สายลมเดือนตุลา 2566 กลับมาอีกครั้ง เมื่อครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์มหาวิปโยค 14 ต.ค. 2516 และครบรอบ 47 ปี 14 ตุลา 2519 สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในยุคนั้น ที่ออกมาเรียกร้องความยุติ ธรรม ขณะมีการการปราบปรามผู้ประท้วง บริเวณพระ บรมมหาราชวัง และ ถ.ราชดำเนิน ในยุครัฐบาลนายกฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ กว่าจะได้ข้อยุติ หลายชีวิตต้องสูญเสีย ขณะที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นอดีตที่ลืมไม่ลง
แม้เรื่องราวในอดีตจะถูกถ่ายทอด และส่งต่อกันมาตามยุคสมัย ผ่านบันทึกประวัติศาสตร์ในหลายรูปแบบจากหนังส้้น หนังสือพิมพ์ ผ่านหนังสือในชั้นเรียน จนถึงการค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ยุค 5G ปัจจุบันที่พาทุกคนย้อนอดีตได้ภายในคลิกเดียว
อดีตและความทรงจำจากเหตุการณ์ในอดีตของคนรุ่นเก่ากำลังจะผ่านไป แทนที่ด้วยคนรุ่นใหม่ที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงานในยุคปัจจุบัน พบว่า คนส่วนใหญ่ไม่สามารถจดจำทุกรายละเอียดของเหตุการณ์ 14 ต.ค.ในวันนั้นได้ก็จริง
แต่ก็ยังมีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ที่เลือกจะย้อนอดีตกลับไปเพื่อตามหาร่องรอยประวัติศาสตร์ที่ส่งต่อมาถึงปัจจุบัน
สิ่งเดียวที่เหมือนคือการเรียกร้อง
หนึ่ง สาววัย 36 ปี บอกว่า ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเหตุการณ์ 6 ต.ค. , 14 ต.ค. และ พฤษภาทมิฬ 2535 มีความแตกต่างกันในรายละเอียดอย่างไร แม้จะเคยเรียนและอ่านเรื่องราวดังกล่าวมาบ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความทรงจำในส่วนการเมือง ประวัติศาสตร์ชาติ หลายๆ อย่างเรื่องกลับถูกแทนที่ด้วยรัฐบาล คสช.
จำได้แค่ว่า นักศึกษา-ประชาชน ไปประท้วงอะไรสักอย่าง เพราะได้รับความอยุติธรรมจากรัฐบาล
แต่แยกไม่ออกว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แต่ก็เป็นเรื่องคล้ายๆ กัน คือต้องการความยุติธรรมให้กับตัวเอง
หนึ่ง เล่าว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง เพราะรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคม และทุกวันนี้ก็ยังไม่เห็นว่าการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่การเดินขบวน หรือการประท้วงของประชาชนก็ทำให้โลกได้เห็นว่า ประชาชนยังไม่ได้รับความเป็นธรรม เฉกเช่นเดียวกับในอดีต
ส่วนตัวมองว่า อดีตส่งผลต่อปัจจุบันในแง่ของการสืบทอดอำนาจ ผู้คนยังคงรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม แต่สิ่งที่แตกต่างจากอดีตคือ ตอนนี้คงไม่ยิงกันให้ถึงตายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะต้องคิดถึงสายตาชาวโลกด้วย แต่อาจใช้วิธีปราบปรามด้วยการสร้างกฎหมายที่เอื้อ เพื่อจัดการทางอ้อม
เช่นเดียวกับ บอย วัย 26 ปี เล่าว่าเคยเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อปี 2562 แม้จุดมุ่งหมายจะเหมือนกับช่วง 14 ต.ค.2516 คือการเรียกร้องความยุติธรรมให้สังคม และไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล แต่ด้วยบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน จึงไม่มีจุดร่วมทางการเมืองที่เชื่อมโยงระหว่าง 14 ต.ค. มาถึงยุคที่นักเรียน-นักศึกษาเรียกร้องเรื่อง ม.112
Social และคนรุ่นใหม่ เจาะอดีตสู่ปัจจุบัน
โชกุน หรือ สันต์ฐิติ เปรียบปรางค์ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารสนเทศและสื่อใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจเรื่องการเมืองเกิดขึ้นหลังฟังเพลง “ประเทศกูมี” และทำให้เริ่มอ่านและค้นคว้าหาข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในอดีต ผนวกกับคำเล่าของครูที่เคยเป็นคน 14 ต.ค.จริง
โชกุน เชื่อว่าเด็กในรุ่นเดียวกับเขามีชุดความรู้เรื่องการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบันไม่ต่างกันมากนัก แต่อยู่ที่การตัดสินใจของแต่ละคนว่าจะแสดงออกออกมาอย่างไร
บางคนรู้เรื่องการเมือง และ Take action ออกมาเรียกร้อง ชุมนุม, บางคนรู้แต่ก็เลือกที่จะนิ่ง Ignore,
ส่วนบางคนก็อาจจะไม่รู้อะไรเลย ก็เลยไม่แสดงออกอะไรก็มา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เป็นเรื่องปกติของสังคมที่มีความหลากหลาย
จุดเหมือนของเหตุการณ์ 14 ต.ค. ผ่านสายตาของ โชกุน คือ แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่าครึ่งศตวรรษ แต่ประเทศไทยก็ยังเหมือนเดิม การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และการทำงานของรัฐบาล
แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ยุคนี้เป็นยุคโซเชียล อยากรู้อะไรก็สามารถหาข้อมูลจากโลกอินเตอร์เน็ตได้ เขามองว่าคนยุคใหม่มีภูมิคุ้มกันเรื่องการเมืองมากขึ้น และสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ว่า อะไรจริง หรือเท็จ และอะไรที่เป็นเพียง propaganda (โฆษณาชวนเชื่อ)
14 ต.ค.16 ชัยชนะของนักศึกษา
ขณะที่ คุณากร ตันติจินดา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็นต่อเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 ว่า ด้วยความเรียนคณะรัฐศาสตร์ จึงได้ยินเรื่องดังกล่าวบ่อยครั้ง ทั้งนี้ในประวัติศาสตร์ไทยที่เราเรียนอาจพูดถึง 14 ต.ค. มากกว่าเหตุการณ์การชุมนุม อื่นๆ ในความจริงแล้วเหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านของระบอบการปกครอง
ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลของ จอมพล ถนอม กิตติขจร ต้องหนีออกจากประทศ ลี้ภัย มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และการเลือกตั้งตามมา ในระยะสั้น 14 ต.ค. ดูเป็นชัยชนะของนักศึกษาในสมัยนั้น
ในสายตาคนยุค 2566 ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ความขัดแย้ง 14 ต.ค.2516 ได้ว่า แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์การชุมนุมอื่นๆ ตามหลังวันมหาวิปโยค แต่เรื่องราวตั้งแต่วันนั้นมาจนปัจจุบันไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย 14 ต.ค. เป็นเพียงหมายแรกที่ขบวนการนิสิตนักศึกษามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย
ยังคงเป็นข้อเรียกร้องยังเป็นเรื่องเดิมคือ ประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น
คุณากร มองว่า ความขัดแย้งในครั้งนั้นเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมาย ความคาดหวังในวันนี้คือ ไม่ต้องการเห็นเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก เราพบกับความสูญเสียจากความขัดแย้งทางการเมืองมากเกินไปแล้ว แม้ในความจริง ความขัดแย้งยังอยู่ในสังคม และไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นอีกบ้าง
อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดแย้งขึ้นซ้ำอีก ได้แต่แอบหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว