เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพร้อมคณะ ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบนขบวนรถไฟ โดยกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ AOTว่า แม้จะได้รับแรงผลักดันมาจากนโยบายวีซ่าฟรี แต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทย ยังต่ำกว่าที่คาดการณ์อยู่ที่ 60-70 % จากปี 2562 จึงยังต้องช่วยกันผลักดันอยู่
นอกจากนี้ยังได้ประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เรื่องการปรับมาใช้เครื่องในการตรวจผู้โดยสารขาออก โดยตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.เป็นต้นไป จะใช้เครื่องและกำลังคนผสมกัน โดยให้ความมั่นใจว่า เครื่องดังกล่าวสามารถดักจับได้ทั้งอาชญากร ผู้ที่พำนักอยู่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และผู้ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ถ้าหากตกลงกันจนได้ข้อสรุปภายในปีนี้ คาดว่าในเดือนกรกฎาคม 2567 จะติดตั้งอุปกรณ์เสร็จ และสามารถปรับมาใช้เครื่องตรวจผู้โดยสารขาออกแทนกำลังคนได้ทั้งหมด
ขณะเดียวกับยังรับรายงานการก่อสร้างท่าเทียบเรือ โดยระหว่างการรายงานของเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่รายงานความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ถูกนายกรัฐมนตรี เบรกถึง 2 ครั้ง โดยนายกฯ กล่าวว่า “ผมไม่ได้มาฟังเรื่องพวกนี้ ผมมาฟังปัญหา ขอแต่เนื้อดีกว่า”
นายกรัฐมนตรีขอให้การท่าเรือแถลงผลความคืบหน้าการสร้างท่าเทียบเรือแหลมฉบังในช่วงปลายสัปดาห์หน้า ซึ่งที่ผ่านมามีความล่าช้าเกิดขึ้น แต่ปัจจุบันมีแผนงานในเชิงบูรณาการและจะสามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนได้ ซึ่งหากสามารถขยายพื้นที่รองรับได้ตู้สินค้าได้ 18 ล้านตู้ก็จะสามารถทำให้ไทยอยู่ในลำดับที่ไม่เกิน 15 ของโลก
หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรี เดินมาพบปะกับสื่อมวลชนที่นั่งอยู่ที่ขบวนด้านหน้า โดยได้ถามสื่อมวลชนว่าสนุกหรือไม่ในการเดินทาง สื่อมวลชนถามกลับว่าแล้วนายกรัฐมนตรีสนุกหรือไม่ เศรษฐาตอบว่า การเดินทางมาอย่างนี้ดีมาก ได้นั่งกับหน่วยงาน ทำให้ได้งานมาก
เมื่อถามว่าประชาชนคาดหวังกับนายกรัฐมนตรีที่มาจากภาคธุรกิจในเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้อง มีการวางเป้าไว้อย่างไร เศรษฐากล่าวว่า “มีหลายปัจจัย ผมก็กระตือรือร้นทุกวัน ลักษณะนิสัยของผมไม่ใช่คนอย่างนั้น มีปัญหาต่างๆ รุมเร้าเข้ามามีปัจจัยหลายอย่าง อย่างเรื่อง EEC ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ แต่ใครที่จะมาสร้างโรงงานใหม่ๆ ก็ใช้เวลาไม่ใช่แค่ 5 เดือน 6 เดือน แต่ใช้ระยะเวลาเป็นปี ซึ่งหากเรามีความชัดเจนในทุกเรื่อง เขาก็จะมีกำลังใจขึ้นมา”
เศรษฐายังระบุอีกว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ EEC จะต้องสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจ ทั้งการเชื่อมต่อ ระบบราง ระบบขนส่งทางน้ำและทางอากาศ รวมถึงการจัดสรรพื้นที่ การสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีหลายองค์ประกอบกัน ก่อนที่จะเน้นย้ำว่าต้องสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจและสามารถทำได้จริง ไม่ใช่สร้างวาทกรรมว่ามี EEC แต่ต้องทราบว่ามันติดปัญหาอะไรบ้าง นอกจากนี้หากมีการตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมา ซึ่งต้องดูอีกครั้งว่าจะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหรือไม่ โดยจะมีหน้าที่ทลายอุปสรรคปัญหาต่างๆ