วันนี้ (1 พ.ย.2566) จากกรณีพรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมาย “ยุบ กอ.รมน.” เข้าสู่ที่ประชุมสภา เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าว จนเกิดกระแสข่าวลือว่าจะ “ยุบ กอ.รมน.” กระทั่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงประเด็นดังกล่าวเมื่อ 31 ต.ค. ยืนยัน “ไม่มีแนวคิดนี้”
อ่านข่าว : จ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ เป็นทางเลือก เปิดให้ยื่นแบบได้ 1 – 15 ธ.ค.66
นอกเหนือจากความซ้ำซ้อน พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามถึงการใช้งบประมาณของ กอ.รมน. พบว่า กอ.รมน.ใช้งบประมาณที่สูงมาก ไทยพีบีเอสออนไลน์ สำรวจงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 – 2566 ในช่วง 10 ปี ของ กอ.รมน.รวมแล้วกว่า 100,274,700,800 บาท จำแนกแยกรายปี ดังนี้
- งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 7,980,125,500 บาท
- งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 8,201,570,700 บาท
- งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 8,906,478,600 บาท
- งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 10,200,971,600 บาท
- งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 10,410,393,400 บาท
- งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 10,049,512,900 บาท
- งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 10,240,111,400 บาท
- งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 9,893,672,900 บาท
- งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 8,854,707,900 บาท
- งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 7,764,882,400 บาท
- งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 7,772,273,500 บาท
ที่มาของหน่วยงาน กอ.รมน.
“กอ.รมน.” ชื่อเต็มว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
“กอ.รมน.” มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นองค์กรหลักในการบูรณาการ อำนวยการ และกำกับดูแลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ
อ่านข่าว : เด้ง 5 เสือ สภ.ช้างเผือกเซ่นผับเถื่อน ปล่อยเด็กต่ำกว่า 20 ปีเที่ยว
ประวัติความเป็นมาของ กอ.รมน.
- 2516 รัฐบาลมีนโยบายให้แปรสภาพกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) เป็น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน)
- 2523 มีการปรับปรุงและพัฒนา และประกาศนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์
- 2525 ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์มีน้อยลงและมีการปรับปรุงโครงสร้างฯ คณะรัฐมนตรีได้ปรับบทบาทของ กอ.รมน. ให้ปฏิบัติภารกิจทางด้านการจัดระเบียบและเสริมความมั่นคงชายแดน การพัฒนาเพื่อความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การปฏิบัติงานด้านการข่าวและปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.)
- 2543 ในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
- 2544 คณะรัฐมนตรีปรับลดบทบาทของ กอ.รมน. ลงโดยเฉพาะการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพิ่มบทบาทด้านการประสานงานมีการปรับโครงสร้าง กอ.รมน. จากเดิมโดยแต่งตั้งให้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็น รอง ผอ.รมน.โดยตำแหน่ง ต่อมาแต่งตั้ง ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ รอง ผอ.รมน.ฝ่ายการเมือง โดยให้มีตำแหน่งผู้ช่วย ผอ.รมน. 5 ตำแหน่ง คือ ผบ.ทบ., ผบ.ทร., ผบ.ทอ., ผบ.ตร. และอธิบดีกรมการปกครอง
- 2545 ครม.ให้ความเห็นชอบตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 158/2545 ลงวันที่ 29 พ.ค.2545 เรื่อง การจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ
- 2549 ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 ต.ค. เรื่องการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน โดยให้ยกเลิก คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 158/2545 โดยให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เป็นหน่วยงานในสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมี ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบบังคับบัญชาข้าราชการ และการดำเนินงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในและหน่วยงานในสายงาน
- 2551 ภายหลังจากที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เป็นผลให้ กอ.รมน. เป็นส่วนราชการที่มีรูปแบบเฉพาะ ขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้การบังคับบัญชาโดยขึ้นตรงกับ นายกรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ กอ.รมน. มีรัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการด้านความมั่นคงเป็นคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และเพื่อรองรับตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
- 2552 คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 179/2552 ลงวันที่ 27 ก.ค.2552 เรื่อง การจัดโครงสร้างการแบ่งส่วนงาน อำนาจหน้าที่ของส่วนงาน และอัตรากำลังของ กอ.รมน. โดยมีโครงสร้างการจัดประกอบด้วย ส่วนบังคับบัญชา สำนักฝ่ายอำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติ และหน่วยปฏิบัติระดับภูมิภาคมีอัตราเจ้าหน้าที่ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ปฏิบัติงานในโครงสร้างดังกล่าว ทั้งที่เป็นอัตราประจำและช่วยราชการ
- 2558 รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 19 ก.พ. 2551 เป็นวัน “สถาปนา กอ.รมน.” เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญและเกิดความภาคภูมิใจในเกียรติประวัติความเป็นมา และให้วันที่ 19 ก.พ.ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนา กอ.รมน.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
จับกระแสการเมือง 1 พ.ย.2566 “เศรษฐา” คืนดาบกองทัพ ไม่ยุบ กอ.รมน.
นายกฯ ย้ำไม่คิดยุบ กอ.รมน. – คืนที่ดิน 9,276 ไร่ ให้ ปชช.ก่อนสิ้นปี