พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

บทวิเคราะห์ : การเมืองปี 66 เข้มยกกำลัง 2

ปี 2566 จะเป็นปีที่การเมืองทวีความเข้มข้นร้อนแรงยิ่งกว่าปีนี้ ไม่ใช่เรื่องศึกอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ของฝ่ายค้าน เพราะดูไปแล้ว คงจะไม่สามารถทำอะไรรัฐบาลได้เหมือนเดิม อีกทั้งยังต้องคอยรักษาองค์ประชุมสภาด้วย จะถือเป็นการย้อนศรของรัฐบาล เพราะก่อนหน้านี้มักไม่แสดงตนร่วมองค์ประชุม จนสภาล่มแล้วล่มอีก

แต่ส่อเค้าความเดือดเพิ่มดีกรีให้กับการเมืองไทยแน่ ๆ เพราะทุกพรรคทุกคนต้องเตรียมพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ส.ส. ตามกติกาใหม่อีก เป็นครั้งที่ 5 ในการเลือกตั้ง ส.ส. 6 ครั้งหลังสุด เพราะแก้แล้วแก้อีก เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก โดยผลประโยชน์สำคัญตกกับนักการเมืองและพรรคการเมือง แต่มักอ้างประชาชน

การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่แคล้วเป็นการสู้กันระหว่าง 2 ขั้วเดิม เหมือนเลือกตั้งปี 62 คือ ขั้วรัฐบาลปัจจุบันที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ สมัยที่ 3 กับขั้วฝ่ายค้านปัจจุบัน ที่ยังนำโดยพรรคเพื่อไทย และชู อิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร เป็นจุดขายสำคัญ ในฐานะทั้งตัวแทนคนรุ่นใหม่และทายาททางการเมืองของตระกูลชินวัตร แม้แกนนำพรรคจะยังไม่พูดชัดเจน แต่ถ้าดูจากผลโพลล์ที่คะแนนนิยมนำโด่ง อย่างไรเสียอิ๊งเป็นแคนดิเดตนายกฯ แน่ ๆ

และถึงแม้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จะประกาศว่าพรรคภูมิใจไทยพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเอง แต่โดยกติกาการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ยังต้องใช้เสียง ส.ว. 250 คน ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คำตอบที่ชัดเจนจึงมีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ยกเว้นจะมีการพลิกแพลงปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ โดยดูจากสถานการณ์หน้างานเป็นสำคัญ

การชิงไหวชิงพริบทางการเมือง การพลิกแพลงยุทธศาสตร์ห้ำหั่นกัน ส่อเค้าลางให้เห็นมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นแยกกันเดิน ร่วมกันตีของ 2 ป. การกางนโยบาย 10 ข้อ รวมทั้งค่าแรงวันละ 600 บาท เกทับก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะพลิกสถานการณ์กลับมาได้เปรียบอีกครั้ง จากการประกาศเป็นแคนดิเดตนายกฯ บัญชีพรรครวมไทยสร้างชาติ

ให้จับตาดูการพลิกยุทธศาสตร์การเลือกตั้งจากทีม เสธ.ทั้ง 2 ขั้วให้ดี จะเป็นแบบไม่มีใครยอมใคร

ถัดมาคือปัจจัยตัดสินแพ้ชนะการเลือกตั้ง เมื่อต่างฝ่ายต่างตั้งการ์ดสูงแบบนี้ จะมีกฎหลากหลายรูปแบบ ทั้งไฮเพาเวอร์พลังดูด การใช้กลไกอำนาจรัฐ การเจรจาต่อรองผลประโยชน์แบบหมูไปไก่มาในทุกเรื่อง แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ คือเงินทุน ซึ่งกูรูส่วนใหญ่ฟันธงคล้ายกันว่า จะเป็นยุทธปัจจัยที่ตัดสินชี้ขาดเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องกระแส

ไม่เพียงจะต่อสู้กันแค่ระหว่างขั้วรัฐบาลกับขั้วฝ่ายค้านเท่านั้น ในสนามเลือกตั้งแม้จะเป็นขั้วการเมืองเดียวกัน แต่การฟาดฟันในพื้นที่ก็จะไม่ลดราวาศอก

ที่น่าจับตาไม่แพ้กัน คือการใช้ปฏิบัติการไอโอ หรือสงครามข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งเฟกนิวส์เพื่อหวังผลการทำลายเครดิตความน่าเชื่อถือฝ่ายตรงข้าม ประกอบกับอุปนิสัยของคนไทยในยุคโซเชียลครองเมือง คนส่วนใหญ่พร้อมจะกดไลค์กดแชร์ส่งต่อข้อความที่ได้รับออกไปสู่คนอื่น ๆ โดยไม่ใส่ใจว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่

แต่ที่มองข้ามไม่ได้ คือการเมืองไทย ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร การแข่งขันครั้งนี้ อาจมีการสลับไพ่เปลี่ยนขั้วได้ตลอด หากมีการเจรจาหรือดีลทางการเมืองเกิดขึ้น และสามารถประสานประโยชน์ได้ลงตัว

หลังจากก่อนหน้านี้ มีข่าวเรื่องดีลลับระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพลังประชารัฐมาหลายครั้ง รวมทั้งครูใหญ่แห่งพรรคภูมิใจ ออกเปิดประเด็นหลังเลือกตั้งทุกพรรคจับมือตั้งรัฐบาลได้

แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมาใน ครม. หรือถูกด้อยค่าจากผู้มีอำนาจในพรรค ซึ่งจะเป็นคนเคาะว่าจะเลือกใครไปมีตำแหน่ง อาจก่อกระแสคลื่นใต้น้ำ หรือแม้แต่งูเห่าภาคใหม่ ที่อาจไม่ได้มาจากพรรคเล็กเหมือนเก่า แต่จะเป็นกลุ่มงูเห่าหลายตัวที่พร้อมจะเกิดขึ้นในพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียวหรือหลายพรรคได้ แล้วอาจนำไปสู่เรื่องกล้วยเลี้ยงลิงอย่างที่ผ่านมาอีกก็ได้

ยังไม่นับความร้อนแรงจากเรื่องอื่น ๆ ที่พร้อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการชุมนุมทางการเมือง ทั้งจากประชาชนหรือกลุ่มที่เดือดร้อนจริง และการชุมนุมที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสารพัดชื่อ เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีแล้ว แม้จะมี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ บังคับใช้อยู่ก็ตาม

ยังไม่นับเรื่องการร้องเรียนเอาผิดในทางการเมือง เพียงเพื่อเรียกเรตติง หรือหิวแสง หรือเพราะหวังผลทางการเมืองก็ตามที แต่ที่สำคัญที่สุดและเกิดขึ้นแน่ ๆ และจะเป็นการจุดกระแสความขัดแย้งไม่จบไม่สิ้น คือเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งฝ่ายหนึ่งล็อกตายเอาไว้ แต่อีกฝ่ายต้องการให้แก้

ยกตัวอย่างเพียงแค่นี้ คงรู้กันแล้วว่า การเมืองปี 66 จะทวีคูณมากแค่ไหน

วิเคราะห์โดย ประจักษ์ มะวงศ์สา

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่


This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More