พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 6 : ความไม่คืบหน้า ‘จ่าคลั่ง’ กราดยิงโคราช-เค้กเรือหลวงสุโขทัย

16 ก.พ.2566 ที่อาคารรัฐสภา มีการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 วันสุดท้าย มีการอภิปรายถึงบทเรียนความสูญเสียของกองทัพไทย

ปิดคดีกราดยิงโคราช  ทำนาบนหลังกำลังพล : ปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคก้าวไกล  
  • ผ่านมาแล้ว 3 ปี กับกรณีกราดยิงโคราช เหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิต 30 คน บาดเจ็บ 58 คน และบาดเจ็บสาหัส 5 คน แรงจูงใจของผู้ก่อเหตุ เกิดจากความโกรธแค้นของทหารชั้นผู้น้อย ที่ถูกโกงเงินในโครงการซื้อบ้านของกองทัพบก 
  • โครงการบ้านทหาร เป็นของกรมสวัสดิการทหารบก โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบขายบ้านรายใดต้องการเข้าร่วมโครงการนี้ ต้องได้รับการรับรองจากกรมสวัสดิการทหารบกก่อน โดยกรมฯ จะออกใบอนุญาตว่า ผู้ประกอบการรายใด สามารถขายบ้านได้ที่ไหน จังหวัดใดบ้าง
  • หากทหารคนใดต้องการกู้เงินซื้อบ้านในโครงการนี้ ต้องเริ่มจากขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชาในสังกัด เพื่อตรวจสอบสถานะการเงินและหนี้สินให้เรียบร้อย จากนั้นจึงเอารายละเอียดโครงการไปยื่นต่อกรมสวัสดิการทหารบก เพื่อขออนุมัติการกู้เงิน จากนั้นจะมีคณะกรรมการตรวจสอบหลักทรัพย์มาพิจารณาว่า บ้านที่จะซื้อนั้นมีมูลค่าเทียบเท่ากับเงินที่จะกู้หรือไม่
  • โดยปกติแล้ว เมื่อมีการอนุมัติเงินกู้ กำลังพลที่กู้เงินต้องไปรับเช็คเงินสดที่กรมสวัสดิการทหารบก แล้วเอาเช็คไปขึ้นเงิน เพื่อนำเงินไปจ่ายให้ผู้ประกอบการขายบ้านด้วยตนเอง 
  • ความผิดปกติของเรื่องนี้คือ มีมือมืดที่คอยหักหัวคิว ดังนี้  1.  เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก (ยศพลตรี)  2. ผอ. กองการออมทรัพย์ (พลเอกพิเศษ) 3. เสธ.หัวหน้าเงินกู้ (ยศพันโท) โดยมีกระบวนการดังนี้ 
  • หักค่าหัวคิว 5% หมายถึงบ้านทุกหลังของโครงการนี้ ผู้ประกอบการต้องจ่าย 5% เช่น บ้านราคา 1.5 ล้าน จะต้องจ่ายขั้นต่ำ 75,000 บาท
  • เก็บเงินส่วนต่างค่าบ้าน คือการประเมินราคาบ้านสูงกว่าความเป็นจริง เพื่อให้ผู้กู้ได้เงินส่วนต่างจำนวนมาก โดยเงินทอนส่วนนี้จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของผู้ซื้อและผู้ขายบ้าน 
  • เมื่อเรื่องถูกแฉจนเข้าสู่ที่ประชุมของ กมธ. พัฒนาการเมือง วันที่ 10 พ.ย. 65 เจ้ากรมสวัสดิการทหารบกยืนยันในที่ประชุมว่า “กำลังพลต้องไปรับเช็คด้วยตัวเองที่กรมสวัสดิการทหารบกทุกใบ” 
