หน้าแรก Thai PBS “ศิริกัญญา”ชี้ เงินดิจิทัล 10,000 บ.อาจถึงทางตัน รบ.เจอปัญหางบประมาณ

“ศิริกัญญา”ชี้ เงินดิจิทัล 10,000 บ.อาจถึงทางตัน รบ.เจอปัญหางบประมาณ

98
0
“ศิริกัญญา”ชี้-เงินดิจิทัล-10,000-บอาจถึงทางตัน-รบ.เจอปัญหางบประมาณ

วันนี้ (26 ต.ค.66) น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่จะมีการคัดกรองบุคคลที่จะได้รับว่า ปัญหาสำคัญที่มีการปรับหลักเกณฑ์โดยที่มีการคัดกรองคนรวยออก ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่ได้รับเงินเดือน 25,000 บาทหรือมีเงินฝาก 100,000 บ. หรือ บุคคลที่ได้รับเงินเดือนเกิน 50,000 บาท หรือเงินฝากเกิน 500,000 บ. 

รวมถึง หลักเกณฑ์ที่จะแจกเฉพาะผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลอาจจะมีปัญหาการเงินที่จะนำมาใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จึงจำเป็นที่จะต้องทำให้ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มีจำนวนลดลง ถึงแม้จะพยายามลดลงแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ได้รับเงินตรงนี้อยู่ประมาณ 43 – 49 ล้านคน

ดังนั้น หากเป็นจำนวน 43 ล้านคนจะใช้งบประมาณราว 430,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 2567 ไม่เพียงพอภายในปีเดียว เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะใช้เงินงบประมาณประจำปี 2567 ก็มีค่อนข้างน้อย และมีข้อเสนอออกมาอีกว่าจะใช้เป็นงบผูกพัน โดยผูกพันปีละ 100,000 ล้านบาทไปอีก 4 ปี ยิ่งชัดเจนว่า หลังจากที่ได้คำนวณมาแล้วแสดงว่างบประมาณปี 67 มีที่ว่างให้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพียงแค่ 100,000 ล้านบาทเท่านั้น และในกรณีที่จำเป็นจะต้องผูกพันไปจนถึง 4 ปีก็เท่ากับว่าจะมีร้านค้าบางส่วนจะไม่ได้เงินสดทันที และต้องรอแลกเป็นรายรอบปีงบประมาณไป

น.ส.ศิริกัญญา  ยังกล่าวว่า ดังนั้นจะกระทบกับร้านค้าที่อาจจะไม่มีแรงจูงใจมากพอ ที่ต้องการเงินสดมาหมุนเวียนในร้านค้าของตนเองจนไม่เข้าร่วมโครงการจึงเป็นการตอกย้ำว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาถึงทางตันแล้ว ไม่สามารถที่จะให้ธนาคารของรัฐหรือธนาคารออมสินดำเนินโครงการนี้ออกไปก่อนได้เพราะติดข้อจำกัดหลักที่เป็นตอใหญ่ นั่นคือเรื่องของงบประมาณและที่มาของเงินที่จะต้องใช้

แต่การปรับเงื่อนไขในครั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยว่า ยังคงทำตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมและผลที่คาดว่าจะได้รับดั้งเดิมของโครงการนี้หรือไม่ ถ้าเปลี่ยนไปหมดแล้วก็อาจจะต้องมีการทบทวนนโยบายใหม่ทั้งหมดด้วยซ้ำ

สำหรับการคัดกรองผู้ที่มีเงินเดือน 25,000 บาท และผู้ที่มีเงินฝากนั้นความจริงแล้วลดจำนวนลงไปได้นิดเดียวเพียงแค่ 13 ล้านคน ถ้าเป็นผู้ที่มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท จะลดจำนวนลงไปได้เพียงแค่ 7 ล้านคน

ดังนั้นความจริงแล้วไม่ได้ช่วยอะไรมากนักในแง่ของการที่จะประหยัดงบประมาณลง ซึ่งนี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่สุดท้ายแล้ว กลับไปที่ทางเลือกที่ 3 ทางเลือกที่ให้เฉพาะผู้ที่ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็เขียนไว้ชัดเจนว่าอาจจะไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยซ้ำไป อาจจะเป็นเพียงการประคับประคอง เยียวยาค่าครองชีพ ให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยหรือผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน ซึ่งนี่เป็นการเริ่มที่จะเปลี่ยนรูปแบบของโครงการ เปลี่ยนวัตถุประสงค์เปลี่ยนผู้ที่จะได้รับไปอย่างชัดเจน

ดังนั้น ถ้าจะคงเพียงแค่รูปแบบว่า เป็นการแจกเงินเอาไว้แต่วัตถุประสงค์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่พูดไว้ ก็จำเป็นที่จะต้องทบทวนจนเข้าใจดีว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ แต่ถ้าสามารถที่จะบอกกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่าติดปัญหาในเรื่องอะไรงบประมาณ ซึ่งมีไม่เพียงพออย่างไร ตนคิดว่าประชาชนน่าจะเข้าใจได้ว่า รัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะทำโครงการนี้ แต่มีอุปสรรคชิ้นใหญ่นั่นก็คืองบประมาณ

ส่วนโครงการนี้อาจจะถูกยกเลิกไปหรือไม่ ตนเรียกว่าเปลี่ยนวิธีการมากกว่า อย่าเรียกว่ายกเลิก ตนเข้าใจดีว่า สัญญาทางใจที่มีไว้กับโหวตเตอร์หรือผู้สนับสนุนสำคัญ แต่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เดียวกันเรามีวิธีการที่จะไปได้หลายทาง

