฝนตกสะสม 1,414.4 มิลลิเมตร ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 66) ที่สถานีวัดน้ำ (แม่น้ำมูล) M.7 อ.เมืองอุบลราชธานี มีระดับน้ำอยู่ที่ 112.70 ม. หรือสูงกว่าตลิ่งประมาณ 70 เซนติเมตร เพิ่มขึ้นจากวานนี้เล็กน้อย มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,718 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

คาดการณ์ว่าระดับน้ำในแม่น้ำมูลจะขึ้นสูงสุดในวันที่ 2 ต.ค. 66 ที่ระดับไม่เกิน 112.90 ม. หรือสูงกว่าตลิ่งประมาณ 90 เซนติเมตร ทำให้บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชน และพื้นที่การเกษตรจำนวน 9 อำเภอในจังหวัดอุบลราชธานีได้รับผลกระทบ ได้แก่ อำเภอม่วงสามสิบ วารินชำราบ เดชอุดม เมืองอุบลราชธานี ตระการพืชผล เหล่าเสือโก้ก ดอนมดแดง เขื่องใน และตาลสุม จำนวน 56 ตำบล 296 หมู่บ้าน/ชุมชน 10,572 ครัวเรือน แยกเป็น ด้านการดำรงชีพ ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ จำนวน 3 ตำบล 26 ชุมชน/หมู่บ้าน 913 ครัวเรือน 3,218 คน ราษฎรอพยพ 18 ชุมชน 301 ครัวเรือน 1,079 คน แยกเป็นจุดพักพิงชั่วคราว 15 จุด 269 ครัวเรือน 997 คน พักบ้านญาติ 32 ครัวเรือน 85 คน

ด้านการเกษตร พื้นที่การเกษตร ได้รับผลกระทบ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอม่วงสามสิบ วารินชำราบ เดชอุดม เมืองอุบลราชธานี ตระการพืชผล เหล่าเสือโก้ก ดอนมดแดง เขื่องใน และตาลสุม แบ่งเป็น ด้านพืช ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอม่วงสามสิบ วารินชำราบ เดชอุดม เมืองอุบลราชธานี ตระการพืชผล เหล่าเสือโก้ก ดอนมดแดง เขื่องใน และตาลสุม รวมจำนวน 47 ตำบล 204 หมู่บ้าน เกษตรกรผู้ประสบภัยฯ จำนวน 6,793 ครัวเรือน พื้นที่ประสบภัยที่คาดว่าจะเสียหายรวมทุกชนิดพืช จำนวน 46,387.75 ไร่ แบ่งเป็น 1) ข้าว จำนวน 44,993 ไร่ 2) พืชไร่และพืชผัก จำนวน 724.25 ไร่ และ 3) ไม้ผลไม้ยืนต้น และอื่น ๆ จำนวน 670.50 ไร่ วงเงินที่คาดว่าจะให้ความช่วยเหลือ 64,438,819 บาท

โดยประมาณการตามหลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือฯ ด้านประมง ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอดอนมดแดง ม่วงสามสิบ รวม 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน เกษตรกร 22 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 25.70 ไร่ และ ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี ม่วงสามสิบ วารินชำราบ และตระการพืชผล รวมพื้นที่ 8 ตำบล 17 หมู่บ้าน 8 ชุมชน เกษตรกรได้รับผลกระทบ 244 ราย การอพยพสัตว์ ประกอบด้วย โค 994 ตัว กระบือ 434 ตัว สุกร 161 ตัว ไก่พื้นเมือง 5,972 ตัว ไก่ไข่ 12 ตัว ไก่เนื้อ 1 ตัว เป็ดไข่ 8 ตัว เป็ดเนื้อ 2,917 ตัว แพะ 2 ตัว นกกระทา 4 ตัว ห่าน 1 ตัว รวม 10,506 ตัว และแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้รับความเสียหาย จำนวน 71 ไร่

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่