พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

นายกฯ ชี้แจงสภา ยืนยันทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน

วันนี้ (16 ก.พ.2566) เวลา 19.19 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กล่าวชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ประเด็นการปฏิรูประบบราชการ และกฎหมาย 

โดยนายกฯ กล่าวขอบคุณสำหรับข้อมูลต่างๆ อันเป็นประโยชน์ หลายอย่างเป็นข้อมูลที่ดีเพื่อปรับปรุงการทำงานต่อไป ทุกคนต้องเข้าใจว่ารัฐบาลต้องดูแลคนทั้งประเทศ ซึ่งมีทั้งคนดี คนไม่ดี คงไม่ใช่เฉพาะเจ้าหน้าที่ ฉะนั้นทุกคนต้องช่วยกันดูแลให้สังคมปลอดภัย คนไม่ดีต้องถูกลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง นายกฯ และรัฐบาลจะทำให้ดีที่สุด เพื่อให้ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข เป็นสังคมที่มีคุณธรรม ไม่ขัดแย้งด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง ด้วยการยุแยง หรืออยู่เบื้องหลังให้ทุกคนออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ซึ่งเป็นอันตรายต่อประเทศไทย

นายกฯ ยืนยันหากมีการกระทำความผิด ก็จะไม่มีการยกเว้น เราต้องทำให้กฎหมายเป็นกฎหมาย ต้องเคารพในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ นายกฯ ก็ถูกตรวจสอบมาตลอด เมื่อมีคดีฟ้องร้องมาก็ได้ชี้แจง จัดผู้แทนไปชี้แจงคดีต่าง ๆ 300 – 400 คดี รวมทั้งได้แจ้งทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. ไปแล้ว กฎหมายบอกว่าไม่ต้องแจ้ง แต่ก็ได้แจ้งไป ส่วนที่ ป.ป.ช. ไม่เปิดเผยก็เป็นเรื่องของ ป.ป.ช.

นายกฯ ยังกล่าวขอให้ประชาชนเข้าใจว่าทุกการปฏิรูป ต้องอาศัยเวลา และความร่วมมือ ความรักความสามัคคี จึงจะไปได้ ความเห็นที่ดีก็ได้รับมาพิจารณา สิ่งใดทำได้ก็ทำให้ แต่ถ้ามีผลกระทบกับผู้อื่นก็จำเป็นต้องหารือให้ได้ข้อสรุป ทั้งนี้ การปฏิรูปเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาทับซ้อนมาเป็นเวลายาวนาน มีอุปสรรค ต้องมีแผนการปฏิบัติอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นแผนระยะสั้น ระยะปานกลาง ระยะยาว บางอย่างเห็นผลแล้ว และอีกหลายอย่างจะสัมฤทธิ์ผลเมื่อถึงเวลาของมัน

สิ่งสำคัญคือต้องอดทน ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ซึ่งรัฐบาลนี้ได้เริ่มให้มีการปฏิรูปแล้วหลายเรื่อง โดยมีการปฏิรูปกฎหมาย 6 กฎหมายที่ถือว่าเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมให้กับประเทศชาติ และประชาชนโดยรวม ได้แก่

1. พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ เปิดเผยขั้นตอน และ ระยะเวลาในการทำงานทุกกระบวนงานของหน่วยงานของรัฐชัดเจน ลดภาระประชาชน สะดวกขึ้น ประหยัดเงิน ลดขั้นตอน สกัดทุจริตในระบบราชการ เอาของที่อยู่ใต้โต๊ะขึ้นมาบนโต๊ะ ลดทุจริตคอรัปชัน เพื่อความโปร่งใส เป็นกฎหมายเพื่อทุกคน

2. พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ อัพเกรดระบบทำงานทันโลกยุคใหม่ ลดการใช้กระดาษ ลดขั้นตอน ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ รองรับการ work from home รักษาความลับทางราชการไม่ให้รั่วไหล

3. พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เดิมเวลาติดต่อราชการ เจ้าตัวต้องไปปรากฏตัวพร้อมบัตรประชาชน แต่เวลานี้การติดต่อราชการทุกแห่ง สามารถทำได้ด้วยออนไลน์ เจ้าตัวไม่ต้องไปปรากฏตัวก็ได้ ยกเว้น จดทะเบียนสมรส หย่า แจ้งรับบุตรบุญธรรม การทำบัตรประชาชน และทำพาสปอร์ต ที่ยังคงต้องไปปรากฏตัว

4. พ.ร.ก. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ แก้ไขดอกเบี้ยผิดนัดมหาโหด และวิธีคิดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม ถือเป็นการปฏิวัติดอกเบี้ยที่ใช้มานานเกือบ 100 ปีแล้ว เป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การคิดดอกเบี้ยในประเทศไทย เป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศได้อย่างยั่งยืน โดย

(1) ให้ชำระดอกเบี้ยลดลง จากเดิมร้อยละ 7.5 เหลือร้อยละ 3 ต่อปี
(2) กรณีผิดนัดชำระหนี้ ให้ชำระหนี้ร้อยละ 5 ต่อปี ลดจากเดิมร้อยละ 7.5 ต่อปี
(3) การคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

ต้องคิดจากเงินต้นที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเท่านั้น ไม่ใช่คิดจากเงินต้นทั้งหมด ที่ลูกหนี้ยังค้างชำระอยู่ จึงเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ลูกหนี้ที่ถูกบิดเบือนมานับศตวรรษ โดยหลักการนี้ถูกขยายผลอย่างกว้างขวาง ผลักดันให้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยใหม่ ในการเช่าซื้อยานพาหนะต่าง ๆ ให้เป็นธรรมกว่าเดิม

(1) รถยนต์ใหม่ ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี
(2) รถยนต์ใช้แล้ว ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
(3) รถจักรยานยนต์ ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 23 ต่อปี

ถ้าใครบริหารหนี้ได้ดี สามารถปิดบัญชีได้ก่อนกำหนด ผู้ขายต้องให้ส่วนลดกับผู้เช่าซื้อด้วย กล่าวคือ การคิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี หรือ Effective Interest Rate แบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวด ไม่ใช่คิดดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่ (Flat rate) แบบเดิม จึงถือว่าเป็นกฎหมายเพื่อคนจนอย่างแท้จริง

5. พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย คุกไม่ได้มีไว้ขังคนจน แต่คุกมีไว้ขังคนกระทำความผิด กำหนดให้ใช้โทษอาญาเพียงเท่าที่จำเป็น โทษปรับอาญา สำหรับความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ร้ายแรง จะถูกแปลงเป็นโทษปรับเป็นพินัยแทน เช่น อาจทำงานให้สังคม แทนการรับโทษทางอาญา และจะไม่มีการบันทึกประวัติอาชญากรรม

6. พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อช่วยเด็กไทยยากไร้กว่า 6 ล้านคน ให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ปรับลดเพดานทั้งอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา และอัตราดอกเบี้ยผิดนัด ขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ให้ยาวขึ้นจาก 15 ปี เป็น 30 ปี ยกเลิกให้ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน และผู้กู้สามารถกู้ยืมไป Reskill หรือ Upskill เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา และความต้องการแรงงานยุคใหม่ได้ด้วย ทั้งนี้ ก็ขอให้สมาชิกที่กู้เงิน กยศ. นานแล้วหลายสิบปีมาแล้ว ชำระเงินคืนด้วย หลายคนที่เรียนจบมาแล้วยังไม่ได้คืน

นายกฯ กล่าวด้วยว่า กฎหมายเป็นทั้งเครื่องมือขับเคลื่อนประเทศ และอุปสรรคขวางการพัฒนาถ้ากฎหมายล้าสมัย ซ้ำซ้อน หรือขัดแย้งกันเอง ประเทศไทยมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราว 1,400 ฉบับ และกฎหมายรองอีกกว่า 100,000 ฉบับ รัฐบาลนี้พยายามปลดล็อกพันธนาการจากกฎหมายที่ล้าสมัย และเร่งขับเคลื่อนประเทศจึงได้กิโยตินกฎหมายที่ไม่จำเป็น และทบทวน แก้ไข ปลดล็อก 1,094 กระบวนงานของภาครัฐ นำมาสู่การลดขั้นตอน ลดภาระประชาชน และผู้ประกอบการ ลดค่าใช้จ่าย และต้นทุนให้ภาคการผลิตได้ถึง 133,816 ล้านบาทต่อปี หรือ 0.8% ของ GDP

โดยนายกรัฐมนตรีย้ำในตอนท้ายว่า หน้าที่นี้เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ ในการแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยเหล่านี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More