หน้าแรก Voice TV 'หมอมิ้ง' เปิดที่มางบ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' 5.6 แสนล้าน มาจากไหน พร้อมให้ตรวจสอบ

'หมอมิ้ง' เปิดที่มางบ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' 5.6 แสนล้าน มาจากไหน พร้อมให้ตรวจสอบ

82
0
'หมอมิ้ง'-เปิดที่มางบ-'ดิจิทัลวอลเล็ต'-5.6-แสนล้าน-มาจากไหน-พร้อมให้ตรวจสอบ

น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิด 3 ทางเลือกที่มางบ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ อาจใช้หลายแนวทางผสมกัน เชื่อโครงการนี้จะไม่กระทบกับเครดิตเรทติ้งของประเทศ

13 ต.ค. 2566 น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาสนับสนุน การเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่อยู่ในกระแสร้อนแรง ทั้งคัดค้านและสนับสนุน ว่า “เป็นการเติมเงินครั้งเดียว ใช้ในเวลาจำกัดกระตุ้นเศรษฐกิจนชุมชน การเติมเงิน 1 หมื่นบาท จะเดินหน้าไปพร้อมกับชุดนโยบายสร้างรายได้ และนโยบายลดรายจ่าย และไม่ผิดวินัยการเงินการคลัง รักษาเสถียรภาพสถาบันการเงิน มุ่งเน้นสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ”

น.พ.พรหมินทร์ ชี้แจงพร้อมดูเอกสารประกอบว่า เมื่อมีการใช้จ่ายบริโภคเพิ่มขึ้นจากเงินดิจิทัล ทำให้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันอยู่ที่ 60 % ต่ำกว่าหลายประเทศมีโอกาสเพิ่มขึ้น และเมื่อมีการบริโภคมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มการผลิต การจ้างงาน ทำให้รัฐจัดเก็บรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นการสร้างแรงส่งทางเศรษฐกิจให้เกิด Multiplier effect ส่งผลให้จีดีพีขยายตัว ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของประชาชนต่อจีดีพีลดลงด้วย

น.พ.พรหมินทร์ ระบุว่า “แหล่งเงินที่จะทำมาใช้ในโครงการนี้ 560,000 ล้านบาท ยืนยันว่ารัฐบาลเน้นการรักษาวินัยการเงิน การคลัง มีทางเลือก 3 ทาง ซึ่งอาจใช้หลายแนวทางผสมกัน โดยให้คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการแจกเงินดิจิทัล พิจารณาในรายละเอียด บนพื้นฐานว่าการทำโครงการนี้จะไม่กระทบกับเครดิตเรทติ้งของประเทศ”

ทางเลือกที่ 1 คือการบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 ด้วยการลดคำของบประมาณจากหน่วยงานบางแห่ง และเลื่อนการจัดซื้อรายการใหญ่ ๆ ออกไป รวมทั้งชะลอการสร้างอาคารใหม่ ของส่วนราชการ

ทางเลือกที่ 2 คือการใช้เงินนอกงบประมาณ โดยให้หน่วยงานของรัฐออกเงินให้ก่อน ซึ่งรัฐบาลอาจใช้ช่องทางนี้ในการจัดหาแหล่งเงินทุน 200,000-300,000 ล้านบาท หากเลือกวิธีนี้ก็ต้องขยายเพดานหนี้ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 จะขยายเท่าใด จะขึ้นอยู่กับว่าใช้เงินจากช่องทางนี้แค่ไหน

“รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาคืนให้ชัดเจน ซึ่งโดยหลักการแล้วหน่วยงานของรัฐเหล่านี้รัฐบาลถือหุ้นเต็ม100% เท่ากับว่าหนี้ที่รัฐบาลกู้ยืมมาเป็นหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันทั้ง 100% ที่สำคัญรัฐบาลได้เตรียมแผนรองรับในการใช้หนี้ทุกปีงบประมาณ ปีละ 100,000 ล้านบาท และจะใช้หมดภายใน 3 ปี”

ทางเลือกที่ 3 คือการกู้เงินโดยตรง ขณะนี้ยังไม่ได้ดูช่องทางนี้ ซึ่งจริง ๆ สามารถกู้ได้เพราะขณะนี้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 60% ขณะที่เพดานอยู่ที่ 70% ขณะที่ขนาดของจีดีพีอยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่ามีช่องที่จะกู้เงินตรงนี้อยู่ 1.7 ล้านล้านบาท และถ้าจีดีพีโตก็ยิ่งมีพื้นที่หายใจมากขึ้นอีก

นพ.พรหมินทร์ เปรียบเทียบว่า “หากดูจากขนาดของงบประมาณแผ่นดินปีละกว่า 3.3 ล้านล้านบาท มั่นใจว่าสามารถบริหารและใช้คืนเงินกู้ในส่วนนี้ได้อยู่แล้ว เหมือนในอดีตที่รัฐใช้เงินทำกองทุนหมู่บ้านก็เอาไปเงินของธนาคารออมสินมา 77,000 ล้านบาท และตั้งงบประมาณใช้หนี้คืนปีละ 10,000 กว่าล้านบาทเป็นเวลา 7 ปี”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่