พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

กรมอุตุฯ เผยปีนี้ 'ร้อนแรง' กว่าปีก่อน ระบุ 4 จังหวัดอุณหภูมิพุ่ง 43 องศา

บอกลาฤดูหนาว อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เผย ปีนี้อากาศจะร้อนกว่าปีก่อน อุณหภูมิเฉลี่ย 35.5 องศา พบ 4 จังหวัดร้อนพุ่ง 43 องศา กทม. เฉลี่ย 38-39 องศา เตือนช่วง เม.ย. อาจเกิดพายุฤดูร้อน

6 มี.ค. 2566 ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ในวันที่ 5 มี.ค. 2566 ประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูหนาวและเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ตามเกณฑ์พิจารณาการเข้าสู่ฤดูร้อน 2 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.ลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนเปลี่ยนจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้ 2.พื้นที่ประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิวัดได้ตั้งแต่ 35 องศาเซลเซียสขึ้นไป จากนั้นจะสิ้นสุดฤดูร้อนในช่วงกลางเดือน พ.ค. 2566 ดังนั้นปีนี้คาดว่ามีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.5 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว

โดยมี 4 จังหวัดที่คาดว่าอุณหภูมิจะสูงที่สุด 40-43 องศาเซลเซียส ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย ตาก ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 38-39 องศเซลซียส

นอกจากนี้ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยังกล่าวต่อว่า จากคาดหมายลักษณะอากาศ บริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงตั้งแต่เริ่มต้นฤดูร้อนไปจนถึงกลางเดือนมี.ค. 2566 จะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวันกับมีหมอกหนา โดยที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า

จากนั้นจนถึงปลายเดือนเม.ย. อากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป รวมทั้งมีอากาศร้อนจัดหมายพื้นที่ อุณหภูมิสูงสุดที่ 40-43 องศาเซลเซียส ในช่วงนี้อาจเกิดพายุฤดูร้อน โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรง รวมทั้งอาจมีลูกเห็บตกในบางแห่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรได้

ส่วนในช่วงปลายเดือนเม.ย. ถึงกลางเดือนพ.ค.จะเป็นช่วยปลายฤดูร้อน ลักษณะอากาศจะเริ่มแปรปรวน โดยยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าวในบางช่วงกับจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับทางด้านภาคใต้ของประเทศไทย ประมาณปลายเดือนมี.ค. ถึงปลายเดือนเม.ย. จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ คลื่นลมทั้งทะเลอันดามันและอ่าวไทยสูง 1-2 เมตร

จนถึงกลางเดือนพ.ค. จะมีฝนตกชุกหนาแน่นเพิ่มขึ้นและต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนตกหนักร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ คลื่นลมในทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ในบางช่วงอาจสูง 2-3 เมตรส่วนทะเลอ่าวไทยยังคงมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

ในช่วงเปลี่ยนฤดู จากปลายฤดูหนาวไปยังต้นฤดูร้อน (ปลาย ก.พ.-กลาง มี.ค.) บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น เนื่องจากมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปะทะกับอากาศประเทศไทยที่เริ่มร้อนขึ้น

ต่อมาในช่วงกลางฤดูร้อน (กลาง มี.ค.-เม.ย.) ความกดอากาศต่ำต่อเนื่องจากความร้อนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน และลมที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทย ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยนี้ก็จะส่งผลให้เกิดพายุฤดูร้อน พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ โดยจะมีผลกระทบกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนในวันแรก ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีผลกระทบในวันถัดไป

ทั้งนี้คาดการณ์ปริมาณฝนในปี 2566 ว่า ปีนี้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนใกล้เคียงค่าปกติ ภาคใต้ปริมาณฝนจะมากกว่าค่าปกติเล็กน้อย อาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงในปลายเดือนมิ.ย. และต้นเดือนก.ค. จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรวางแผนรับมือกักเก็บสำรองน้ำไว้ใช้เพาะปลูก และโปรดติดตามคาดหมายสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More