พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

9 วีรกรรม ‘กอ.รมน.’ ตัวตึงที่ไม่ยอมตาย ยืนหนึ่งยุคสงครามเย็น ปราบภัยความมั่นคง ที่ประชาชนเป็นเป้า

รีวิว 9 ผลงานอันโดดเด่นของ ‘กอ.รมน.’ เนื่องในวันสถาปนากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น จนถึงปัจจุบัน

‘กอ.รมน.’  ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงต้น ทศวรรษ 2500 ยุคที่รัฐทหารกำลังเผชิญกับขบวนการคอมมิวนิสต์คอมมิวนิสต์ เหตุเพราะรัฐไทยหวาดกลัวว่าประชาชนจะหันหน้าไปหาลัทธิคอมมิวนิสต์ รัฐจึงได้จัดตั้ง กองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ ในปี 2508 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ ในปี 2512  และเปลี่ยนมาเป็น กองอำนวยการรักษาความ มั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ในปี 2518 จนถึงปัจจุบัน 

ภารกิจ กอ.รมน. นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถือว่ามีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมจักรวาล ไม่ว่าจะต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ ทำหน้าที่เป็นแนวรุกทางการเมือง การข่าว และจิตวิทยามวลชน ใช้ปฏิบัติการทาง สงครามควบคู่ไปกับการพัฒนา หรือในยุคการรัฐประหาร 2549 และ 2557  กอ.รมน. ก็ถือเป็นแขนขาสำคัญ ในการเข้าควบคุมงานความมั่นคงของประเทศทั้งระบบ เรียกได้ว่าทำตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ เช่น

ติดตามความเคลื่อนไหวของนักการเมือง กลุ่มการเมืองขั้วตรงข้าม และแจ้งความดำเนินคดีในความผิดฐาน ม. 116 สกัดกั้นช่องทางการสื่อสารของนักการเมืองหรือกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้าม จับตาความเคลื่อนไหวในโลกไซเบอร์ โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่ถูกมองว่ามีเนื้อหาหมิ่นสถาบัน ระดมมวลชนในสังกัดออกสนับสนุนการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญและรณรงค์ให้คนออกไปลงประชามติเมื่อปี 2559 ฯลฯ

ยังไม่นับโครงการอีกล้านแปดพันเก้า จากการใช้งบประมาณมหาศาลของ กอ.รมน. แม้ภายใต้ พรบ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ได้กำหนดหน้าที่และอำนาจของ กอ.รมน. ไว้ว่า ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่ดูเหมือน ‘ภัยคุกคามความมั่นคง’ ที่ว่า จะถูกตีความครอบคลุมทุกซอกหลืบและเรือนบ้านของคนในสังคมไทยจนน่าตกใจ

17 กุมภาพันธ์ คือวันสถาปนากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เราจึงชวนทุกท่านมาสำรวจภารกิจอันโดดเด่นของ กอ.รมน. หน่วยงานที่ขยันที่สุดในประเทศไทย นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ถีบลงเขา เผาลงถังแดง

“ถีบลงเขา เผาลงถังแดง” เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น ช่วงปี 2514 – 2515 เป็นปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ (ปัจจุบันกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน – กอ.รมน.) ได้เข้าปราบปรามแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และสังหารประชาชนไปกว่า 3,000 คน

การเผาลงถังแดง คือเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐ จับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ สมรู้ร่วมคิด หรือให้ความช่วยเหลือคอมมิวนิสต์มาสอบสวนและสังหาร โดยการตีให้สลบ ก่อนจะนำไปใส่ในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ราดน้ำมัน และจุดไฟเผา เหยื่อบางรายเสียชีวิตก่อนถูกเผา ทว่าบางรายถูกเผาขณะที่ยังมีชีวิต ตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ถังแดง จากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยระบุไว้ว่า 3,008 คน

การปราบปรามคอมมิวนิสต์ด้วยวิธีดังกล่าว เกิดขึ้นปลายปี 2515 กระทั่งต่อมา วิธีสังหารประชาชนเช่นนี้ค่อยๆ หมดไป หลังชัยชนะของนักศึกษาและประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม  2516 บวกกับกระแสประชาธิปไตยที่กำลังเบ่งบาน ทำให้วิธีการปราบปรามเปลี่ยนจากการเผา เป็นการยิง 

