พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

'สมศักดิ์' ย้ำรับลูกตาม 'ตะวัน-แบม' เรียกร้อง ชี้ ครม. ไม่ขัดแก้กฎกระทรวง

‘สมศักดิ์’ เดินหน้าปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตาม ‘ตะวัน-แบม’ เรียกร้อง ชี้ ครม. ไม่ขัดแก้กฎกระทรวงทำ House Arrest หรือคุมขังนอกเรือนจำระหว่างพิจารณาคดี

วันที่ 15 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการเสนอรายงานแนวทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามข้อเรียกร้องของ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ นักกิจกรรมเยาวชน

สมศักดิ์ เปิดเผยว่า สิ่งที่ทั้งสองคนอยากได้คือ ที่คุมขังไม่ใช่เรือนจำ (House Arrest) คือที่พักของผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ไม่ว่าจะได้รับการประกันตัวแล้ว หรือไม่ถึงสถานะการเป็นผู้ต้องขัง ศาลสามารถให้ไปอยู่ในที่คุมขังไม่ใช่เรือนจำ ไม่ใช่อยู่ในห้องขังแบบนักโทษ เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าต้องแก้กฎกระทรวง ดังนั้น จึงรายงาน ครม. เมื่อวานนี้ พบว่า ครม. ไม่ติดขัดแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ สมศักดิ์ ยืนยันว่า จะไม่มีการปฏิบัติอย่างสองมาตรฐาน เมื่อกฎกระทรวงปิดไว้ ก็จะเปิดออกมาให้สามารถทำได้ ส่วนข้อเรียกร้องการปฏิรูประบบราชการ กระบวนการยุติธรรม และกฎหมาย สมศักดิ์ ชี้แจงว่า สามารถทำได้ ภายใต้กรอบแนวทางกฎหมาย โดยมีคณะกรรมการโครงสร้างใหญ่อยู่แล้ว แต่หากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะเสนอแนวคิดผ่านมาทางกระทรวงยุติธรรม ก็มีความยินดี

ขณะที่ความคืบหน้าของ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มาตรา 22-25 เพื่อขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับ เฉพาะมาตรา 22-25 ออกไป ถึง 1 ต.ค. 2566 จากเดิมจะบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566

สมศักดิ์ ย้ำว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ได้เลื่อน ยังคงบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. ตามกำหนดเดิม แต่จะช้าไว้เฉพาะมาตรา 22-25 ซึ่งว่าด้วยการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว การบันทึกและเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว และการไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน 

โดย พ.ร.ก.ขยายเวลานั้น ยังอยู่ระหว่างรอรับพระราชทาน และประกาศในราชกิจจานุเบกศา ทั้งนี้ เวลาที่ล่าช้าไป 7 เดือนนั้น ต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดหากล้องติดตัว รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อม ไม่เช่นนั้นแล้วหากขั้นตอนการเก็บหลักฐานไม่สมบูรณ์ จะเป็นข้ออ้างหากมีการสู้คดีกันในชั้นศาล ฝ่ายตำรวจจะแพ้

ทั้งนี้ สมศักดิ์ ปฏิเสธไม่ทราบว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า ในกระบวนการจัดซื้ออุปกรณ์จะใช้วิธีเบิกงบกลางหรือไม่

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More