หน้าแรก Voice TV ‘วรวัจน์’ ชงกฎหมายแก้ไขภัยพิบัติ เพื่อบริหารจัดการน้ำในกรณีฉุกเฉิน

‘วรวัจน์’ ชงกฎหมายแก้ไขภัยพิบัติ เพื่อบริหารจัดการน้ำในกรณีฉุกเฉิน

44
0
‘วรวัจน์’-ชงกฎหมายแก้ไขภัยพิบัติ-เพื่อบริหารจัดการน้ำในกรณีฉุกเฉิน

‘วรวัจน์’ ชี้ ภัยพิบัติน้ำท่วม อีก 20 ปี ก็แก้ไม่ได้ ถ้าไม่ทำกฎหมายเรื่องแก้ไขภัยพิบัติ เพื่อที่จะบริหารจัดการน้ำในกรณีฉุกเฉิน

เวลา 18.30 น. วันที่ 4 ตุลาคม วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องขอให้สภาฯ พิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ว่า น้ำท่วมเป็นปัญหาหลักที่สำคัญของประเทศ ตนตามเรื่องน้ำท่วมนี้มากว่า 20 ปี และให้เวลาอีก 20 ปีก็คงจะแก้ปัญหานี้ไม่ได้ น้ำเหนือที่เราพูดกันมา เราติดเขตป่า ติดอีไอเอ ฯลฯ จึงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แม้จะพยายามขออนุญาตแล้วก็ตาม

วันนี้น้ำเหนือปิง วัง ยม น่าน โดยเฉพาะแม่น้ำยมที่ทำให้เกิดน้ำท่วมแพร่ เข้าสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และภาคกลางตามมานั้น ล้วนเกิดจากแม่น้ำสายนี้ทั้งสิ้น ขณะที่การแก้ปัญหาของหน่วยงานในจังหวัดแพร่ช้ามาก รู้อยู่แล้วว่าน้ำจะมา แต่จังหวัดตอบว่าขอให้ท่วมก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าน้ำท่วมที่ไหนบ้างจะได้ประกาศ ขอใช้งบฯภัยพิบัติก็บอกว่าต้องรอวันจันทร์ เป็นต้น วันนี้หากท่านไปดูความเสียหายที่เกิดขึ้นจะพบว่าบ้านเรือนพี่น้องประชาชนพังทลาย ถนนพังเสียหาย จ.สุโขทัยขอข้าวกล่องไป วันนี้ยังไม่ได้เลย ความช่วยเหลืออะไรก็ไม่ได้

วรวัจน์ กล่าวว่า วันนี้ต้องเรียนประธานสภาไปถึงนายกรัฐมนตรี เราต้องซักซ้อมความเข้าใจในเรื่องของน้ำท่วมกันใหม่ ซักซ้อมเรื่องภัยพิบัติกันใหม่ เพราะถ้าเรายังทำกันแบบนี้ไม่มีวันช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ ปล่อยให้ท่วมไปก่อน เหนื่อยไปก่อน แต่แก้ไขอย่างไรก็ยังไม่ทราบ วันนี้สส.ในสภานี้พูดถึงเรื่องน้ำท่วมทั้งสิ้น แต่ความช่วยเหลือที่ไปถึงนั้นน้อยมาก และไม่จริงจังเลย ทั้งนี้ จากตารางน้ำท่วมบ้านวังชิ้น อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ จากวันที่ฝนตกวันแรกคือวันที่ 26 กันยายน น้ำอยู่ที่ 2.86 ลบ.ม.

แต่พอถึงวันที่ 1 ตุลาคม น้ำมากถึง 11.03 ลบ.ม. ตลิ่งน้ำที่แพร่สูง 11 เมตร ความจุเวลาน้ำผ่าน 1330 ลบ.ม./วินาที ตัดภาพมาที่จ.สุโขทัย ตลิ่งน้ำสูงเพียง 8 เมตรเศษ ความจุอยู่ที่เพียง 690 ลบ.ม./วินาที ดังนั้น ต่อให้สุโขทัยทำกำแพงกันน้ำ หรือทำอะไรก็ตาม ไม่มีวันรองรับน้ำป่าจากแพร่ได้ วิธีการแก้ไขไม่สามารถไปทำที่ปลายน้ำได้ แต่ต้องแก้ที่การกักเก็บน้ำไว้บนภูเขาทางภาคเหนือ อย่าปล่อยให้น้ำไหลลงมาถึงแม่น้ำแบบนี้ ซึ่งตรงนี้ตนพยายามคุยกับหน่วยงานน้ำทั้งหมดแล้ว แต่ไม่ได้

ทั้งหมดนี้ต้องออกแบบก่อสร้าง สำรวจ ทำอีไอเอ ตั้งงบประมาณ อีก 20 ปีก็ไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ น้ำแต่ละปีผ่านจ.แพร่ ราว 2,485 ล้านลบ.ม. ขอกักไว้แค่ 100 ล้านลบ.ม. ยังทำไม่ได้เลย วันนี้ทั้งแพร่ และสุโขทัยทั้งตลิ่ง และฝายพังหมดแล้วนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ถ้ารัฐบาลไม่กำหนดมาตรการเด็ดขาด ไม่ออกกฎหมายพิเศษเพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติ ทำอย่างไรก็ไม่มีวันแก้ปัญหาน้ำท่วมประเทศนี้ได้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่