ทวงคืนผืนป่า 

หลังการยึดอำนาจ ปี 2557 คสช. ชูการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าเป็นเรื่องสำคัญในลำดับต้น  ประชาชนหลายพันครอบครัวในหลายจังหวัดทั้ง ภาคเหนือ อีสาน และใต้ ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ป่าสงวนตามคำสั่ง ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2557 ลง นามโดยหัวหน้า คสช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยิ่งไปกว่านั้น ในเดือนสิงหาคม คสช. ได้ประกาศแผนแม่บทป่าไม้ เป้าหมายคือ เพิ่มพื้นที่ป่าจาก 31.37 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั่วประเทศเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ต่ำ กว่า 128 ล้านไร่ภายในระยะเวลา 10 ปี 

เหตุการณ์นี้นำไปสู่คำถามว่า ทำไมทหารจึงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการด้านทรัพยากรธรรมชาติ

ต่อมา คสช. ออกคำสั่งที่ 64/2557 มอบหมายให้กองทัพและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ดำเนินการทวงคืนผืนป่าและปราบปรามผู้บุกรุก และคำสั่งที่ 66/2557 กำหนดข้อปฏิบัติเพิ่มเติมว่า การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน

แม้ว่า คสช. จะกำหนดข้อยกเว้นไม่บังคับใช้มาตรการนี้กับผู้ยากไร้ แต่ในทางปฏิบัติผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่กลับเป็นชาวบ้านผู้ยากไร้ ชาวบ้านต้องถูกบังคับย้ายถิ่นฐานโดยไม่มีที่ทำกินรองรับ หลายคนยังไม่มีที่อยู่อาศัยใหม่จนปัจจุบัน ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายจังหวัด เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่าน และสุราษฎร์ธานี 

บีบีไทย ได้เปิดเผยเอกสารภายในของ กอ.รมน. ที่จัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2558 ระบุว่า กำชับให้เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. หลีกเลี่ยงการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ “เพื่อป้องกันไม่ให้ความรู้สึกต่อต้านรัฐบาลขยายตัว” เอกสารดังกล่าว ยังระบุหลักเกณฑ์การพิจารณาว่า ประชาชนใดที่ถือเป็น “ผู้ยากไร้” เช่น ครอบครองที่ดินไม่เกิน 25 ไร่ แต่ปรากฏว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง โดย กอ.รมน. ได้ชี้แจงต่อสำนักคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า เพราะเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงจดหมายเวียนภายในเท่านั้น

กล่าวได้ว่า รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ใช้ กอ.รมน เป็นเครื่องมือในการทวงคืนผืนป่าตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีชาวบ้านกลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องคดีไปแล้วกว่า 46,000 คดี 

การจัดตั้งมวลชนฝ่ายขวา

เป็นที่รับรู้ว่า งานหลักที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของ กอ.รมน.คือ การทำงานมวลชน เป็นการสร้างความคุ้นเคย ซื้อใจ กระทั่งจัดตั้งมวลชนให้มีแนวความคิด ความเชื่อ ดังที่กองทัพต้องการ

ในสมัยยุคปราบคอมมิวนิสต์ ประชาชนบางกลุ่มได้รับแจกและฝึกให้ใช้อาวุธ ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับรัฐ คอยรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มเป้าหมายให้กับเจ้าหน้าที่ได้รับทราบ 

งานของ พวงทอง เรื่อง กิจการพลเรือนของทหารในยุคประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง:พัฒนาการและความชอบธรรม ระบุว่า ก่อนปี 2521 มวลชนภายใต้การจัดตั้งของทหารและมหาดไทยมีมากกว่า 20 กลุ่ม เช่น กองอาสารักษาดินแดน, ราษฎรอาสาสมัคร, ราษฎรรักษาความสงบและพัฒนาหมู่บ้าน, ชุดปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน, ไทยอาสาป้องกันตนเอง, อาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน, ราษฎรอาสาสมัครพัฒนาท้องถิ่นและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม, กองกำลังติดอาวุธ, กลุ่มเสียงชาวบ้าน, กลุ่มบางระจัน เป็นต้น แต่เกิดปัญหาความซ้ำซ้อน หลายกลุ่มไร้ประสิทธิภาพ และแย่งชิงงบประมาณกันเอง หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ รัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงได้ยุบกลุ่มต่างๆ ให้มารวมกัน โดยกลุ่มหลักที่ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบันได้แก่

1) ไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.)

