‘วิปรัฐบาล’ แจงหลังสภาฯ โหวตคว่ำญัตติ ‘ก้าวไกล’ เสนอทำประชามติ รธน. ใหม่ เหตุเชื่อมั่นรัฐบาลทำจริง-ทำได้ หากรัฐบาล-วุฒิสภา ไม่เห็นด้วย ประชามติก็สำเร็จยาก ซ้ำยังเห็นแย้งแก้ทั้งฉบับหวั่นกระทบหมวด 1-2
วันที่ 25 ต.ค. ที่อาคารรัฐสภา หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบให้ส่งญัตติ เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ ตัวแทนคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ได้แถลงข่าวเพื่อสร้างความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชน
อดิศร เพียงเกษ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เผยว่า ในญัตตินี้ วิปรัฐบาลประชุมกันถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก มองว่าจะนำญัตติอื่นมาพิจารณาแทน ไม่ให้โอกาสฝ่ายค้านได้อภิปรายในสภาหมือนเช่นวันนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิปรัฐบาลได้ประชุมกันอีกครั้งในช่วงเช้าวันนี้ หลังการประชุมกันยาวนานถึง 4 ชั่วโมง ได้เห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ อาจจะสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ จนถึงการมองว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ใส่ใจต่อการทำประชามติและแก้ไขรัฐธรรมนูญ วิปรัฐบาลจึงมีมติให้นำญัตติดังกล่าวเข้าไปสู่การพิจารณา
อดิศร กล่าวด้วยว่า สำหรับญัตติของพรรคก้าวไกลนั้น ยังเห็นทางที่จะประสานกันได้ เพราะคณะกรรมการศึกษาการจัดทำประชามติ ได้ยื่นมือไปหาพรรคก้าวไกลแล้ว ซึ่งทางพรรคก้าวไกลก็รับปากว่าจะไปแสดงความคิดเห็นต่อคณะอนุกรรมการ จึงกล่าวได้ว่า อย่างไรความคิดเห็นก็ไปถึงคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว
ด้าน ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.แบบบัญชีรายชื่อ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการทำประชามตินั้น เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว และได้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการจัดทำประชามติขึ้นมา ทั้งได้มีคณะอนุกรรมการ 2 ชุด สำหรับศึกษาจำนวนครั้งการจัดทำประชามติ และกระบวนการหลังทำประชามติด้วย
ชูศักดิ์ ชี้ว่า กระบวนการดังกล่าวมีหลักประกันว่ารัฐบาลจะทำจริง เพราะรัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบาย และเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก ทางวิปรัฐบาลจึงเห็นว่ากระบวนการนี้จะได้เดินหน้าต่อไป ส่วนญัตติที่พรรคร่วมฝ่ายค้านนำเสนอ จะว่าไปแล้วก็ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด เพราะอ้าง พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 9 ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งหากวุฒิสภาไม่เห็นชอบเหมือนสภาผู้แทนราษฎร ก็ไปสู่รัฐบาลไม่ได้
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลยังยินดีรับฟังเต็มที่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบถามและรับฟังความเห็นจากส่วนต่างๆ จึงยังสามารถส่งความเห็นไปให้รัฐบาลได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าน พ.ร.บ.ประชามติ
ทั้งนี้ ชูศักดิ์ ย้ำว่า วิปรัฐบาลยังเห็นด้วยกับการทำประชามติ แต่มองว่าการทำประชามติ หากดำเนินการโดยรัฐบาลก็จะมีโอกาสสำเร็จ เพราะที่ผ่านมา หากรัฐบาลและวุฒิสภาไม่เห็นด้วย การทำประชามติก็จะไม่สำเร็จ
ชูศักดิ์ ยังกล่าวว่า มีความเห็นขัดแย้งกันมากที่สุด คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับมีความหมายอย่างไร โดยพรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไม่แก้ หมวด 1 และหมวด 2 ดังนั้น ส่งให้รัฐบาลไปก็เปล่าประโยชน์ เพราะยังเป็นความเห็นที่ขัดแย้งไม่ลงรอยกันมานานแล้ว จึงเห็นว่าควรให้รัฐบาลทำหน้าที่ไป และหวังว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม
ขณะที่ ภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทองและโฆษกพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า การลงมติในวันนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเราพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ เพื่อสอบถามพี่น้องประชาชนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ได้หมายความว่าพวกเราจะกอดรัดอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ พวกเราเห็นควรว่าต้องแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยมาจาก สสร.
สิ่งที่ไม่เห็นด้วยมีอยู่ 3 ประเด็นหลักคือ หนึ่ง ขณะนี้รัฐบาลมีคณะกรรมการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และมาจากทุกพรรคการเมือง นอกจากฝ่ายการเมือง ยังมีฝ่ายวิชาการเข้าร่วมด้วย ซึ่งมีความน่าเชื่อถือมากพอสมควรที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จได้
สอง ในส่วนของเนื้อหาสาระของคำถามที่จะส่งให้รัฐบาล พรรคก้าวไกลเสนอจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งขัดต่อเจตนารมย์ของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคที่ประกาศเอาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง ว่า พวกเราจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่หนึ่งและหมวดที่สอง แต่ญัตติของ พริษฐ์ จะให้แก้ไขทั้งระบบ ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของพวกเรา ไม่มีใครการันตีได้ว่าจะไม่มีการแก้ เพื่อไม่ให้ขัดต่อเสียงของประชาชน พรรคร่วมรัฐบาลจึงไม่เห็นด้วย
สาม การตั้ง สสร. พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่เห็นด้วยว่าจะต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 % เพราะเราเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายมหาชนที่จะเกิดขึ้นจากพี่น้องประชาชนในหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่มีอะไรที่ยืนยันได้ว่า สสร.จากการเลือกตั้ง จะมาจากทุกสาขาอาชีพและคนที่หลากหลาย
“เราไม่แน่ใจว่าจะมีกลุ่ม LGBT เข้ามาเป็นตัวแทน เราไม่แน่ใจว่าจะมีกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอาชีพเข้ามาหรือไม่” ภราดร กล่าว