ส่วนสุดท้ายจะจบแค่เป็นโครงการเยียวยาหรือไม่ ก็ต้องรอดูว่าจะกลายเป็นรูปแบบนั้นหรือไม่ ต้องบอกว่า ขณะนี้งบประมาณที่ไปทบทวนกันของแต่ละหน่วยงานรัฐทำกันเสร็จแล้วและเริ่มทยอยส่งกลับมายังสำนักงบประมาณแล้ว ดังนั้น สำนักงบประมาณมีข้อมูลอยู่ในมือแล้วว่าจะสามารถตัด ลด เกลี่ย งบประมาณของปี 67 ได้เท่าใดแล้วปรากฏว่าได้ราวแสนล้านบาท

ดังนั้น ถ้าจะไม่ทำงบประมาณผูกพันข้ามปีจะมีทางออกเดียว คือ ให้เฉพาะผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดังนั้น ก็จะไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อไป เพียงแค่เยียวยาค่าครองชีพ จึงต้องบอกกับรัฐบาลว่าต้องมาทบทวนวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ อย่างจริงจังอย่ายึดติดที่รูปแบบ ให้ดูที่เป้าหมายมากกว่าว่าผลลัพธ์เราอยากจะได้อะไร แล้วออกแบบนโยบายให้เป็นไปตามนั้นมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องรอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ของดิจิทัลวอลเล็ต มีมติออกมาก่อน ที่มีข่าวออกมาเป็นเพียงความคิดเห็นของอนุกรรมการเท่านั้น ซึ่งต้องให้เวลารัฐบาลกลับไปคิดทบทวนลงรายละเอียดทุกอย่าง แล้วให้คณะกรรมการชุดใหญ่มีข้อเสนอเสนอต่อนายกฯเข้ามา โดยจะได้ตรวจสอบกันต่อไปซึ่งหลายคณะกรรมาธิการก็รอที่จะเรียกเข้าไปพูดคุยในรายละเอียดอยู่ ทั้งนี้ กระทู้สดยังรออยู่แม้จะเป็นในช่วงปีสมัยประชุม แต่เปิดมาเมื่อไหร่ก็คงจะได้พูดคุยกันเรื่องนี้แน่นอน

พร้อมฝากให้สื่อสอบถามประชาชน รวมถึงร้านค้าว่าหากจะต้องทยอยจ่ายเป็นหลายปีงบประมาณเงินสดจะไม่ได้ทันที ร้านค้า แต่ยังคงเข้าร่วมโครงการหรือไม่

ส่วนการคัดกรองของโครงการนี้สามารถทำได้จริงหรือไม่นั้น น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตนไม่ต้องการให้สับสนกับเรื่องนี้เพราะปัญหาใหญ่ คือ เรื่องของงบประมาณมากกว่าส่วนเรื่องหลักเกณฑ์ว่า จะเป็นหลักเกณฑ์เดียวกับผู้ที่จะได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือ พิจารณารายได้จากการยื่นกรมสรรพากร และพิจารณาทรัพย์สินจากธนาคารพาณิชย์โดยแจ้งผ่านไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยว่า มีเงินฝากเท่าใด ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าจะยาก แต่อาจจะกรณีที่ตรวจสอบยากเช่น ผู้ที่มีรายได้มากแต่ไม่ได้ยื่นต่อกรมสรรพากร หรือผู้ที่มีสินทรัพย์อย่างอื่นแต่ไม่ได้มีเงินฝาก

ส่วนที่มีการหารือกับ ธนาคารกรุงไทยไม่ใช่ธนาคารออมสินนั้น ส่วนตัวมองว่า เป็นไปไม่ได้คาดว่าน่าจะหารือกับธนาคารกรุงไทยเกี่ยวกับแอปพลิเคชันมากกว่า เนื่องจากธนาคารกรุงไทย มีประสบการณ์ในการทำ “เป๋าตังค์” มา อาจจะเป็นธนาคารกรุงไทยที่จะดำเนินการทำแอปพลิเคชันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการหารือกับธนาคารออมสินก็เป็นไปไม่ได้เพราะติดข้อกฎหมาย ซึ่งไม่มีข้อไหนที่จะทำให้ดำเนินการแจกเงินได้เลยแม้แต่ข้อเดียว ถ้ายังคงใช้ธนาคารออมสินอยู่ก็จะต้องมาแก้ไขกฎหมายและต้องผ่านสภาฯ

เมื่อถามว่า หากทางออกสุดท้ายของรัฐบาลอาจจะต้องใช้ พ.ร.ก.เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่าในทางเทคนิค ทางออกสุดท้ายคือการ ออก พ.ร.ก.เงินกู้ เหมือนกับช่วงโควิด-19 ที่ให้กระทรวงการคลังกู้เงินเป็นทางออกทางเทคนิคที่ง่ายที่สุดแต่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า พ.ร.ก.จะออกได้จะต้องมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น

ทั้งนี้ ต้องถามไปยังสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังว่าจะยอมกู้ให้หรือไม่ ในกรณีที่ไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนและเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญและในทางการเมือง ก็ต้องยอมรับว่าการจะออก พ.ร.ก. เงินกู้ ณ เวลานี้ ที่ไม่ได้เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจหนักขนาดนั้น ต้องเจอแรงต้านมหาศาลแน่นอน ตนก็ขอเตือนไว้ว่าถ้าออกเป็น พ.ร.ก. เงินกู้เมื่อใดอาจจะเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง  

คลังตั้ง 3 เกณฑ์ “คนรวย” หมดสิทธิ “ดิจิทัล วอลเล็ต”

“เศรษฐา ปัดตอบทันจ่ายเงินดิจิทัล 1 ก.พ.67 

ชำแหละนโยบายแจกเงินของญี่ปุ่น ใช้กับไทยได้ผลหรือไม่ ?  

 

 

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่