2) กองหนุนเพื่อความมั่นคงของชาติ (กนช.)

3) โครงการอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.)

4) ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)

5) อาสารักษาดินแดน (อ.ส.)

6) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน

7) ลูกเสือชาวบ้าน 

กลุ่มที่ 1-4 อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กอ.รมน. โดยตรง ส่วนกลุ่มที่ 5 และ 6 สังกัดกรมการปกครอง กลุ่มที่ 7 ขึ้นกับกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน และได้รับพระบรมราชานุเคราะห์ตั้งแต่ปี 2515 แม้ว่ากลุ่มที่ 5-7 จะไม่ได้ขึ้นกับ กอ.รมน. โดยตรง แต่ กอ.รมน. เข้าไปมีบทบาทในการวางแผน-อบรม-ระดมมวลชนเหล่านี้ให้ทำกิจกรรม

หลังรัฐประหารปี 2549 บทบาทของ กอ.รมน. ปรากฏให้เห็นตามรายงานของสื่อมวลชนมากขึ้น และบทบาทบางอย่างคล้ายกับสิ่งที่เคยปฏิบัติในช่วงสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ เช่น การเฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม, จัดตั้งและฟื้นฟูองค์กรมวลชนขึ้นมาใหม่, ระดมมวลชนของตนให้ทำกิจกรรมสนับสนุนแนวคิดทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม และต่อต้านฝ่ายตรงข้าม 

จัดตั้งมวลชนยุค 4.0 ล้างสมอง 70,000 หมู่บ้าน

การเคลื่อนไหวของ กอ.รมน. ในการจัดตั้งมวลชนหลังรัฐประหารปี 2557 พบว่า มีการใช้กลไก กอ.รมน. ในการระดมความเห็นทั่วประเทศเกี่ยวกับแผนการปรองดอง การปฏิรูป (เวทีปรองดองต่างจังหวัดห้ามนำมือถือเข้า กอ.รมน.แจง ไม่ต้องการให้นำความเห็นไปขยายความ)

ในช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ขณะที่กลุ่มนักศึกษาประชาชนรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญถูกจับกุมและฟ้องศาลดำเนินคดีฐานผิด พ.ร.บ.ประชามติมากมาย แต่รัฐใช้ กอ.รมน. ในการสร้างความเข้าใจ เรื่องร่างรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ  

“หาก กรธ. (คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ) ร้องขอมา กอ.รมน.พร้อมนำกลุ่มพลังมวลชนเช่น ลูกเสือชาวบ้าน ไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) มวลชน กอ.รมน. กองหนุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ (กนช.) และหมู่บ้านอาสาพัฒนาเพื่อป้องกันตนเอง (อพป.) มาให้การช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติงานของทางราชการ เชื่อมั่นว่าการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์จะเข้าถึงประชาชนโดยตรงทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง” โฆษก กอ.รมน.กล่าว

แม้แต่การผลักดันนโยบายของรัฐบาล คสช. ในช่วงหลังรัฐประหาร ทาง กอ.รมน.ก็ได้ให้การสนับสนุนอย่างดี โดยมีการเข้าไปอบรมเรื่อง ประชาธิปไตย เศรษฐกิจพอเพียง ในหมู่บ้านทั่วประเทศกว่า 70,000 หมู่บ้าน ผ่านโครงการประชารัฐในชื่อ ไทยนิยมยั่งยืน โดยคัดเลือกชาวบ้านราว 120 คนต่อหมู่บ้านร่วมพูดคุยถึงความต้องการพัฒนาพื้นที่และรับการอบรมดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีการอบรมในสถานศึกษาทั้งระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย เช่น โครงการเพชรในตม, เยาวชนคนดีคนเก่ง, ทำดีเพื่อพ่อฯลฯ และขยายไปทำกิจกรรมกับกลุ่มข้าราชการ นักธุรกิจ และกลุ่มศาสนา เช่น สมาคมนักธุรกิจรักษาความมั่นคงแห่งชาติ, ชมรมผู้นำชุมชนมุสลิมรักษาความมั่นคงภายใน, ชมรมไทย-ซิกข์รักษาความมั่นคงภายใน, ชมรมไทย-อินเดียรักษาความมั่นคงภายใน, กลุ่มบิ๊กไบค์ไทยใจรักแผ่นดิน, และกลุ่มออฟโรดไทยใจรักแผ่นดิน เน้นย้ำอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  รวมถึงการให้จับตาสอดส่องมวลชนด้วยกันเองทั้งในสังคมและในโลกไซเบอร์ 

