‘พวงเพ็ชร’ จี้ กรมประชาสัมพันธ์ดันตัวเองขึ้นเป็นสื่ออันดับ 1 ของประเทศให้ได้! ย้ำ การรายงานข่าวต้องเป็นข่าวจริง-รวดเร็ว-ตรวจสอบได้-มีความน่าเชื่อถือ
3 พ.ย. 2566 ณ อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนนรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย วราวุธ ยันต์เจริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะที่ปรึกษา ประชุมติดตามการดำเนินงานและมอบนโยบายคณะผู้บริหารและข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ โดยมี สุดฤทัย เลิศเกษม รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และคณะผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์ ต้อนรับ
กรมประชาสัมพันธ์ เป็นหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาลกับประชาชน โดยนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ความรู้ข้อเท็จจริง และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเสนอรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีแนวคิดหลักในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง 100% และต้องเป็นประโยชน์กับประชาชน ปัจจุบัน กรมประชาสัมพันธ์มีอัตรากำลังทั่วประเทศ 3,876 คน มีการบริหารทั้งส่วนกลาง ส่วนกลางในภูมิภาค และส่วนภูมิภาค มีหน่วยสื่อหลัก 4 หน่วย คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ NBT สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สำนักข่าว สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ ปัจจุบันกรมประชาสัมพันธ์มีการปรับตัวสู่การสื่อสารยุคดิจิทัล โดยมีช่องทางการประชาสัมพันธ์ออนไลน์และโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม
พวงเพ็ชร ระบุว่า รู้สึกยินดีที่ได้พบปะบุคลากรกรมประชาสัมพันธ์ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่ติดตามการมอบนโยบายผ่านระบบออนไลน์ ส่วนตัวมองว่ากรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยสื่อของรัฐที่มีความสำคัญ เป็นส่วนที่เชื่อมระหว่างรัฐกับประชาชน ตนมองว่าแนวทางในการพัฒนากรมประชาสัมพันธ์ คือการสร้างภาพลักษณ์ให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นสื่ออันดับหนึ่งที่ประชาชนติดตามโดยเฉพาะเรื่องข่าวสาร โดยการนำเสนอข่าว ต้องเป็นข่าวจริง รวดเร็ว ตรวจสอบได้ และมีความน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีออกไปสู่ต่างชาติ สร้างความเชื่อมั่นประเทศไทยควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ได้เสนอให้มีการเปิด “Open Space” ซึ่งเป็นพื้นที่ให้คนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ให้ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ และเป็นการดึงกลุ่มผู้ชมคนรุ่นใหม่ ให้หันกลับมาติดตามสื่อของกรมประชาสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น
”ดิฉันมองว่าบุคลากรของกรมประชาสัมพันธ์ ควรได้รับโอกาสในการพัฒนาฝีมือ ทั้ง Upskill และ Reskill ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์มีความร่วมมือกับสื่อต่างชาติหลายประเทศ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันจะเป็นประโยชน์ในการช่วยให้บุคลากรของกรมประชาสัมพันธ์มีทักษะมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ควรมีการปรับฟังก์ชันการทำงานของกรมประชาสัมพันธ์ให้สอดรับกับยุคดิจิทัล แบบ Full Scale เน้นการสื่อสารออนไลน์ที่เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย คริบคลุมได้ทั่วถึงและรวดเร็วยิ่งขึ้น“ พวงเพ็ชร กล่าว
จากนั้นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางไปยังสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ NBT ติดตามการดำเนินงานและเยี่ยมชมกองบรรณาธิการข่าว สตูดิโอออกอากาศ และเยี่ยมชมอาคารศูนย์ปฏิบัติการแพร่ภาพออกอากาศการกระจายเสียงวิทยุและการให้บริการข้อมูลข่าวสารภาครัฐกรมประชาสัมพันธ์ (PRD Media Center)