เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าชะลอตัว ทำให้วันนี้ (28 ต.ค.2566) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (ผอ.สศค.) ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจปีนี้ จากร้อยละ 3.5 เหลือร้อยละ 2.7 หลังประเมินปัญหาดังกล่าวกระทบยอดส่งออกทั้งปี อาจติดลบ ร้อยละ 1.8 ประกอบกับ นักท่องเที่ยวจีน เดินทางเข้าประเทศน้อยกว่าคาด
ทั้งนี้ สศค. ยังประเมินเศรษฐกิจปีหน้าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยยังไม่รวมผลจากมาตรการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เนื่องจาก ต้องรอความชัดเจนเงื่อนไขการใช้จ่ายและกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับสิทธิ
โดยเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทุก ๆ 400,000 ล้านบาท ถึงจะกระตุ้น GDP โตเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 1 แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่า วงเงินจำนวนนี้สมควรมาจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการฟื้นตัวภาคการส่งออก และการลงทุนทางตรงด้วย
สศค. ได้อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายครัวเรือนปี 2564 พบว่าประชากรผู้มีรายได้น้อย ที่ได้รับเงินโอนภาครัฐ 100 บาท จะใช้จ่าย 60-85 บาท ซึ่งสูงสุดเมื่อเทียบกับประชากรชนชั้นปานกลาง และกลุ่มผู้มีรายได้สูง ตลอดจนสูงกว่าค่าเฉลี่ยประชากรทั้งประเทศที่ 53 บาท
ทั้งนี้ นายกฯ เตรียมประชุมคณะกรรมการดิจิทัล วอลเล็ต สัปดาห์หน้า เพื่อหาข้อสรุปแนวทางดำเนินโครงการ
ตามข้อเสนอคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับเงินดิจิทัล 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มผู้มีรายได้น้อย
- กลุ่มผู้มีเงินเดือน 25,000 บาท และ/หรือ มีเงินฝากทุกบัญชีไม่เกิน 100,000 บาท
- กลุ่มผู้มีเงินเดือน 50,000 บาท และ/หรือ มีเงินฝากทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท
ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาล จะตัดสิทธิกลุ่มผู้มีเงินเดือน 50,000 บาท และ/หรือ มีเงินฝากทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท แม้ขัดแย้งกับสภาพัฒน์ และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเสนอให้แจกเงินเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลัง
ภาคประชาชนเสนอเปลี่ยนเงินดิจิทัลเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า
ผู้เข้าร่วมเวทีเสวนา “การเมืองไทยกับประชาธิปไตยไทย” ชี้ว่ารัฐบาลกำลังเผชิญกับดักทางการเมือง ทั้งในพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล เป็นเหตุให้ขาดความอิสระไม่เพียงแต่ปัญหาการขับเคลื่อนนโยบายแจกเงินดิจิทัล แต่การเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ขาดเอกภาพ จึงเสนอแนะให้ทบทวนเหตุผลแทนการยึดติดกับคำสัญญา เสนอเปลี่ยนแจกเงินดิจิทัล เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า
นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังคงเป็นประเด็นร้อน ที่ถูกหยิบยกมาสะท้อนถึงภาวะการเมืองในปัจจุบัน โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเกิดผลลัพธ์กับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ มาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผ่านโครงการลงทุนหมู่บ้านหรือสวัสดิการชุมชนถ้วนหน้า
เชื่อกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญไม่อิสระ
นอกจากนโยบายดิจิทัล วอลเล็ตแล้ว การแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่ผู้ร่วมเสวนาหยิบยกมาสะท้อนถึงภาวะการเมืองไทย โดย นายสรกล อดุลยานนท์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ เชื่อว่าเวลานี้อยู่ในภาวะไม่ปกติ และเป็นเหตุให้กระบวนการต่างๆ ไม่อิสระ แม้แต่นายกฯ เศรษฐา ที่พูดถึงนายกฯ ว่ามี 2 คน ก็เป็นสัญญาณผิดปกติ
ผู้ร่วมเสวนา “การเมืองไทยกับประชาธิปไตยไทย” เสนอแนะให้รัฐบาลเดินหน้า-ขับเคลื่อนนโยบาย ด้วยเหตุผลมากกว่าการยึดมั่นกับคำสัญญา เพราะเชื่อว่า กำลังเผชิญกับดักทางการเมือง ทั้งความขัดแย้งที่ไม่กล้าเห็นต่างภายในพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล
อ่านข่าวเพิ่ม :