‘ธงชัย’ มองปัจจุบันการเมืองไทยถอยหลัง เป็น ‘ราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ’ ชนชั้นนำ-ทหาร ผนึกอำนาจกัน ชี้นักการเมืองคือตัวแทนประชาชนไปต่อสู้ระบบราชการ ทลายเครืออุปถัมภ์ แม้ต้องจ่ายแพง แต่ถือเป็นกระบวนการสร้างประชาธิปไตย
วันที่ 7 ต.ค. ที่อาคารอนาคตใหม่ ในงานบรรยาย ‘ตลาดวิชาอนาคตใหม่ : ประเทศไทย บทใหม่ เล่มเดิม?’ โดย Common School ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘หลัง 14 พฤษภาฯ : หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย’
ไทยถดถอยยิ่งกว่า 2549
ธงชัย ชี้ว่า 17 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เพียงหยุดอยู่ที่เดิม แต่ยิ่งถอยหลังลง เป็นผลพวงจากรัฐประหารปี 2549 ที่ทำให้เกิดฝ่ายอนุรักษนิยมสุดโต่ง แม้กลุ่มอนุรักษนิยมที่มีเหตุผลก็ถูกขับไล่ออกมา เนื่องจากผู้มีอำนาจไม่รับฟัง เห็นได้ชัดเจนในแง่ของการกลับมาสร้างความสมานฉันท์ปรองดองกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งสร้างบรรยากาศที่ถอยหลังลงไปกว่าปี 2549 เสียอีก
ธงชัย ให้นิยามของระบอบประชาธิปไตยว่าเป็นระบอบความสัมพันธ์ทางอำนาจที่อนุญาตให้ปัจเจกบุคคล และกลุ่มที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ พยายามปะทะสังสรรค์ ต่อรองเจรจา เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองให้ได้มากที่สุด แต่ห้ามใช้ความรุนแรง หรือละเมิดกติกา กฎหมาย ที่สมเหตุสมผลและเท่าเทียมกัน
“ระบอบประชาธิปไตยพยายามสถาปนาสิ่งที่เป็นวิธีการให้มนุษย์มีพลวัตรไปด้วยกันเรื่อยๆ สู้บ้าง ต่อรองบ้าง เดินหน้าบ้าง ถอยหลังบ้าง เพราะมนุษย์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต่อให้พยายามแช่แข็งให้ตายยังไงก็ทำไม่ได้ อย่างน้อยที่สุด ประชากรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ได้ก้าวหน้าเสมอไป แต่มันเปลี่ยน คุณห้ามไม่ได้ ดังนั้น ผมมองว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ดีที่สุด ในแง่ที่มันรองรับและอนุญาตให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องรู้ว่าฟ้าสีทองผ่องอำไพอยู่ที่ไหน เราไปถึงหรือยัง” ธงชัย กล่าว
กระบวนการเป็นประชาธิปไตย
ธงชัย กล่าวถึงกระบวนการ Democratization คือการเข้าใกล้สู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หมายถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ทำให้ประชาชนมีช่องทางเข้าสู่อำนาจ เพื่อมีส่วนในการตัดสินใจประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้สังคมต้องก้าวหน้าเสมอไป สามารถถดถอยได้ แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในกระบวนการเป็นประชาธิปไตยอยู่
“ให้โอกาสสังคมผิดยังได้เลย หากสังคมตัดสินใจไม่เดินหน้า จะย้อนหลัง แต่สังคมก็ต้องต่อสู้กันต่อไปเพื่อที่จะพัฒนา ตราบใดที่ยังไม่ล้มระบอบประชาธิปไตย ตราบใดที่ยังไม่ตีหัว เข่นฆ่า ทำลายกัน” ธงชัย ระบุ
ธงชัย ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร เมื่อ 2475 แม้จะเป็นคณะทหารก็ตาม แต่ก็ถือเป็นกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยหรือ Democratization เพราะเป็นการนำอำนาจออกจากการผูกขาด ให้ประชาชนมากกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
แม้ภายหลังกลุ่มทหารจะพยายามขยายอำนาจ เพื่อต่อสู้กับกลุ่มนิยมเจ้า และเผชิญการต่อสู้กับกลุ่มใหม่ เช่น นิสิตนักศึกษา ภาคประชาชน เป็นกระบวนการระยะแรก นำมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา กระทั่งกลุ่มเจ้าสามารถพลิกฟื้นอำนาจมาต่อรองกับกลุ่มทหารไว้ได้ จนเกิดภาวะประชาธิปไตยครึ่งใบ
