พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

ครป. ห่วง กกต.เอียงข้าง เตรียมร่วมมือภาคประชาชนตรวจสอบการเลือกตั้ง

ครป. ห่วง กกต.เอียงข้าง เตรียมร่วมมือภาคประชาชนตรวจสอบการเลือกตั้ง และเรียกร้องสัญญาประชาคมพรรคการเมือง

วันที่ 2 มีนาคม 66 เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ขณะนี้มีกระแสออกมาว่าอาจจะไม่มีการเลือกตั้ง มีทฤษฎีสมคบคิดออกมา ขอบอกว่ามีการเลือกตั้งแน่นอน อย่าคิดไปไกล เพราะการเลือกตั้งเป็นแค่กลไกของระบอบการปกครอง เป็นกลไกตามห้วงเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ระบอบประยุทธ์ออกแบบไว้สืบทอดอำนาจเอง ดังนั้น กำหนดการและเวลาการเลือกตั้งจะต้องเป็นไปตามกลไกรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว จะยุบสภาหรืออยู่ครบวาระ

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ กกต.จะจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ โปร่งใส เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตยได้อย่างไร โดยไม่เอียงข้างฝ่ายอำนาจนิยม เพราะมีเรื่องที่ กกต. จะไม่รายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์โดยอ้างต้องผ่านการตรวจสอบก่อน แต่ถูกตั้งคำถามเยอะมากจึงประกาศจะรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการผ่านทางระบบ ECT Report แต่ไม่รายงานผ่านแอพลิเคชั่นเหมือนครั้งก่อนทั้งๆ ที่ประมูลจัดจ้างออกแบบทำไว้แล้ว แต่เรื่องนี้ภาคประชาชนจะทำงานคู่ขนานโดยรายงานผลประจำหน่วยต่อสาธารณะไปด้วย เพื่อให้ตรงกันและไม่ให้เกิดการโกงการเลือกตั้งหรือรวมคะแนนผิด และขอให้ภาคประชาชนร่วมกันเป็นอาสาสมัครและนักข่าวพลเมือง รายงานผลการเลือกตั้งต่อสาธารณะร่วมกันทั่วประเทศ 

เนื่องจากในยุคนี้ องค์กรอิสระที่ออกแบบมาตามรัฐธรรมนูญ 40 ถือว่าอ่อนแอลงมากที่สุด และบางส่วนอิงแอบอำนาจรัฐ เพราะรัฐธรรมนูญ 60 ไม่ได้มาจากเจตนารมณ์สมบูรณ์ของประชาชน เพราะมีการบังคับประชามติโดยไม่มีทางเลือก และออกแบบให้องค์กรอิสระอยู่ภายใต้อำนาจและอาณัติของรัฐบาล องค์กรอิสระทั้ง 5 องค์กร คัดเลือกโดยคนของ คสช. และที่ประชุมวุฒิสภา ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนหรือผ่านสภาผู้แทนราษฎร 

ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าเป็นห่วง มีเรื่องการนับรวมคนไทยที่ไม่มีสัญชาติและการแบ่งเขตเลือกตั้งที่รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งอาจเกิดการเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายรัฐบาลผู้มีอำนาจ มีเรื่องการหาเสียงที่ทำผิดรัฐธรรมนูญและกติกากันเอง โดยเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลในขณะนี้ มีเรื่องการชงให้ยุบพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะจริงๆ พรรคการเมืองต้องถูกยุบยาก และจริงๆ ไม่ควรบังคับ ส.ส.สังกัดพรรคด้วยซ้ำ เพราะเป็นการรอนสิทธิ์ทางการเมืองตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นก็คือ หลังผลการเลือกตั้งออกมา จะมีการออกแบบพรรคร่วมรัฐบาล โดยให้ ส.ว.เป็นฐานในการจัดตั้งรัฐบาลและโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ผ่านกติกาตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรมเหมือนการเลือกตั้งในปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเลือกใช้วิธีนี้หากได้เสียง ส.ส.เกิน 25 เสียง น่าเสียดายที่มีการเรียกร้องให้มีการลงประชามติตัดอำนาจ สว.เลือกนายกฯ ไม่ทันเพราะวุฒิสภาโหวตคว่ำผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องการให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการใดๆ จนถูกตั้งคำถามว่า ส.ว.มีไว้ทำไม เป็นกาฝากประชาธิปไตยหรือเปล่า

แต่พรรคการเมืองต่างๆ จะพิทักษ์หลักการประชาธิปไตยในเรื่องนี้ได้อย่างไร จะต้องมีการร่วมกันให้สัตยาบันกับประชาชน โดย ครป.และเครือข่าย 30 องค์กรประชาธิปไตย จะรณรงค์เรื่องนี้ในช่วงเลือกตั้ง และจัดเวทีสัญญาประชาคมพรรคการเมืองในเรื่องต่างๆ เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยร่วมกัน และหวังว่าครั้งนี้ “ฝ่ายอำนาจนิยมจะพ่ายแพ้ต่อฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม” ดังที่ พล.อ.ประวิตร กล่าวไว้

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่


This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More