บทเพลงเพื่อชาติและราชบัลลังก์ 

17 สิงหาคม 2565 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

ในวันนั้น มีการจัดกิจกรรม ประกวด “บทเพลงเพื่อชาติและราชบัลลังก์” โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการมอบรางวัล 

จากการตรวจสอบประกาศราคากลาง ของเว็บไซต์ กอ.รมน. พบการจ้างดำเนินการโครงการเสริมสร้างความรักสถาบันและความสามัคคี กิจกรรมบทเพลงเพื่อชาติและราชบัลลังก์ ประจำปีงบประมาณ 2565 สนับสนุน สลก.กอ.รมน. โดยวิธีคัดเลือก ซึ่งระบุราคากลางไว้ที่ 20 ล้านบาท

เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  ระบุว่า กิจกรรมในโครงการเสริมสร้างความรักและความสามัคคี เพื่อใช้กระตุ้นปลูกฝังจิตสำนึกและปลูกฝังการรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความรัก ความสามัคคี และการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ รวมถึงเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วมและแสดงความสามารถทางด้านการเล่นดนตรี การขับร้อง และการแต่งเพลง ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมพัฒนา สร้างสรรค์วงการเพลงและดนตรีให้เติบโตในทิศทางที่ดี ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญช่วยส่งเสริมสานต่อวงการดนตรีให้เจริญก้าวหน้าอย่างมีศักยภาพต่อไปในอนาคต และยังเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power อันจะเชื่อมโยงเศรษฐกิจ สังคม ชื่อเสียงของประเทศชาติต่อไปอีกด้วย

โครงการดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการใช้งบประมาณมหาศาลที่ไม่มีประโยชน์ อีกทั้งที่ผ่านมา กอ.รมน.ได้งบประมาณไปกว่า 5,400 ล้านบาท ทว่าหากไปดูในรายละเอียด จะพบโครงการจำนวนมากที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศแต่อย่างใด

ปิดปากสื่อ จับตาเสื้อแดง 

เมษายน 2554 สำนักข่าวไทยรัฐรายงานข่าวว่า กอ.รมน. สั่งปิดสถานีวิทยุชุมชนเสื้อแดง 13 แห่ง ด้วยเหตุผลว่า สถานีวิทยุเหล่านี้มีเนื้อหาล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์ 

กอ.รมน. กลายเป็นหน่วยงานที่ถูกใช้เพื่อติดตามสอดส่องและสกัดกั้นความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง เช่นเดียวกับช่วงหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ชาวบ้านเสื้อแดงในภาคอีสานและภาคเหนือพบว่า มีทหารพร้อมอาวุธเคลื่อนกำลังเข้าไปประจำ ในหมู่บ้านของตนในทันที ผู้นำเสื้อแดงในท้องถิ่น จำนวนมากถูกคุมตัว หรือถูกเรียกตัวเข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติในทันที 

กอ.รมน. ยังมีบทบาทสำคัญในการจับตาการเคลื่อนไหวในโลกไซเบอร์ โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่ ถูกมองว่ามีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เช่น ในปี 2558 กอ.รมน. ได้สั่งปิดหน้าเว็บ 5,268 URL ของเว็บไซต์ 143 แห่ง และสั่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารปิดหน้าเว็บไปอีก 3,426 URL

ยึดบอร์ดเกมในร้านกาแฟ

28 พฤศจิกายน 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าตรวจยึดชุดเกมการ์ด Patani​ Colonial​ Territory​ จากร้านกาแฟ Life Coffee Slow Bar ในตลาดบันนังสตา ของ ฟุรกอน มะลี โดยไม่แสดงหมายค้นใดๆ ต่อเจ้าของร้าน

