วันนี้ (12 ต.ค.2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน (Rapid Response Center : RRC) ที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์เหตุการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลาง ประเทศอิสราเอล ที่เข้าสู่วันที่ 7 ของการสู้รบแล้ว และติดตามการให้ความช่วยเหลือพลเมืองชาวไทย และแรงงานไทย ที่ยังได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรงในพื้นที่ และกำลังรอการอพยพกลับประเทศไทย รวมถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีแถลงว่า วันนี้เป็นนิมิตหมายอันดีเพราะคนไทยล็อตแรกกลับมาแล้ว แต่ยังมีคนไทยอีกมากที่ต้องลำเลียงกลับมา เข้าใจถึงความเป็นห่วงของญาติพี่น้องและความกังวลของแรงงานที่อยู่ในอิสราเอล ขณะนี้มีหลายเรื่อง หลายปัญหา ทั้งเรื่องการบินที่ต้องเดินทางเข้าไป ซึ่งปัจจุบันนี้เราได้ไม่ถึง 1 ไฟลต์ ก็มีการพูดคุยว่า กองทัพอากาศจะนำเครื่อง C-130 กับแอร์บัส A-340 เริ่มบินเข้าไป วันแรกจะออกจากไทย 14 ต.ค.นี้ โดยจะนำคนไทยกลับมาประมาณ 140 คน และมีการขนเสบียงไปให้ด้วย
วันเดียวและมีอีกทีวันที่ 20 กว่า เป็นอะไรที่น้อยมากและช้ามาก ในที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าให้มีการสั่งการให้เตรียมความพร้อมของเครื่องบินตั้งแต่วันนี้ โดนนกแอร์จะมีมาให้ 2 ลำ แอร์เอเชีย 2 ลำ ส่วนการบินไทยพรุ่งนี้ได้คำตอบ
นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า การไปรับคนไทยในอิสราเอลครั้งนี้ เป็นเที่ยวบินพิเศษที่ต้องผ่านน่านฟ้าถึง 4 ประเทศ ตามปกติต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะขอบินผ่านน่านฟ้าแต่ละประเทศได้ แต่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้เร่งให้เร็วขึ้นมาเป็น 2 วัน หากวันนี้มีการตกลงว่าจะใช้เครื่องบินบินออกไป ก็ต้องมีการเจรจาทันที ใช้เวลาได้อย่างเร็วที่สุด 48 ชั่วโมงกว่าจะบินออกได้ จึงได้สั่งการขอให้เตรียมพร้อมเครื่องบินทั้ง 4 ลำนี้ นอกจากนี้ยังรวมถึงเครื่องบินของการบินไทยด้วย โดยขอให้เป็นความสำคัญสูงสุด
ขณะที่ทูตไทยในอิสราเอล แจ้งมาว่า ความพร้อมในการนำคนไทยออกมาจากจุดเสี่ยงได้ประมาณวันละ 200 คน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องพาสปอร์ตของแรงงานที่หายไป แต่ก็ได้สั่งการทูตไทยไปว่าเรื่องความปลอดภัยของแรงงานเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด ส่วนเรื่องเอกสารเป็นเรื่องรองและยืนยันว่าจะไม่เป็นประเด็นที่จะอพยพคนไทยกลับบ้าน นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาแผนที่จะนำคนไทยออกจากอิสราเอล ไปประเทศที่ 3 ก่อนบินกลับประเทศไทย ซึ่งก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้เร็วขึ้นได้
วันนี้ขอวิงวอนว่าหากมีสายการบินเอกชนที่พอจะช่วยได้ มีเครื่องบินเหลืออยู่ ก็หวังว่าจะมาร่วมด้วยช่วยกัน
นายเศรษฐา กล่าวว่า มีการเจรจาทุกช่องทางที่เป็นไปได้ แต่เป็นเรื่องความมั่นคง ขออนุญาตไม่เปิดเผยรายละเอียด แต่มั่นใจว่าไทยเจรจาทุกช่องทาง และต้องมีความหวัง โดยไทยไม่ได้อยู่ในประเทศที่มีความขัดแย้ง แต่น่าเศร้าใจว่าในจำนวนชาวต่างชาตินั้น คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด 21 คน ซึ่งหลายประเทศให้ความเห็นใจและอำนวยความสะดวกในการผ่านน่านฟ้า ซึ่งตนเองวิงวอนและยืนยันว่าทำเต็มที่ และจะทำให้เสร็จโดยเร็ว
นายเศรษฐา กล่าวว่า การบินไทยไม่มีเที่ยวบินไปเทลอาวีฟ ซึ่งอาจช่วยด้วยการบินไปยังประเทศใกล้เคียง และให้สายการบินอื่น ๆ รับคนมาส่ง ก่อนการบินไทยรับกลับไทย
เรามีคนติดอยู่ 5,000 คน ญาติพี่น้องต้องการความช่วยเหลืออยู่ คณะรัฐมนตรี และคณะจากกระทรวงการต่างประเทศทำงานเต็มที่
นายเศรษฐา ยืนยันว่า หน้าที่หลักคือต้องอพยพคนไทยออกมาอย่ารวดเร็วและปลอดภัยที่สุด ซึ่งการเดินทางในอิสราเอลยังไม่ปลอดภัย ถนนหลายสายถูกปิด และต้องพูดคุยระหว่างหน่วยงานความมั่นคงในการอำนวยความสะดวก
ส่วนเรื่องญาติพี่น้องผู้สูญเสียต้องการรับศพมาบำเพ็ญกุศล นายเศรษฐา ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ระบุว่า ได้เร่งทางอิสราเอล แต่การชันสูตรและพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล เพราะเมื่อมีการสูญเสียชีวิตเนื่องจากภาวะสงคราม ทางรัฐบาลอิสราเอลก็จะมีเงินชดเชยให้ส่วนหนึ่ง แต่หากนำศพกลับมาไทยก่อนโดยยังไม่ออกหลักฐาน อาจเคลมเงินชดเชยได้ช้า ยืนยันว่ากระทรวงต่างประเทศทำในทุกมิติอย่างดีที่สุด
สิ่งที่ภาวนา ไม่อยากให้สถานการณ์เลวร้ายกว่านี้จนน่านฟ้าปิดและรุนแรงขึ้น เพราะปัจจุบันแย่อยู่แล้ว
ส่วนกรณีแรงงานไทยที่ยังอยู่ในพื้นที่สีแดงและยังถูกนายจ้างบังคับให้ทำงานอยู่นั้น นายเศรษฐา กล่าวว่า พรุ่งนี้ (13 ต.ค.) จะมีการพูดคุยในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน และความปลอดภัยสำคัญมากที่สุดในตอนนี้ ส่วนเรื่องรายได้และสัญญาจ้างเป็นเรื่องรอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สธ.คัดกรอง 15 แรงงานไม่พบป่วย-จิตใจยังดี ทุกคนขอกลับบ้าน
นายกฯ ประชุม RRC วางแนวทางอพยพ-ช่วยตัวประกัน “คนไทย”
กต.แจงปมนำศพแรงงานไทยกลับ-เร่งประสานอิสราเอล
ไม่อยากให้กลับไปทำงาน! ภรรยาห่วงอันตรายสามีถูกยิงขาบาดเจ็บ