พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

ผลสอบ กสม.ชี้ ทส.-กรมอุทยานฯ-หน่วยงานรัฐ ละเมิดสิทธิฯ ร้ายแรงต่อชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

ผลสอบ กสม.ชี้ ทส.-กรมอุทยานฯ-หน่วยงานรัฐ ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงต่อชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ระบุพบหลักฐาน-พยานชัด ชาวบ้านเป็นคนดั้งเดิมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ จี้เร่งเยียวยา-สำรวจพื้นที่ให้คนที่สมัครใจกลับป่าใหญ่ได้คืนถิ่น

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 รายงานข่าวจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม.ได้ ส่งข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณารายงานผลการตรวจสอบ

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับผลการตรวจสอบของ กสม. มีเนื้อหาโดยสรุปว่า 1.สิทธิชุมชนในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ได้รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ได้ให้การรับรองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ดังนั้นรัฐจึงจะบังคับใช้ พรบ.อุทยานแห่งชาติ 2562 มาจำกัดสิทธิพื้นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรามนูญไม่ได้ 

ในรายงานของ กสม.ระบุว่า เมื่อพิจารณาการดำเนินการและมาตรการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมกรณีชาวกะเหรี่ยงบางกลอยนั้น พบว่าตั้งแต่ปี 2539 ที่ชาวบ้านถูกผลักดันจากบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เป็นการดำเนินการโดยมีการเสนอเงื่อนไขให้กับชาวบ้านที่ถูกอพยพ แต่ชาวบ้านบางกลอยไม่เคยสละสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดินเดิมบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ซึ่งมีหลักฐานด้านประวัติศาสตร์ชุมชน บันทึกเอกสารราชการ พยานหลักฐานจากการตรวจสอบและคำวินิจฉัยของ กสม. รวมถึงคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่ากะเหรี่ยงบางกลอยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินมาเป็นระยะเวลายาวนานก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อปี 2524 โดยใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นที่ตั้งบ้านเรือน พื้นที่ทำกินและพื้นที่ทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน มีวิถีการดำรงชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมมาเป็นเวลานาน ย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐ

ในรายงานระบุว่า เมื่อมีการบังคับใช้ พรบ.อุทยานแห่งชาติ 2562 ซึ่ง มาตรา 64 และ 65 บัญญัติให้กรมอุทยานฯ ต้องสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกิน รวมทั้งสำรวจข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกั[ประเภทและชนิดของธรรมชาติที่สามารถเกิดทดแทนได้ แต่ในช่วงที่ผ่านมา การสำรวจทำเฉพาะในพื้นที่บ้านบางกลอยล่าง และการช่วยเหลือต่างๆ ของหน่วยงานรัฐกลับดำเนินการไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตกะเหรี่ยงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาชวบ้านที่ถูกอพยพได้จนถึงปัจจุบัน

ในรายงานระบุว่า จากข้อจำกัดด้านกฎหมายและมาตรการต่างๆ ส่งผลให้ชาวบ้านบางกลอยไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่บางกลอยล่างที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันได้ อาทิ การหาของป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติเพื่อยังชีพ จนนำไปสู่การที่ชาวกะเหรี่ยงบางส่วนพยายามกลับขึ้นไปอาศัยและทำกินในพื้นที่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน จนกระทั่งถูกดำเนินคดี ดังนั้นจึงเห็นว่า การดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมา มิได้ดำเนินการให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยซึ่งถือว่าเป็นชุมชนดั้งเดิมได้เข้าถึงสิทธิชุมชนตามหลักรัฐธรรมนูญ หลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่ให้การรับรองไว้ ถือว่าเป็นการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

ในรายงานยังได้ระบุถึงกรณีทีมีการจับกุมและดำเนินคดีกับชาวบ้านบางกลอยที่กลับขึ้นไปอยู่ทีป่าใหญ่ใจแผ่นดินเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 ว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ในเหตุการณ์จับกุมและควบคุมตัวชาวบ้านบางกลอยครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ได้จับกุมและควบคุมตัวชาวกะเหรี่ยงชุดแรก 22 คน ต่อมาได้นำตัวไปที่ทำการอุทยานฯ เพื่อเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมโดยใช้การถอนเส้นผม เจาะเลือด และใช้สำลีถูกบริเวณกระพุ้งแก้ม โดยแจ้งชาวบ้านว่าเป็นการตรวจโรค อีกทั้งการดำเนินการในขั้นตอนนี้ไม่มีล่ามแปล ทำให้ชาวกะเหรี่ยงเกือบทั้งหมดซึ่งสื่อสารภาษาไทยไม่ได้หรือได้เพียงเล็กน้อย ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ จากนั้นได้นำชาวบ้านไปสอบสวนเป็นรายคนโดยมีล่ามแปลเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพียง 1 คน และมีทนายความชาย 1 คน หญิง 1 คน ที่เจ้าหน้าที่เชิญมาร่วมรับฟังการสอบปากคำ ซึ่งชาวบ้านให้การสอดคล้องกันว่า ทั้งล่ามและทนายความมิได้ให้ความช่วยเหลือหรือคำแนะนำใดๆ ตลอดการสอบสวน และไม่ได้มีการอธิบายก่อนพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำให้ชาวบ้านมาทราบภายหลังว่าบันทึกการสอบสวนนั้นระบุว่าชาวบ้านให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเพชรบุรี กระทั่งได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องมีหลักประกันโดยคำสั่งศาล

“ข้อเท็จจริงนี้ชี้ให้เห็นว่า ทั้งขั้นตอนการจัดเก็บสารพันธุกรรมและการสอบสวน เจ้าหน้าที่มิได้ดำเน้นการเป็นไปตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา หลักการตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ล่าม 1 คนที่จัดให้ยังเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งเห็นหน่วยงานคู่กรณีกับชาวบ้าน ย่อมไม่อาจรับประกันความเป็นกลางในการทำหน้าที่ได้อย่างโปร่งใส จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเห็นว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจับกุม และการดำเนินคดีกับชาวบ้านบางกลอยเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มชาวบ้านบางกลอย” ในรายงานของ กสม.ระบุ

ในรายงานระบุว่า กสม.จึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อคณะรัฐมนตรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี ดังนี้ 1.ให้ ทส.โดยกรมอุทยานฯ เร่งรัดสำรวจพื้นที่อยู่อาศัยและทำกิน รวมถึงสำรวจข้อมูลพื้นฐาน ตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ มาตรา 64 และ 65 โดยให้สำรวจความประสงค์ของชาวบ้านบางกลอยเกี่ยวกับการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินตามวิถีชีวิตดั้งเดิมในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เพื่อเป็นการเยียวยาชาวบ้านที่เคยถูกอพยพโยกย้ายถิ่นฐานและประสงค์จะกลับไปอยู่อาศัยและทำกินพื้นที่ดั้งเดิม นอกจากนี้ให้ ทส.โดยกรมอุทยานฯ เร่งรัดพิจารณากฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ ให้แล้วเสร็จโดยเร็วโดยพิจารณาประกอบกรณีที่ กสม.เสนอแนะเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2561

ในรายงานยังได้ระบุข้อเสนอของ กสม.อีกว่า ให้ ทส.โดยกรมอุทยานฯ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจับกุมและควบคุมตัวชาวบ้านในเหตุการณ์วันที่ 5 มีนาคม 2564 โดยเฉพาะการออกหมายจับ การควบคุมตัว การแจ้งสิทธิ รวมถึงการติดต่อญาติหรือผู้เสียหายที่ไว้วางใจ การจัดเตรียมทนายความและล่าม ว่ามีการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยงข้องหรือไม่ อย่างไร

“ขอให้ ครม.เร่งรัดพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ…. และจัดตั้งกลไกที่เป็นรูปธรรมเพื่อผลักดันพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมหรือเขตวัฒนธรรมพิเศษตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 และเนื่องจากอุทยานแห่งชาติป่าแก่งกระจาน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในกลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นหนึ่งในประเด็นที่ยูเนสโกให้ความสำคัญ ครม.จึงควรบูรณาการแก้ไขปัญหา”

ในรายงานระบุด้วยว่า กสม.ยังได้เสนอไปยังอัยการสูงสุดและอัยการจังหวัดเพชรบุรี ควรพิจารณาใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องในคดีอาญาที่ชาวบ้านบางกลอยถูกดำเนินคดี หากเห็นว่าการฟ้องคดีจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ

“อาศัยเหตุผลข้างต้น กสม.จึงมีมติว่า ประเด็นสิทธิชุมชนและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของกลุ่มชาวบ้านบางกลอย และประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกรณีจับกุมชาวบ้านและดำเนินคดี มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนประเด็นการดำเนินการเกี่ยวกับสิทธิในมาตรฐานการครองชีพและสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขจากรัฐ ยังไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวบ้านบางกลอย” รายงานของ กสม.ระบุ

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More