  • เมื่อเจ้ากรมสวัสดิการทหารบกยืนยันเช่นนี้ แปลว่า ต้องมีหลักฐานบันทึกการเซ็นรับเช็ค กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จึงขอเอกสารดังกล่าว ทว่าผ่านไปแล้ว 4 เดือน ก็ยังไม่ได้รับเอกสารใดๆ โดยอ้างว่า ‘เป็นเอกสารลับทางความมั่นคง’
  • ผู้ประกอบการขายบ้านในโครงการนี้ 2 ราย ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า มี จ่า ส. (อักษรย่อ) เจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการทหารบก ทำหน้าที่ปลอมลายเซ็นและรับเช็คแทนผู้กู้ทั้งหมด โดยทำงานนี้ตั้งแต่ปี 2554-2563 รวมแล้ว 620 รายการ มูลค่า 812 บาท 
  • จากนั้น จ่า ส. จะเอาเงินเข้าบัญชีตนเองก่อน แล้วค่อยโอนเงินทั้งหมดให้ผู้ประกอบการขายบ้าน เพื่อไม่ให้กำลังพล (ผู้ซื้อบ้าน) ได้รับเงินกู้ด้วยตัวเอง จากนั้น ผู้ประกอบการขายบ้าน ต้องโอนเงิน 5% เป็นค่าหัวคิวไปให้มือมืดรายที่ 2 คือ  จ่า ธ. 
  • จากนั้น จ่า ธ. (อักษรย่อ) ก็จะโอนเงินให้กับ ‘เจ้านาย’ ขบวนการนี้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2554-2563 มี เสธ. ผลัดขึ้นมาในตำแหน่งนี้ 3 คน แบ่งเป็ฯ ช่วงปี 2554-2559 คือ พันเอก ภ. ช่วงปี 2559-2562 คือ พันเอก ส. ช่วงปี 2562-2563 คือ พันเอก ช.  
  • หลักฐานที่ชี้ว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง คือเงินไหลเวียนในบัญชีของจ่า ส. เจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการทหารบก ผู้ทำหน้าที่ปลอมลายเซ็นและรับเช็คแทนผู้กู้ไปจแจกจ่ายต่อ พบว่า ในวันที่ 15/08/59 – 23/09/59 หรือแค่ 38 วัน จ่าคนนี้มีเงินเดินบัญชีถึง 181 ล้านบาท ได้แก่ เงินฝาก 90.60 ล้านบาท และเงินถอน 90.46 ล้านบาท ชัดเจนว่า จ่า ส. คือเด็กเดินบัญชีให้กับผู้ใหญ่ในกองทัพ 
  • นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอีกชิ้น คือภาพการส่งสลิปในแชทไลน์ ระหว่าง จ่า ส. กับผู้ประกอบการขายบ้าน โดยรายละเอียดเขียนว่า ‘ยอดบ้าน 1.5 ล้านบาท / 5% คือ 75,000 / จ่าย เสธ. 50,000 บาท และเขียนว่า ดอกเบี้ยเสธ. อีก 100,000 บาท รวม 225,000’
  • สรุปคือ จ่า ส. รับเช็คแทนทหารกำลังพลที่กู้บ้าน แล้วเอาเงินเข้าบัญชีตัวเอง จากนั้นโอนเงินให้ผู้ประกอบการขายบ้าน สุดท้ายคือ ผู้ประกอบการขายบ้านโอนค่าหัวคิวให้ จ่า ธ. เมื่อจ่า ธ. ตรวจยอดเงินแล้ว ก็จะโอนไปให้ เสธ.หัวหน้าเงินกู้ นั่นก็คือ พ.ท.สฤษดิ์ อย่างไรก็ตาม แม้ตำแหน่ง เสธ.หัวหน้าเงินกู้ จะถูกเปลี่ยนคน แต่กระบวนการหักหัวคิวยังคงดำเนินต่อไป 
  • ผู้ประกอบการขายบ้านทุกบริษัทในโครงการนี้ ต้องจ่ายดังรายละเอียดข้างต้น รวมแล้ว 28 บริษัท ทำเช่นนี้มายาวนานถึง 9 ปี ทุกจริตบ้านของนายทหารทั้งสิ้น 620 ราย 
  • กลับมาสู่กราดยิงโคราช ผู้ก่อเหตุ หรือ จ่าคลั่ง ได้ยิงผู้ประกอบการขายบ้านตาย 1 คน ชื่อ ‘ป้าอนงค์’ ซึ่งมีฐานะเป็นแม่ยายของนายทหารซึ่งมีอำนาจอนุมัติให้เงินกู้ และยังสนิทกับทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคนอีกด้วย
  • ป้าอนงค์ ถือว่าใหญ่โตมาก และได้ใช้เส้นสายเคลียร์ปัญหาให้ ‘คุณก้อย’ ผู้ประกอบการขายบ้านคนหนึ่ง จนสามารถดำเนินโครงการขายบ้านต่อไป ต่อมา ‘ป้าอนงค์’ ได้ถือวิสาสะ เอาบ้านในโครงการของ ‘คุณก้อย’ ไปเสนอขายให้กำลังพล และอมเงินส่วนต่างไว้กับตัวเอง 
  • ที่สุดแล้ว กำลังพล 2 นายได้ร้องเรียนว่า ‘คุณก้อย’ อมเงิน ทำให้ความผิดของป้าอนงค์ถูกเปิดเผย จนต้องเปิดโต๊ะเคลียร์กันที่กรมสวัสดิการทหารบก โดยมีกำลังพลคนหนึ่งแอบอัดคลิปสนทนาไว้ ยืนยันได้ว่า มีการอมเงินส่วนต่างไว้จริงๆ 
  • กำลังพลคนนั้นได้คุยกับ เสธ. หัวหน้าเงินกู้ (ช.) วันที่ 14 ม.ค.63 เพื่อเจรจาให้ป้าอนงค์จ่ายเงินคืน 450,000 บาท ช่วงเวลานี้ เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์การกราดยิงโควิด 25 วัน โดยกำลังพลที่ถูกโกง หนึ่งในนั้นคือ จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ถมมา หรือ จ่าคลั่งผู้ก่อเหตุ แปลว่า หากวันนั้น มีการตรวจสอบและคืนความยุติธรรมให้จ่าสิบเอกจักรพันธ์ โดยเร็ว เหตุการณ์กราดยิงโคราช ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น
  • ผู้ประกอบการขายบ้านได้ยื่นเรื่องถึงกระทรวงกลาโหม เรียกร้องให้มีการเอาผิดผู้ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์กราดยิงโคราช ผู้ที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์ และขอให้ ผบ.ทบ. ตรวจสอบ แต่กลายเป็นว่า กลาโหมฯ ได้ส่งนายพันคนหนึ่งไปเจรจากับผู้ประกอบการ เพื่อไม่ให้กองทัพเสื่อมเสีย 
  • ด้วยความหวาดกลัวอำนาจกองทัพ สุดท้าย ผู้ประกอบการต้องเซ็นยอมความ โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเจรจาครั้งนี้ ได้แก่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก. / พลตรี เฟื่องวิทย์ เลาหสุรโยธิน เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก. / พลตรี รชต วงษ์อารีย์ เจ้ากรมการสารวัตรทหารบก / พลเอก นพพร เรือนจันทร์  ในฐานะเลขาคณะกรรมการสอบสวน 
  • คำถามคือ พลเอกประยุทธ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะลุกขึ้นมาตอบว่า นี่คือการทุริตของทหารไม่กี่คนหรือไม่?  ทั้งที่มันคือวัฒนธรรมองค์กรของท่าน ที่สืบสานระบบทุจริตจากรุ่นสู่รุ่น 
เค้กเรือหลวง ผู้ใหญ่อิ่ม ผู้น้อยสูญเสีย : พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ พรรคก้าวไกล
  • กรณีเรือหลวงสุโขทัยอัปปาง คร่าชีวิตทหารเรือไป 24 นาย สูญหายอีก 5 นาย มีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างปฏิเสธไม่ได้ และผู้ที่อยู่ในกระบวนการทุจริตเองก็คาดไม่ถึงว่าจะมาสู่ความสูญเสียมากขนาดนี้ สาเหตุที่เรืออัปปางถูกสังคมตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน้อย 3 ประเด็น 1.ความผิดพลาดของผู้ปฏิบัติงาน 2.สภาพอากาศ และ 3.สภาพความพร้อมรบของเรือ 
  • ประเด็นแรก คือ ความผิดพลาดของผู้ปฏิบัติงาน เมื่อดูภารกิจของเรือหลวงสุโขทัยในวันนั้น เริ่มต้นออกเดินทางจากฐานทัพเรือสัตหีบ ไปร่วมพิธีเทิดพระเกียรติกรมหลวงชุมพรที่จ.ชุมพร แต่ปรากฏว่า มีคลื่นลมแรงไม่สามารถทอดสมอได้ จึงต้องเข้าเทียบท่าใกล้ที่สุด และเป็นท่าเรือน้ำลึกของเอกชนแห่งเดียวตลอดแนวชายฝั่งประจวบฯ – นราธิวาส คือ ท่าเรือน้ำลึกบางสะพาน ซึ่งเรือหลวงสามารถจอดเทียบท่าได้พร้อมกันถึง 3 ลำ 
  • ในวันนั้นเรือหลวงกระบุรี ซึ่งเดินทางไปถึงหาดทรายรีก่อน ก็ทอดสมอไม่ได้ จึงเดินทางเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือบางสะพาน แต่เพราะอะไรเรือหลวงสุโขทัยจึงไม่เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือบางสะพาน ใครเป็นคนสั่งให้เดินทางกลับสัตหีบ เป็นไปไม่ได้ที่ผู้การเรือจะตัดสินใจเดินทางฝ่าคลื่นลมกลับไปสัตหีบ ขณะที่เรือหลวงกระบุรีซึ่งใหญ่กว่า 2 เท่าก็ยังเลือกที่จะจอดเทียบท่า ฉะนั้นเรื่องนี้ รมว.กลาโหมต้องมีคำตอบว่าใครเป็นผู้สั่งการ
  • ประเด็นที่สอง หลังจากเกิดเหตุกองทัพเรือได้ออกมามาชี้แจงว่า เหตุเป็นเพราะวันนั้นเกิดคลื่นลมแรงโดยมีคลื่นสูงถึง 6 เมตร  แต่การพยากรณ์อากาศของกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือในวันนั้น พยากรณ์ว่า มีคลื่นสูงเพียง 2.5 เมตร ขณะที่กรมอุตุนิยิมวิทยาระบุว่า มีคลื่นสูง 4 เมตร ส่วนการพยากรณ์ของเอกชนระบุว่ามีคลื่นสูง 6 เมตร นี่แสดงให้เห็นว่าการพยากรณ์ของกองทัพเรือมีความคลาดเคลื่อน