หน้าแรก Voice TV ‘นิติพล’ ฝากการบ้าน กมธ.วิฯ ศึกษา ‘แลนด์บริดจ์’ มองแค่ ‘ภูมิศาสตร์’ เหมาะสมไม่ได้

‘นิติพล’ ฝากการบ้าน กมธ.วิฯ ศึกษา ‘แลนด์บริดจ์’ มองแค่ ‘ภูมิศาสตร์’ เหมาะสมไม่ได้

67
0
‘นิติพล’-ฝากการบ้าน-กมธ.วิฯ-ศึกษา-‘แลนด์บริดจ์’-มองแค่-‘ภูมิศาสตร์’-เหมาะสมไม่ได้

‘นิติพล’ แนะ กมธ.วิสามัญฯ ใช้ ‘วิทย์ฯ-คณิตฯ’ ศึกษาผลกระทบ ‘แลนด์บริดจ์’ ชี้แค่ภูมิศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ ย้ำไม่คัดค้าน แต่ห่วงความรอบคอบ

วันที่ 22 ต.ค. นิติพล ผิวเหมาะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษา โครงการแลนด์บริดจ์ ว่า เห็นด้วย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเมกกะโปรเจ็คที่จะเกิดขึ้นในภาคใต้ และตนได้อภิปรายถึงข้อสังเกตไว้จึงอยากฝากเป็นโจทย์ให้ กมธ.ชุดนี้ ไปทำการบ้านต่อ

นิติพล กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์ จะมองด้วยเหตุผลด้านภูมิศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องนำเอาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์มาประเมินร่วมด้วย โดยเหตุผลด้านภูมิศาสตร์ เห็นด้วยว่า ไทยเราอยู่ในจุดที่เหมาะสมในการเป็นจุดเชื่อมต่อทางการค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิค จะช่วยย่นระยะเวลาขนส่งสินค้าได้ 4-5 วัน ซึ่งหมายถึงการประหยัดต้นทุนได้อีกมหาศาล รวมถึงเศรษฐกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นตรงเมืองท่าหลักทั้งฝั่ง จ.ระนอง และจ.ชุมพร ก็จะโตตามไปด้วยอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุผลในทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ที่ต้องนำมาคิดด้วย เช่น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น ปะการัง ป่าชายเลน กระแสน้ำ หรือบนบก ที่นักวิชาการสิ่งแวดล้อมบางคนกังวลว่า จะตัดผ่านเส้นทางของฝูงช้างด้วยหรือเปล่า ซึ่งมันจะหมายถึงปัญหาช้างป่ารุกที่ทำกินของประชาชนเพื่อหาพื้นที่ใหม่ที่ซ้ำรอยกับปัญหาช้างป่าภาคตะวันออก

นอกจากนี้ สิ่งที่ไม่มองไม่ได้คือผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน เพราะหากมองจากแผนที่ เส้นที่ลากง่ายๆ เหมือนที่นายกรัฐมนตรีลากให้เหล่านักลงทุนจีนดูนั้น จึงไม่แน่ใจว่าศึกษากันดีพอหรือยัง ว่ามันพาดผ่านบ้านผ่านสวนของคนที่มีชีวิต มีตัวตนมากน้อยเท่าไหร่ และตัวเลขที่ต้องชดเชยเยียวยานั้นมันคุ้มค่ากับที่เขาต้องเสียสละวิถีชีวิต และการโยกย้ายออกจากถิ่นฐานบ้านเกิดหรือไม่ และที่ใหม่ที่จะให้พวกเขาเดินทางโยกย้ายไปนั้นมีแผนรองรับแล้วหรือเปล่า 

นิติพล ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องนำมาศึกษาด้วย คือยังไม่นับว่าผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น อาหารทะเลอาจปนเปื้อนได้ง่ายขึ้นหรือไม่ ที่ผ่านมาก็มีเหตุน้ำมันรั่วไหลบ่อยครั้ง จะป้องกันอย่างไร นอกจากนี้ แสงและเสียงจากท่าเรือจะทำให้พวกเขาหลับตานอนสบายได้เหมือนเดิมไหม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่เรามีบทเรียนมาแล้วจากท่าเรือน้ำลึกภาคตะวันออก

“หรือหากมองทางคณิตศาสตร์ ผมคิดว่าบางทีอาจต้องนำมาเทียบกันให้ชัดระหว่างการสร้างโครงการใหม่โดยคิดจากต้นทุนที่ต้องแลกดังที่ผมยกตัวอย่างไปข้างต้น กับการคงไว้แบบเดิมแล้วหาทางเลือกอื่นในการขับเคลื่อนพัฒนา เช่น การขายคาร์บอนเครดิตที่ไม่ใช่การฟอกเขียวให้กลุ่มทุน แต่เป็นเรื่องของชุมชนท้องถิ่น หรือแม้แต่การท่องเที่ยว ทั้งอันดามันและอ่าวไทยก็ยังเป็นเพชรน้ำเอกของการเดินทาง เพียงแต่เราจะหาโมเดลอะไรในการเพิ่มศักยภาพลงไป ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์ย่อมส่งผลตรงข้ามหากเรายังมองว่าการท่องเที่ยวคือเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ภาคใต้เราทิ้งไม่ได้”

นิติพล ย้ำทิ้งท้ายว่า นี่ไม่ใช่การเห็นด้วยหรือคัดค้าน แต่เป็นการตั้งข้อสังเกตเอาไว้เพื่อความรอบคอบก่อนจะลงมือสร้างโครงการที่จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของภาคใต้ครั้งใหญ่ ซึ่งมันอาจออกมาเป็นบวกหรือลบก็ได้ การคิดให้รอบคอบรอบด้านก่อนลงมือจึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่