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นประมาณปี 2535 เมื่อกลุ่มทหารพ่ายแพ้ลงเป็นอำนาจรอง กลายเป็นประชาธิปไตยภายใต้การนำของกลุ่มชนชั้นนำ เป็นกระบวนการระยะที่ 2-3 ก่อนจะเกิดเป็นระยะที่ 4 คือภาคประชาชนสามารถพบช่องทางเข้าไปมีอำนาจและลุกมาคานกับชนชั้นนำ
“ขณะที่เราอาจจะด่าว่าเป็นนักการเมืองฉ้อฉล ทุจริต นี่เป็นคำโฆษณาต่อเนื่องมาจนกระทั่งเกิดกระบวนการของสายสีเหลือง ที่นำมาสู่เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 นี่คือสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการต่อต้านความเป็นประชาธิปไตย หรือ Anti-Democratization”
ประชาชนในสมการอำนาจ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลักษณะของสังคมไทยเป็นเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ขนาดใหญ่ การเมืองไทยมีความพยายามเข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือจัดการกับอำนาจในเครือข่ายอุปถัมภ์ ซึ่งมีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ โดยเฉพาะระยะหลัง คือการต่อสู้กับเสื้อแดงและ ‘ระบอบทักษิณ’ ซึ่งมองว่า เป็นการที่ประชาชนพยายามแสวงหาหนทางเข้าสู่อำนาจรัฐ เข้าไปมีส่วนแบ่งงบประมาณ ผ่านระบบตัวแทน แทนที่จะต้องจำนนต่อระบบราชการตลอดไป ที่ชนชั้นกลางในเมืองมองว่าเป็นการคอร์รัปชัน
“คุณดูจังหวัดต่างๆ ที่มีเจ้าพ่อ เอาเข้าจริงเราควรมีเจ้าพ่อแบบนั้นในหลายจังหวัด แต่ทุกวันนี้เรามีเจ้าพ่อน้อยไป การกระทำของเขาเหล่านั้น มองในแง่กระบวนการ เขาได้ทำให้เกิด Democratization ขนานใหญ่ ที่แม้ค่าคอมมิชชันจะแพงจนหลายคนรังเกียจ แต่ระบอบของเราดีกว่านี้ได้”
“ต่อให้ใครจะว่าคอรัปชันแค่ไหนก็ตาม กระบวนนี้เป็น Democratization ระดับหนึ่ง แม้ราคาแพงมาก แต่ควรจะโทษนักการเมือง โทษประชาชน หรือโทษระบบราชการล่ะ ระบบราชการที่ไม่ยอมเปิด ทำให้ประชาชนต้องคอยก้มประนมกร”
ธงชัย ยกสถานการณ์พรรคเพื่อไทยพลิกขั้วหลังการเลือกตั้งปี 2566 สะท้อนว่าการต่อสู้ในระยะที่ 4 ยังไม่จบ เมื่อชนชั้นปกครอง 2 กลุ่มหลัก คือชนชั้นนำและทหาร ผนึกกำลังกัน โดยทหารอยู่ภายใต้อำนาจของชนชั้นนำ ทำให้ไม่บางคนไม่แน่ใจว่าเวลานี้ประเทศเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ ส่วนตัวยอมรับว่าเป็นเรื่องเดียวที่ตนเองเห็นด้วยกับคำอธิบายของบทความจากสถาบันทิศทางไทย ที่ระบุว่า Constitional Monarchy คือระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ
ธงชัย ยืนยันว่า ในเวลานี้ไทยอยู่ใต้ระบอบราชาธิปไตย แต่มีการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ ซึ่งเกือบจะเกิดขึ้นในสยามช่วงรัชกาลที่ 7 แต่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองก่อน ทว่าสุดท้ายก็ได้เกิดขึ้นจริงในยุคปัจจุบัน เพราะช่วงเวลาในระบอบประยุทธ์ทำให้คนไทยได้เรียนรู้อย่างมาก และทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว คนไทยจำนวนมากเห็นภาพโครงสร้างระบบอุปถัมภ์ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม และเริ่มมีความรู้สึกต่อต้าน
ธงชัย ให้ทัศนะว่า คนหลายกลุ่มในประเทศปรารถนาจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่เว้นกระทั่งคนภายในกลุ่มทหาร ตำรวจ ศาล แต่คนส่วนมากยังมีความกลัวที่จะแสดงออก เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกลที่เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง พร้อมมองว่าสังคมควรมอบสิทธิเสรีภาพให้แก่ทุกคน ไม่ใช่เพียงคนกล้าเท่านั้นที่สมควรได้รับ แต่รวมไปถึงประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะมีความกล้าหรือไม่