แต่แม้คลื่นจะสูงถึง 6 เมตร ก็ไม่มีทางที่เรือหลวงสุโขทัยจะล่มได้ เพราะเป็นเรือระดับคอร์เวตซึ่งทนต่อคลื่นสูงได้ 6 เมตร และเมื่อลึกเจาะลงไปที่แบบแปลนเรือหลวงสุโขทัย พบว่ามีการแบ่งย่อยเป็นชั้น แต่ละชั้นมีการแบ่งย่อยเป็นห้อง ฉะนั้นหากมีจุดไหนรั่ว ก็จะมีการผนึกปิดกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าไปท่วมให้ห้องอื่นๆ ได้ 
  • หมายความว่า เรือหลวงสุโขทัย ไม่มีทางล่มได้ง่ายๆ แน่นอน นอกจากจะมีเพียงเหตุผลเดียวคือ เรือไม่ได้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ จึงนำมาสู่ความเป็นไปได้ในประเด็นที่สาม คือ เรือหลวงสุโขทัยอยู่ในสภาพพร้อมรบหรือไม่ และเรื่องนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในการซ่อมเรือหลวงสุโขทัย 
  • หลังจากเกิดเหตุ คณะกรรมการธิการการทหาร ได้เชิญกองทัพเรือเข้ามาชี้แจงข้อมูล 4 ครั้ง ครั้งแรก 4 วันหลังจากเกิดเหตุ ในครั้งนั้นได้ขอเอกสารมากมายจากกองทัพเรือ เช่น ประวัติการซ่อมเรือสุโขทัย งบประมาณที่ใช้ในการซ่อมบำรุง บันทึกการปฏิบัติภารกิจ บันทึกการติดต่อสื่อสารระหว่างเรือกับหน่วยงานต่างๆ และรายงานตรวจสอบความพร้อมของเรือก่อนที่ออกเรือจากสัตหีบ ทั้งหมดนี้ยังไม่มีการส่งเอกสารเข้ามาให้คณะกรรมาธิการ เอกสารที่ได้มีเพียง 2 อย่างคือ อัตรากำลังพล และประวัติการบรรจุกำลังพลของเรือ กับเอกสารประเมินสถาพอากาศ ส่วนเอกสารอื่นๆ ผ่านมา 2 เดือนแล้ว กองทัพเรือตอบเพียงยังรวบรวมเอกสารอยู่ 
  • ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารที่มีความห่วงใยในกรณีนี้ ได้ เข้าถึงเอกสารการซ่อมเรือหลวงสุโขทัย และนำมาส่งให้ โดยปรากฎรายละเอียดเกี่ยวกับการซ่อมเรือในปี 2561 จนถึงเดือน ม.ค. 2564 ซึ่งมีการใช้งบประมาณ 60 กว่าล้านบาท แสดงให้เห็นว่ากองทัพเรือพยายามปกปิดความผิดของตนเอง 
  • จากเอกสารนี้พบว่า เรือหลวงสุโขทัยมีปัญหาหลายจุด ซ่อมแล้วซ่อมอีกหลายครั้ง ซึ่งไม่ใช่ความบกพร่องโดยสุจริต แต่เป็นความจงใจบกพร่อง เป็นการทุจริต เป็นการแบ่งกันทำ แบ่งกันกิน ทีละคำ คนละส่วน จนทำให้เรือรบ กลายเป็นขนมเค้ก 
  • สมอเรือ – เอกสารระบุว่า เมื่อทดสอบการใช้งานจริงหลังการซ่อม พบว่า มอเตอร์ฝั่งขวาขัดข้อง หยุดทำงานในบางจังหวะ ต่อมามาตรวัดต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในเรือ ไม่สามารถใช้การได้ ทั้งมาตรวัดแรงดันเครื่องสูบน้ำจืด 2 เครื่อง และมาตรวัดเครื่องสูบน้ำโฟร์แมน 4 เครื่อง สำหรับมอเตอร์สูบน้ำจืดหมายเลข 1 มีน้ำรั่วตรงแกนพัดหนักมาก ส่วนมอเตอร์สูบน้ำจืดสองมีอาการสั่นแรงมากเพราะไม่สมดุล นี่คือสิ่งที่ปรากฏหลังจากออกจากการซ่อมแล้ว 
  • นอกจากนี้ยังพบว่าเครื่องจักรหลายตัวมีอาการสั่นผิดปกติเกินค่ามาตรฐาน ส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าซ่อมเสร็จแล้วแต่ก็ยังพังอีก โดยใช้การได้เพียง 3 เครื่องจาก 4 เครื่อง แต่กองทัพเรือเห็นว่าไม่เป็นไร เพราะเครื่องที่เสียเป็นเครื่องสำรอง ในการเดินเรือใช้จริงเพียงแค่ 2 เครื่อง หมายความว่า ยังมีเครื่องสำรองที่ใช้การได้อีก 1 เครื่องอยู่ แต่เวลาเข้ามาของบในสภา มีการระบุว่า จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อเตรียมสภาพความพร้อมในการรบ กรณีนี้กลับไม่ได้ทำตามมาตรฐานความพร้อมรบ 
  • นอกจากนี้ยังมีปัญหาสำคัญคือการซ่อมตัวเรือ เนื่องจากแผ่นเหล็กของตัวเรือที่มีการใช้งานไปนานๆ ก็อาจเกิดการสึกกร่อน การซ่อมบำรุงก็จำเป็นต้องตัดแผ่นเหล็กเดิมออกและเชื่อมแผ่นใหม่ให้มีขนาดเท่าเดิม ความหนาเท่าเดิม ตามมาตรฐาน
  • ก่อนที่จะเริ่มซ่อมได้มีการตรวจสอบตัวเรือ เอกสารในวันที่ 12 ก.ย. 2561 พบว่า มีทั้งหมด 13 จุดที่จะต้องเปลี่ยนแผ่นเหล็กให้หนาขึ้น เรื่องนี้ทางเพจ CSI LA ได้ออกมาตั้งคำถามว่า มีการซ่อมเรือโดยใช้แผ่นเหล็ก AH-36 หรือไม่ ลวดเชื่อมเหล็กได้มาตรฐานหรือไม่ และช่างเชื่อมมีใบรับรองในการซ่อมเรือรบหรือไม่ 
  • แทนที่กองทัพเรือจะออกมาตอบด้วยเอกสารหลักฐาน กลับชี้แจงว่า CSI LA เข้าใจผิด เพราะเอกสารนั้นเป็นเอกสารก่อนที่จะส่งซ่อมและทั้งหมดซ่อมหมดแล้ว แต่เกมพลิกเพราะวันต่อมา CSI LA ออกมาเปิดหลักฐานใหม่อีก ระบุว่าแท้จริงแล้วจาก 13 จุดมีการซ่อมไปเพียง 5 จุด เหลือ 8 จุดที่ยังมีปัญหาอยู่ มากไปกว่านั้นพบว่ามีการซ่อมรวมทั้งหมด 15 จุด แต่เป็นการซ่อมในจุดที่ไม่ต้องซ่อมไป 10 จุด ซึ่งเป็นจุดที่ไม่ได้บางลงเลย
  • ส่วนจุดที่สมควรจะซ่อมแต่ไม่ได้ซ่อมนั้นพบว่าบางลง 12-15% และอยู่ในจุดสำคัญของเรือคือ บริเวณกระดูกงู กาบซ้าย กาบขวาของเรือ หากเกิดรอยร้าว เกิดรูรั่ว น้ำจะเข้าไปยังห้องเครื่องยนต์ดีเซล และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทันที  คำถามคือ กองทัพเรือตรวจรับงานกันอย่างไร 
  • ส่วนผู้รับงานซ่อมเรือรบครั้งนี้ คือ บริษัทที่เป็นห้องแถว จดทะเบียนด้วยทุน 1 ล้านบาท มีพนักงาน 20 คน ฟังดูไม่น่ามีศักยภาพในการซ่อมเรือรบได้ แต่กลับได้รับงานเพราะสายสัมพันธ์ที่ดีกับ นายพล ว. อดีตเจ้ากรม และกินงบประมาณกันมหาศาล ซ่อมจริงมากเท่าไหนไม่มีใครรู้ เพราะแค่เห็นเรือลอยน้ำได้ก็หลับตาเซ็นรับเรือไป 
  • นอกจากนี้ยังพบความปิดปกติของครีบกันโคลง ซึ่งปกติมีไว้ใช้รักษาสมดุลเรือ หากเจอคลื่นลมครีบจะช่วยให้เรือไม่เอียงไปเอียงมา แต่เรือสุโขทัยไม่มี กองทัพเรือตอบแค่ว่า เรือเก่าแล้วไม่มีอะไหล่เปลี่ยนจึงถอดออกเสีย และไม่มีผลที่ทำให้เรือล่ม
  • คำชี้แจงฟังไม่ขึ้น เพราะไม่ว่าเรือจะเก่าแค่ไหน อะไหล่สำคัญอย่างครีบกันโคลงสามารถหามาเปลี่ยนได้ แต่ที่หาไม่ได้น่าจะเป็นเพราะบริษัทห้องแถว โดนถอนเงินจนไม่เหลือซื้ออะไหล่หรือไม่ และกรณีที่บอกว่าการไม่มีครีบกันโคลงนั้นไม่ทำให้เรือล่ม แต่การไม่มีกลับทำให้เรือโคลงมากขึ้น
  • หากน้ำไม่ได้รั่วเข้ามาทางกาบเรือหรือบริเวณกระดูกงู บริเวณที่น้ำจะเข้าได้อีกคือ ท้ายเรือ บริเวณแบริ่งรับรองเพลาจักร อุปกรณ์ที่เป็นเหล็กทรงกลมที่ด้านในมีท่อยางอยู่ เพื่อใช้โอบอุ้มแกนเพลา และอุดช่องใต้ท้องเรือไม่ให้น้ำไหลย้อนไปสู่ตัวเรือได้ จากรายงานผลการซ่อมเรือพบว่าอุปกรณ์นี้ยังปกติ แต่ไม่อาจมั่นใจได้ เพราะมีหลักฐานว่าเรือรบของกองทัพอย่างน้อย 2 ลำคือ เรือหลวงรัตนโกสินทร์ มีการซื้ออะไหล่เพลาแบริ่ง เมื่อปี 2560 แต่ตอนนี้ยังไม่มีการซ่อม ส่วนเรือหลวงสีชัง มีการซื้ออะไหล่มาในมูลค่า 2.4 ล้านบาท แต่ตอนตรวจรับพบว่าเป็นอะไหล่เก่ามาย้อมแมวขาย และกองทัพเรือก็เซ็นรับไว้
  • ในปีงบประมาณ 2566 เรือหลวงสุโขทัยยังมีรายการรอซ่อมอยู่ทั้งหมด 19 รายการ งบ 16.25 ล้านบาท โดยจุดที่ใหญ่ที่สุดคือการซ่อมเกียร์ฝั่งซ้าย 7.5 ล้านบาท แต่ยังมีการให้เอาเรือออกไปปฏิบัติการอยู่ และไม่ได้อยู่ในสภาพพร้อมรบอย่างที่ควรจะเป็น 
  • นอกจากตัวเรือไม่พร้อมรบ ตัวกำลังพลบนเรือก็ไม่พร้อมเช่นกัน พบว่า ขาดกำลังคนไป 22 อัตรา โดยตำแหน่งที่สำคัญที่สุดที่ว่างลงคือ ต้นกล หรือคนที่รับผิดชอบงานวิศวกรรมบนเรือ ทั้งใช้งานและการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ใต้แนวน้ำ ตลอดจนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรม และจะเป็นผู้ร่วมตัดสินใจในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน
  • ความน่ากังวลมากไปกว่านี้ คือ ไม่ใช่เพียงเฉพาะเรือหลวงสุโขทัย ที่ไม่มีความพร้อมรบ แต่ยังมีเรือหลวงอีกหลายลำที่อยู่ในสภาพไม่พร้อมรบเหมือนกัน แต่ยังคงออกปฏิบัติการอยู่เป็นปกติ
ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More