หน้าแรก Voice TV รมช.คลัง รับลูกชง 'ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย' เข้า ครม. หวังเป็นสวัสดิการสำหรับผู้หญิง

รมช.คลัง รับลูกชง 'ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย' เข้า ครม. หวังเป็นสวัสดิการสำหรับผู้หญิง

90
0
รมชคลัง-รับลูกชง-'ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย'-เข้า-ครม.-หวังเป็นสวัสดิการสำหรับผู้หญิง

‘ก้าวไกล’ ถาม ก.คลัง แนวทางยกเลิกภาษีผ้าอนามัย ‘จุลพันธุ์’ รับลูก บอกรอข้อมูลอธิบดีกรมศุลฯ ก่อนชงเข้า ครม.พิจารณา ชี้ หากดึงออกจาก พ.ร.บ.เครื่องสำอางได้จะมีสวัสดิการผ้าอนามัยสำหรับผู้หญิง

วันที่ 26 ต.ค. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 27 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ได้มีการพิจารณากระทู้ถามทั่วไป เรื่อง แนวทางการยกเลิกภาษีผ้าอนามัย ของ ภัสริน รามวงศ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล เพื่อถาม เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดย เศรษฐา ได้มอบหมายให้ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ตอบกระทู้แทน

ภัสรินกล่าวว่า ผ้าอนามัยเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของคนมีประจำเดือน โดยประเทศไทยมีผู้หญิงจำนวนมากที่เผชิญภาวะการขาดแคลน หรือไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้เนื่องจากมีราคาที่สูงเกินไป ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้หญิงมีประจำเดือน 1 คน จะมีประจำเดือนร่วม 40 ปี และแต่ละคนมีจำนวนวันประจำเดือนมาแตกต่างกัน อยู่ที่ประมาณ 3-7 วัน 

นั่นทำให้ต้องใช้ผ้าอนามัยประมาณ 4 แผ่นต่อวัน เมื่อคิดรวมแล้วผู้มีประจำเดือน 1 คน จะเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามันต่อเดือนประมาณ 150-300 บาท และตลอดช่วงชีวิตที่มีประจำเดือนจะต้องเสียค่าใช้จ่าย 67,200-134,400 บาท ฉะนั้น การยกเลิกภาษีผ้าอนามัยหรือการแจกผ้าอนามัยฟรี จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสมอภาคทางเพศ 

รวมถึงการส่งเสริมสุขภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในหลายประเทศมีการยกเลิกการจัดเก็บภาษีแล้ว จึงขอถามถึงอัตราภาษีนำเข้าสำหรับผ้าอนามัยทั้งแบบธรรมดาและแบบสอดจากต่างประเทศว่า มีอัตราการเสียภาษีร้อยละเท่าใด และรัฐบาลจะมีแนวทางการยกเลิกการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผ้าอนามัย หรือแนวทางอื่นๆ เช่น การสนับสนุนผ้าอนามัยฟรีให้กับประชาชนหรือไม่อย่างไร 

ด้าน จุลพันธ์ กล่าวชี้แจงว่า สำหรับแนวทางการยกเลิกภาษีไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีศุลกากร ต้องยอมรับว่าผ้าอนามัยไม่ว่าจะเป็นแบบสอดหรือธรรมดา ถูกกำหนดโดยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องสำอาง ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2538 เป็นต้นมา จึงถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่เช่นนั้น และคงต้องเป็นภาระของสภาฯ ในการพิจารณาแก้ไข และทางคณะรัฐมนตรีก็จะรับเรื่องไว้เช่นกันว่า กฎหมายฉบับใดที่มีความล้าหลังและมีความจำเป็นต้องแก้ เพื่อให้มีความทันสมัยและเหมาะสม 

จุลพันธุ์ ย้ำว่า เรื่องผ้าอนามัยเป็นความจำเป็น ไม่ใช่ทางเลือกที่เราจะเลือกได้ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ อย่างไรก็ตามด้วย พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ผ้าอนามัยไม่ได้อยู่ในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นหมวดสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และมีการเก็บภาษีศุลกากรเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังเป็นสินค้าที่มีการควบคุมโดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ โดยเรามีมูลค่าในการนำเข้าผ้าอนามัยอยู่ที่ 80 ล้านบาท แต่เป็นมูลค่านำเข้าที่ต้องชำระอากร เฉลี่ยปีละราว 1.6 ล้านบาท ถือว่าผลกระทบจากการนำเข้ามีค่อนข้างน้อยในเรื่องของภาษีอากร ในเรื่องภาษีศุลกากร 

จุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการปรับลดอากรต่างๆ เรากำลังมีการเจรจาขอ FTA เพิ่มเติมเพื่อหารายละเอียด ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงอื่น ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่จะไปเจรจาปรับลดภาษีอากรขาเข้ากับประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการยกเลิกการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผ้าอนามัย ได้สั่งการไปยังอธิบดีกรมศุลกากรให้ไปศึกษาข้อมูลแล้ว และกำลังดำเนินการอยู่ หากอธิบดีฯ ส่งข้อมูลมาให้ตน ตนก็จะนำเรื่องส่งไปยังคณะรัฐมนตรีว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร จะมีการยกเลิกภาษีได้หรือไม่ 

นอกจากนี้ยังได้มีการพูดคุยกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงเรื่องดังกล่าว เพราะแม้ว่าจะมีการลดภาษี แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะมีการเข้าถึงผ้าอนามัยให้กับสตรีทุกคนได้ ซึ่งหากภาครัฐสามารถปรับแก้เรื่องความจำเป็น ดึงออกมาจาก พ.ร.บ.เครื่องสำอางได้ และนำเข้าไปอยู่ในเรื่องความจำเป็นของชีวิตผู้หญิง เราก็จะสามารถดำเนินการให้มีสวัสดิการผ้าอนามัยสำหรับสตรีทุกคนได้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่