เหตุเกิดจากบอร์ดเกม Patani Colonial Territory ซึ่งเป็นเกมสำหรับเยาวชน มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานี ถูกร้องเรียนว่า บิดเบือนข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะกรณี ‘เอ็นร้อยหวาย’ โดยผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในกรณีนี้ว่า ตนไม่เห็นด้วยที่บอร์ดเกมของเยาวชนใช้ข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ล้าสมัย มาสร้างความสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับข้อมูลผิดๆ ในพื้นที่อ่อนไหวทางความมั่นคง 

“ผมไม่เห็นด้วยในการใช้ข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ outdate มาสร้างความสุ่มเสี่ยงประเด็น Misinformation/Disinformation ในพื้นที่อ่อนไหวทางความมั่นคง ผ่านสื่อที่เข้าถึงเยาวชนที่อาจจะยังไม่รู้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เรื่องนี้ ฝ่ายความมั่นคงควรนำมาพิจารณาครับ”

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ข้างต้น ล่าสุด พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) ออกคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แต่งตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบกิจกรรมที่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคมและด้านการเมือง  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การติดตามตรวจสอบการจัดกิจกรรมที่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคมและด้านการเมือง ในการหาข้อมูล ประเด็นความผิดเพื่อใช้ในการดำเนินคดีตามกฎหมายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ตรวจดีเอ็นเอารก 5 เดือน 

ปี 2558 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง สนธิกำลัง 3 ฝ่าย ค้นหาผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เข้าปิดล้อมบ้านพร้อมกับเชิญตัว สามี-ภรรยา พร้อมครอบครัว รวมแล้ว 5 คน เพื่อนำไปตรวจ DNA 

โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า บุคคลทั้ง 5 ราย มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกับบุคคลตามหมายจับคดีความมั่นคง การตรวจดีเอ็นเอจึงเป็นขั้นตอนสำคัญ เพื่อนำไปเปรียบเทียบหาสารดีเอ็นเอของบุคคลตามหมายจับ และเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามจับกุมให้แม่นยำด้วยหลักฐาน เพื่อป้องกันการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้งโดยใช้กฎหมาย

หนึ่งในผู้ถูกตรวจ DNA คือทารกอายุ 5 เดือน โดยเจ้าหน้าที่ใช้สำลีพันก้านเข้าไปในช่องปากเพื่อเก็บน้ำลายข้างกระพุ้งแก้มมาตรวจหาสารดีเอ็นเอ 

กรณีนี้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ โดยนักสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชนต่างออกมาตั้งคำถามว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ต้องเก็บ DNA เด็กทารก  ในเมื่อเด็กไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของผู้ใหญ่ เรื่องนี้คือการปัญหาการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว และละเมิดสิทธิเด็กอย่างชัดเจน 

ขนทัพพระนเรศวร สอนประวัติศาสตร์ไทยฉบับ ‘กอ.รมน’

กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง ขนทัพนักแสดงภาพยนตร์เรื่องพระนเรศวร นำโดย พ.อ.วันชนะ สวัสดี หรือ ‘ผู้พันเบิร์ด’ รองโฆษกกระทรวงกลาโหม และจิตอาสา 904 กระจายกำลังตามโรงเรียนในพื้นที่ 7 จังหวัด

ผ่านแนวคิดการสอนหลักสูตรประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ในโลกทศวรรษที่ 21 ของ ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สถาบันอาชีวะ เพื่อขับเคลื่อนการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ในโรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ในเชิงสร้างสรรค์แบบบูรณาการ

เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รู้ที่มาและรากเหง้าทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น โดยเปิดกว้างให้เรียนรู้สิ่งใหม่ สามารถคิดวิเคราะห์บทเรียนในอดีต โดยไม่เป็นการเรียนแบบท่องจำ และมองว่าเรียนประวัติศาสตร์ต้องรอบรู้ 360 องศา เพื่อให้เยาวชนซึมซับและฝังในจิตวิญญาณของเด็กได้

“การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในปัจจุบันต้องไม่เป็นการเรียนแบบท่องจำ แต่ต้องส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ เพื่อทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่าง ๆ ให้ความสำคัญทั้งประวัติศาสตร์ชาติและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อให้เด็กและเยาวชน ได้รู้ที่มา รากเหง้า และตัวตนของเรา” ตรีนุช กล่าวถึงวัตถุประสงค์

รมว.ศึกษาธิการ เน้นย้ำว่าครูผู้สอนต้องเปิดแนวคิดใหม่ ให้ผู้เรียนพัฒนาสอนที่หลากหลายให้นักเรียนได้รับความรู้ ความเข้าใจ ประวัติศาสตร์ชาติและท้องถิ่น สามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ เข้าใจบทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อต่อยอดความสำเร็จ และลดข้อผิดพลาดในอนาคต

ด้านผู้รับบท ‘ผู้พันเบิร์ด’ ในฐานะสมเด็จพระนเรศวร เห็นว่าโมเดลนี้คือการเสริมการสอนแบบบูรณาการใหม่ เพื่อให้เยาวชนไทยมีความคิดหลากหลายมิติ โดยไม่มีการยัดเยียดอุดมการณ์รักชาติ ให้รู้จักคิดเรียนรู้โดยไม่มีการครอบงำ และให้ถกเถียงกันเพื่อให้ได้คำตอบ เปิดกว้างให้รู้ข้อมูลเชิงลึก โดยไม่มีการห้ามถ่ายคลิปในชั่วโมงการเรียน

“มีนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ ที่จะมาช่วยนำเสนอและมาให้แนวความคิด ไม่ได้สอนว่าต้องรักชาติ หรือต้องรู้จักบุญคุณของประเทศชาติ ไม่ใช่การล้างสมอง ยัดเยียดข้อมูล แต่เป็นการสร้างองค์ความรู้และสร้างวิธีสื่อการเรียนการสอนแบบบูรณาการใหม่ ให้เด็กรู้จักคิด กลั่นกรองในเรื่องที่รับข้อมูลมา ตลอดจนถึงการแนะนำในเรื่องกิจกรรมที่ครูจะต้องนำไปใช้ด้วย เรียนวิชาประวัติศาสตร์กับผมไม่มีการครอบงำ ให้คิดเอง วิเคราะห์ตามเหตุผล”

แม้ว่าจะเป็นการร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคงอย่าง กอ.รมน. แต่ผู้พันเบิร์ดยืนยันว่า หากเกิดกรณีเด็กชู 3 นิ้ว หรือมีกลุ่มนักเรียนเลว ต้องมีการนั่งคุยกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกว่ามาจากอุดมการณ์แบบใด

อ้างอิง

  1. พวงทอง ภวัครพันธุ์. (2562). กิจการพลเรือนของทหารในยุคประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง:พัฒนาการและความชอบธรรม. วารสารสังคมศาสตร์. มหาวิทยาลัยนเรศวร. 15(1). 217-247
  2. “ถังแดง”บทเรียนจากความตาย จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง”
  3. กอ.รมน.ยุคใหม่ใหญ่กว่าเดิม: หูตา-แขนขากองทัพ แทรกซึมทุกสมัย กระจายทุกพื้นที่
  4. โครงการ ‘บทเพลงเพื่อชาติและราชบัลลังก์’ งบ 20 ล้าน พบผู้ชนะ เสนอต่ำกว่าราคากลางเพียง 5 พันบาท
  5. ‘ประยุทธ์’ มอบรางวัล ‘บทเพลงเพื่อชาติและราชบัลลังก์’ – ‘เท่าพิภพ’ วิจารณ์ กอ.รมน. ผลาญงบ 20 ล้าน
  6. สั่งตั้งคณะทำงานหาช่องเอาผิดบิดเบือนประวัติศาสตร์-โยงการเมือง
  7. ‘ตร.-ทหาร’ บันนังสตา​ยึดบอร์ดเกม Patani​ Colonial​ Territory​ อ้างอาจ​ผิดกฎหมาย​ จึงขอตรวจสอบ
  8. กอ.รมน. แจงกรณีตรวจ DNA เด็ก 5 เดือน หวังจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงไม่ผิดตัว
ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More