พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

'ชวน' ลุ้นรัฐสภาถก พ.ร.ก.ยื้อบังคับใช้อุ้มหาย 'เพื่อไทย' ย้ำฝ่ายค้านผนึกกำลังต้านแน่

ประธานสภาฯ ยังไม่นัดเคาะวันประชุมเพิ่ม ถก พ.ร.ก.เลื่อนกฎหมายอุ้มหาย ลุ้นได้ประชุมนัดสุดท้าย 28 ก.พ. ก่อนหมดสมัย ‘จุลพันธ์’ เกรงไม่ทัน ส.ว.ปิดสภา กฎหมายส่อเลื่อนยาวจนหลังเลือกตั้ง ย้ำสภาฯ ต้องรับผิดชอบเพราะยังไม่หมดสมัย

วันที่ 24 ก.พ. สืบเนื่องจากในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวาน (23 ก.พ.) สำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อให้รัฐสภาพิจารณา โดยที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า สภาฯ ยังไม่หมดสมัยประชุม จึงต้องนัดวันประชุมเพิ่มเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ภายใน 28 ก.พ. ซึ่งเป็นวันหมดสมัยประชุม

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดวันนี้ (24 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปฝ่ายค้าน ซึ่งเผยว่า ประธานสภาฯ แจ้งในที่ประชุมว่าจะมีการหารือวิป 3 ฝ่าย เพื่อกำหนดวันประชุม แต่ยังไม่มีการนัดหมายแต่อย่างใด โดยเมื่อวาน ส.ส.ทั้งวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ได้หารือกันเองนอกรอบว่า ได้ข้อสรุปว่าพร้อมประชุมเพิ่มทั้งวันที่ 27 ก.พ. ช่วงเช้า หรือ 28 ก.พ. ช่วงบ่าย 

ทั้งนี้ จุลพันธ์ ยังระบุว่า ประธานสภาฯ อาจนัดประชุมวิป 3 ฝ่ายดังกล่าวในวันที่ 28 ก.พ. แต่มีข้อบังคับว่าการประชุมสภาฯ ต้องนัดหมายล่วงหน้าก่อน 3 วัน ซึ่งหากประชุมนัดหมายกันเมื่อวาน ก็อาจออกระเบียบวาระนัดประชุมเพิ่มวันที่ 27 ก.พ. ได้ทัน แต่ในเมื่อไม่ได้นัด ก็จะเหลือเพียงวันที่ 28 ก.พ. เท่านั้นที่จะนัดประชุมเพิ่มได้

“สุญญากาศของการบังคับใช้กฎหมาย จะเป็นปัญหา เพราะตอนนี้อยู่ในสมัยประชุมของสภาฯ สภาฯ ต้องพิจารณาให้เสร็จ พรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ ฟังจากการอภิปรายในสภา ก็เห็นว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลหลายคนก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน เริ่มมีการล่ารายชื่ออยู่” จุลพันธ์ กล่าว

จุลพันธ์ ยังกล่าวว่า ปัญหาอีกประการคือ เท่าที่ทราบ ทาง ส.ว. จะได้อ่านพระบรมราชโองการปิดสมัยประชุมของวุฒิสภาไปแล้วในวันที่ 28 ก.พ. โดยหากสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา พ.ร.ก.แล้วเสร็จ ก็จะต้องเข้าวุฒิสภา แต่ถ้าวุฒิสภาปิดสมัยประชุมไปแล้ว ก็จำเป็นต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญ โดยหากทั้ง 2 สภาไม่เห็นชอบกับ พ.ร.ก. ก็เป็นอันตกไป

“เรื่องพวกนี้นักการเมืองเราเห็นถึงปัญหาในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ระหว่าง พ.ร.ก.บังคับใช้ ถ้าช่วงนี้มีเหตุใครโดนอุ้มไป หรือซ้อมทรมาน พวกเราก็ปัดความรับผิดชอบยาก เพราะเราไม่พิจารณาให้เสร็จ และปล่อยให้รัฐบาลประกาศให้งดเว้นการใช้กฎหมายได้ ตอนนี้ถึงมือเราก็จำเป็นต้องทำ”

ทั้งนี้ จุลพันธ์ ระบุว่า อีกช่องทางคือ ส.ส.สามารถรวมรายชื่อส่งประธานสภาฯ เพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก.ดังกล่าว ซึ่งประธานสภาฯ ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน หลังยื่นรายชื่อ แต่สมาชิกยังไม่ได้พิจารณาช่องทางนี้ และหากทั้ง 2 สภาฯ ไม่ได้พิจารณา พ.ร.ก.ดังกล่าว หรือพิจารณาไม่ทัน ด้วยเหตุใดก็ตาม พ.ร.ก.ก็ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป และต้องรอให้สภาฯ ชุดถัดไปเข้ามาพิจารณาหลังเลือกตั้ง

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่


This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More