‘พิธา’ พบปะนักศึกษาไทย MIT คนไทยร่วมฟังล้นห้อง โชว์วิสัยทัศน์เศรษฐกิจ “3F” firm ground-fair game-fast forward growth แนะใช้เทคโนโลยีสร้างความเท่าเทียม แก้ปัญหาประเทศ
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเยือนพบปะเครือข่ายในสหรัฐอเมริกา ได้รับเชิญเข้าร่วมพูดคุยกับนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาในสถาบัน MIT (Massachusett Institute of Technology – สถาบันเทคโนโลยีแห่งเมสซาชูเซตส์) โดยมีนักศึกษาและคนไทยในสหรัฐอเมริกาที่สนใจเข้าร่วมฟังจนเต็มห้องประชุม
โดยบรรยากาศการพูดคุยเป็นไปแบบเป็นกันเอง โดยบทสนทนาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์ในการศึกษาต่อและการใช้ชีวิต ในฐานะที่พิธาเป็นศิษย์เก่าฮาร์วาร์ด-MIT รวมทั้งสิ่งที่ได้รับจากการอยู่ที่สหรัฐอเมริกา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
โดยในช่วงหนึ่งของการบรรยาย พิธีกรได้ถามถึงแนวทางเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล ว่ามีแนวคิดอย่างไรที่จะสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด เพื่อนำประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ ซึ่งพิธาระบุว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็มีการเติบโตมาโดยตลอด แต่ความเหลื่อมล้ำก็ตามมาเช่นกัน ในยุคก่อนนี้ เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของ trickle down economics หรือการผลักดันอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แล้วหวังว่าจะมีการจ้างงานและความเจริญตามมา ซึ่งไม่เพียงพอพาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางแล้ว แต่สิ่งที่เราต้องการคือการเติบโตแบบที่กระจายผลพลอยได้อย่างทั่วถึง (inclusive growth) ต่างห่าง
ซึ่งไม่ใช่การให้คน 1% เป็นผู้นำพาเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่กรุงเทพเป็น 50% ของจีดีพีประเทศ ไม่ใช่การให้เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวอยู่ 20% โดยพึ่งพานักท่องเที่ยวจากไม่กี่ประเทศ ไปกระจุกตัวอยู่ในเพียง 5 จังหวัด แต่การเติบโตแบบ inclusive growth คือเราต้องเติบโตขึ้นมาจากข้างล่าง และเปลี่ยนปัญหาให้เป็นโอกาส
พิธากล่าวต่อไป ว่าที่ผ่านมาเราได้เห็นคนพูดกันตลอดเวลาเหมือนๆ กันไปทั้งหมด ทั้งเรื่อง s-curve ใหม่ จะต้องทำอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่ไม่เคยมีการปฏิบัติจริงผ่านการออกแบบงบประมาณที่สอดคล้อง มีแต่เพียงการตัดริบบิ้นเปิดงานเป็นครั้งๆ ไปเท่านั้น
ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิด inclusive growth ได้ จะต้องทำผ่าน “3F” นั่นคือ firm ground (รากฐานที่มั่นคง), fair game (กติกาที่เป็นธรรม) แล้วจึงจะนำไปสู่ fast forward growth (การเติบโตแบบก้าวกระโดด) ได้
พิธากล่าวว่าในด้านแรกคือ firm ground นี่คือปัญหาประการแรกของแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจไทย คือการไม่มีรากฐานที่มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา ความปลอดภัย ฯลฯ และกระทั่งวิธีคิด เช่น
ที่ผ่านมาผู้นำทุกคนพูดเหมือนกันหมด ว่าเราต้องใช้เทคโนโลยี อย่าง robotics, machine-learning, AI, 3D printing ฯลฯ แต่คนที่พูดส่วนใหญ่ยังไม่ได้คิดเลยว่าจะเอาไปใช้เพื่อการแก้ปัญหาหรือเพื่อก่อให้เกิดอะไร
แต่หากตั้งต้นด้วยปัญหาที่คนไทยจำนวนมากเจออยู่ เราจะมองเห็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความเท่าเทียม เปลี่ยนความเจ็บปวดของคนไทยให้กลายเป็นเศรษฐกิจ เช่น การแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือที่เข้าไม่ถึงไฟฟ้า คือโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ คนต่างจังหวัดที่พบปัญหาน้ำประปา คือโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมระบบท่อ สมาร์ทมิเตอร์ และ IoT สิ่งเหล่านี้ล้วนคืออุตสาหกรรมและการจ้างงานทักษะสูงในระดับทั่วประเทศ ที่เมื่อทำสำเร็จแล้วสามารถขยายออกไปในประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย
พิธากล่าวต่อไป ถึง fair game หรือกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการขนาดย่อยสามารถแข่งขันได้ เช่น ในเรื่องของสุราก้าวหน้า ที่วันนี้กฎหมายยังกีดกันการค้าผ่านการกำหนดทุนจดทะเบียนและจำนวนแรงม้า หากสามารถปลดล็อกตรงนี้ได้ รัฐบาลเข้าไปดูแลเรื่องความปลอดภัยและกระบวนการผลิต นี่คือโอกาสที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล และสามารถนำไปสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดดได้
“สมมุติมีสตาร์ทอัพในประเทศไทย คนที่จะทำอะไรใหม่ๆ ที่ทันสมัยอยู่ที่ MIT แล้วไปเจอกฎหมายประเทศไทย ไปเจอเสือนอนกินที่เป็นธุรกิจใหญ่ๆ ที่บอก ก็น่าสนใจนะคริปโต แต่ฉันจะเป็นคนลงเอง ซุปเปอร์แอพก็น่าสนใจนะ แต่ต้องเป็นของเครือ 4-5 บริษัทนี้เท่านั้น สตาร์ทอัพมันก็ไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นคุณจะไปเชียร์ว่าต้องมี fast growth ก็ต้องทำไป แต่นั่นเป็นยอดพิระมิด สิ่งที่จะต้องไปด้วยกันก็คือ firm ground และ fair game” พิธากล่าว
โดยต่อไป พิธามีกำหนดการพบปะกับพี่น้องคนไทยในวอชิงตัน ดีซี วันที่ 31 ต.ค. 2566 เวลา 19.30 น. เป็นต้นไป ที่ร้าน Sisters Thai(Alexandria) ตามคำเรียกร้องจากคนไทยจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา