ภายหลังการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ขณะนี้ สามารถทำได้ใน 2 เส้นทางได้แก่ รถไฟชานเมืองสายสีแดง สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน และสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้าสายสีม่วง คลองบางไผ่-เตาปูน ของ รฟม.สามารถทำได้ทันทีเพราะเป็นของรัฐบาล
แต่โครงการที่มีสัญญากับภาคเอกชน เช่น สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีน้ำเงิน รวมไปถึงสายสีส้มที่เปิดประมูลไปแล้ว เป็นกลุ่มที่มี พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (PPP) ต้องมีวิธีการดำเนินการและการเจรจากับเอกชนต่อไป
ล่าสุด ขณะนี้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในอัตราค่าโดยสาร 20 บาท แต่ขอให้รอวิธีการเพราะมีหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง เป้าหมายของรัฐบาลนอกจากลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ยังต้องการให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น เพราะปัจจุบันสายสีม่วงยังมีผู้ใช้บริการยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน
หากจะคุ้มทุนได้ต้องมีผู้โดยสารวันละ 150,000 คนเที่ยววัน แต่ตอนนี้มีผู้โดยสาร 70,000 คนเที่ยววัน ซึ่งเป็นเพียงครึ่งทางเท่านั้น และหากถึงจุดคุ้มทุนอาจจะไม่ต้องให้รัฐชดเชย
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นายสุรพงษ์ กล่าวว่า รฟม.ยืนยันว่า ดำเนินการตามกระบวนการของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ อย่างถูกต้อง แต่ตามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รอการพิจารณาจากศาลปกครองแล้วเสร็จก่อน ตามข้อพิพาทที่มีระหว่าง รฟม.และภาคเอกชน
ปัจจุบันยังมีข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 1 คดี ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า จะพิจารณาจะมีผลอย่างไร ดังนั้นโครงการนี้ถือว่า ปัจจุบันยังไม่ได้เกิดปัญหา ขณะที่ประเด็นเรื่องส่วนต่างราคาประมูลและวิธีจัดซื้อจัดจ้าง เป็นเพียงาวในหน้าหนังสือพิมพ์ ส่วนตัวมองว่า ขั้นตอนยังไม่ได้มาถึงกระทรวงคมนาคม ยังอยู่ในขั้นตอนรอศาลปกครองพิจารณาอยู่
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า การกำหนดอัตราราคาค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น หาก ครม.มีมติให้ดำเนินการ รฟม.จะต้องเริ่มขั้นตอนเจรจากับเอกชนผู้ชนะการประมูลใหม่ เนื่องจากโครงการนี้ปัจจุบันได้เจรจารายละเอียดในสัญญาไปแล้ว เพียงแต่อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เพื่อนำโครงการเสนอ ครม.
ดังนั้น หากมีนโยบายเพิ่มรายละเอียดเรื่องปรับลดค่าโดยสาร รฟม.จะต้องเจรจากับเอกชน ซึ่งจะต้องประเมินวงเงินชดเชยให้เอกชนเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้ หากกรณีที่ต้องเจรจากับเอกชนใหม่ ยอมรับว่า จะส่งผลกระทบต่อการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยเฉพาะส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ปัจจุบันงานโยธาใกล้แล้วเสร็จ แต่หากต้องกลับมาเริ่มเจรจารายละเอียดสัญญาร่วมทุนที่ต้องเพิ่มข้อมูลปรับราคาค่าโดยสารเหลือสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ทางเอกชนอาจยังไม่สามารถเริ่มเปิดให้บริการเดินรถได้
ส่วนรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) หากจะนำนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทมาใช้ จะต้องศึกษาทบทวนวิเคราะห์รูปแบบทางการเงินใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนว่า เอกชนลงทุนจะกระทบอย่างไร ต้องศึกษาทุกมิติ โดยคาดว่า จะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ปัจจุบันบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) โดยได้รับสัมปทานจาก รฟม.การเจรจากับเอกชน อาจจะต้องใช้เวลาถึง 2 ปีตามกรอบของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ส่วนปัญหาเรื่องความหนาแน่นของผู้โดยสารเนื่องจากตู้โดยสารรถไฟฟ้าไม่เพียงพอนั้น ขณะนี้ทาง BEM อยู่ระหว่างประสานกับบริษัทผู้ผลิตในการเพิ่มจำนวนตู้โดยสารอีก 10 ตู้ โดยการแก้ไขปัญหาตอนนี้ ได้เพิ่มรถเสริมวันละ 3 ขบวนในช่วงพีคเพื่อรับผู้โดยสารที่ตกค้างตามสถานี
ส่วนโครงการรถไฟฟ้า สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี คาดว่า จะเปิดได้ในช่วง ธ.ค.นี้ โดยทดลองเสมือนจริง และ 1 เดือน ก่อนจะเก็บค่าโดยสารช่วง ม.ค. – ก.พ. จากแผนเปิดให้บริการภายในเดือน มิ.ย.2567
ส่วนความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) ในภูมิภาค ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ รฟม. นั้น รฟม.มีแผนจะดำเนินการนำร่องโครงการแทรมภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลองก่อน แต่เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีการดำเนินการระบบโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จำนวนมาก
ทั้งโครงการของกรมทางหลวง (ทล.) และ โครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศ (กทพ.) มีแนวเส้นทางดำเนินการบนทางหลวงหมายเลข 402 สายโคกกลอย-เมืองภูเก็ต หรือถนนเทพกระษัตรี เป็นทางหลวงสายหลักของ จ.ภูเก็ต หากมีโครงการจำนวนมากมาดำเนินการพร้อมกันบน ทล.402 จะทำให้สร้างผลกระทบปัญหาด้านจราจรเพิ่มมากขึ้น
ส่วนแทรมเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี), แทรมนครราชสีมา (โคราช) สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) และแทรมพิษณุโลก สายสีแดง (มหาวิทยาลัยพิษณุโลก-เซ็นทรัลพลาซ่า) ก็ต้องขยับแผนโครงการออกไปก่อน เพื่อรอเวลาที่เหมาะสม และไม่กระทบปัญหาจราจร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เริ่มวันนี้! รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นำร่อง 2 เส้นทาง
บอร์ด รฟม.เคาะค่าโดยสารสายสีม่วง 20 บาท คาดเริ่ม 1 ธ.ค.นี้